จับตาแผนเปิดเหมืองทองคำจันทบุรี ประชาชนหวั่นมลพิษเหมืองทำทุเรียนจันท์สิ้นชื่อ

ชาวจันทบุรีรวมตัวค้านนายทุนเหมืองทองขอสำรวจแร่ทองคำที่ อ.แก่งหางแมว หวั่นเปิดช่องทำเหมืองทอง เสี่ยงก่อผลกระทบมลพิษเหมืองแร่รั่วไหล ทำลายทุเรียนจันท์ ปนเปื้อนน้ำใช้ทั่ว EEC ด้านนักวิชาการอิสระชี้ บริษัทเจ้าของคำขออาชญาบัตรเป็นบริษัทลูกคิงส์เกท พร้อมชวนจับตาการออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำ 12 จังหวัดทั่วไทย

จากกรณีที่ประชาชน จ.จันทบุรี พบประกาศขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำโดยบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด เพื่อขอสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่ 14,650 ไร่ บริเวณ ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว แกนนำนักปกป้องสิ่งแวดล้อม เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก ทิวา แตงอ่อน เปิดเผยว่า ประชาชนในพื้นที่รู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อการขอสำรวจแร่ เพราะนอกจากพื้นที่ขอสำรวจแร่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่อุทยานแห่งชาติอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง หากมีการอนุญาตให้สำรวจแร่และเปิดเหมืองแร่ทองคำ อาจเกิดการปนเปื้อนมลพิษจากเหมืองทองสู่แหล่งน้ำกินน้ำใช้ของพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกระทบแหล่งเพาะปลูกทุเรียนส่งออกสำคัญของประเทศ

เหมืองทอง
ชาว จ.จันทบุรี รวมตัวกันในนามกลุ่มจันทบุรีไม่เอาเหมืองทอง เพื่อคัดค้านการสำรวจแร่ทองคำใน อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี //ขอบคุณภาพจาก: จันทบุรีไม่เอาเหมืองทอง

จ.จันทบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ 12 จังหวัด ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ประกาศตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ตามนโยบายของรัฐบาลคสช. พอชาวบ้านรู้ก็ไม่ยอมรับ คัดค้านกันทั่วประเทศ จนกระทั่งเกิดกรณีเหมืองแร่ทองคำอัครา ที่จ.พิจิตร พล.อ.ประยุทธ (นายกรัฐมนตรี) จึงใช้ ม.44 ออกคำสั่งปิดเหมืองทองทั่วประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 แผนเปิดสำรวจแร่ทองคำ 12 จังหวัด จึงถูกพับไป อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้วกลับมีการอนุญาตให้มีการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำอีกครั้ง เปิดทางให้มีการดำเนินการยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำที่ จ.จันทบุรี ครั้งนี้” ทิวา กล่าว

“ชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่เห็นด้วย และจะคัดค้านไม่ให้มีการเข้าสำรวจแร่ในพื้นที่อย่างแน่นอน เพราะพื้นที่ อ.แก่งหางแมว ถือเป็นแหล่งปลูกทุเรียนจันท์ที่มีชื่อเสียง ส่งออกไปยังต่างประเทศ เป็นต้นทุนเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แหล่งน้ำต้นทุนหลักของ EEC ที่กรมชลประทานได้วางโครงการสร้าง 4 อ่างเก็บน้ำใหม่ในพื้นที่ ดังนั้นหากมีการเปิดเหมือง มลพิษจากเหมืองจะทำลายแหล่งปลูกทุเรียนส่งออก และปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำกินน้ำใช้ของทั้ง EEC”

จากรายงานของ ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2562 รายงานว่า สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการที่จะประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ในประเทศไทยสามารถยื่นขออาชญาบัตรพิเศษได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 (ฉบับใหม่) และเป็นไปตามนโยบายทองคำ ในขณะที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า มีผู้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำจำนวน 10 ราย ประมาณ 100 แปลง ในพื้นที่เป้าหมาย 12 จังหวัด ประกอบด้วย เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี และสตูล

เขาเผยว่า ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ 18 หมู่บ้านในพื้นที่ขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ จึงได้รวมตัวกันในนาม กลุ่มจันทบุรีไม่เอาเหมืองทอง และจะรวมตัวกันแสดงพลังคัดค้านการสำรวจแร่ทองคำ พร้อมกับทำประชาพิจารณ์เพื่อรวบรวมความคิดเห็นต่อการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ จ.จันทบุรี ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 9 กันยายนนี้ ตั้งแต่เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป

ด้าน สมลักษณ์ หุตานุวัตร นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า คำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำในพื้นที่ จ.จันทบุรี ของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด เป็นคำขอที่หมดอายุไปแล้ว หากแต่เมื่อมีการประกาศใช้ พรบ.แร่ ฉบับใหม่ จึงมีการยื่นคำขออีกครั้ง โดยเธอชี้ว่า บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทลูกของ คิงส์เกต นายทุนเหมืองทองออสเตรเลีย ซึ่งขณะนี้กำลังมีข้อพิพาทฟ้องร้องกับรัฐบาลไทยจากกรณีคำสั่งปิดเหมืองทองอัคราในชั้นอนุญาโตตุลาการ

สมลักษณ์ ยังได้ชี้ว่า นอกจาก จ.จันทบุรี ยังมีคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำที่กำลังยื่นขออยู่อีกในหลายพื้นที่เช่นที่ จ.นครสวรรค์ หรือ จ.ลพบุรี ซึ่งมีทำเลเหมืองทองอยู่เหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์พอดี ดังนั้นจึงต้องจับตาการออกอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำไว้ให้ดี

เธอยังเตือนว่า รัฐบาลควรพิจารณาให้รอบคอบในประเด็นการให้อนุญาตสำรวจและเปิดเหมืองทอง เพราะถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ประชาชนทั่วประเทศต่างไม่เห็นด้วย การผลักดันให้มีการเปิดสำรวจและทำแร่ทองคำจึงอาจจุดชนวนความไม่พอใจต่อรัฐบาลให้มากขึ้นจนอาจถูกล้มได้

ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี กาญจนา ทัพป้อม ระบุว่า อาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง เป็นคำขอตกค้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 แล้ว แต่เมื่อมีการบังคับใช้พรบ.แร่ พ.ศ.2560 บริษัทจึงต้องยื่นคำขออีกครั้งโดยเพิ่มเติมปรับปรุงรายละเอียด เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมายฉบับใหม่

ช้าง
ช้างป่าในพื้นที่อ.แก่งหางแมว //ขอบคุณภาพจาก: พันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา

กาญจนา ย้ำว่า ขณะนี้การขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น และประชาชนยังสามารถส่งข้อทักท้วงเพื่อประกอบการพิจารณาคำขอมายังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ประกาศ ก่อนที่ทางสำนักงานจะส่งข้อมูลคำขอและข้อทักท้วงประกอบทั้งหมดไปยัง กพร. เพื่อส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการแร่แห่งชาติ ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 10 องค์กรรวมถึง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมในการพิจารณาอนุมัติคำขออาชญาบัตรพิเศษ

“แม้ว่าบริษัทจะได้รับอาชญาบัตรพิเศษ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าพื้นที่สำรวจแร่ได้เลย เพราะบริษัทจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่เสียก่อน หากแปลงสำรวจอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ก็จะต้องผ่านการประชาพิจารณ์โดยท้องถิ่น เพื่อขอเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ก่อนด้วย และแม้จะสำรวจแร่แล้ว บริษัทจะต้องยื่นคำขอประทานบัตร เพื่อขออนุญาตเปิดเหมือง” เธออธิบาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง