
1 กันยายน 2563 รำลึก 30 ปี การจากไปของสืบ นาคะเสถียร
มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร จัดกิจกรรมรำลึกถึงนักอนุรักษ์ผู้วายชนม์ดังเช่นปีที่ผ่านๆ มา โดยธีมปีนี้คือ “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง” จึงได้ปรับรูปแบบกิจกรรมจุดเทียนรำลึกให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยจัดเป็นกิจกรรมรำลึกออนไลน์และออฟไลฟ์
ช่วงเย็นวันนี้ มีการจัดกิจกรรมจุดเทียนและวางดอกไม้ขาว พร้อมส่งข้อความรำลึก ณ ลานหน้าหอศิลปฯ กรุงเทพฯ มีผู้ทยอยเข้าร่วมต่อเนื่อง พร้อมกับการฉายข้อความคำพูดของหัวหน้าสืบฯ บนผนังตึกพร้อมกิจกรรมปฐากถา “30 ปี สืบ นาคะเสถียร ความท้าทายบทบาทใหม่ของงานอนุรักษ์ บนเส้นทางการสูญพันธุ์ครั้งยังใหญ่” โดย ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิ และวงพูดคุยเกี่ยวกับภารกิจนักอนุรักษ์รุ่นใหม่
“เรารู้จักคุณสืบฯ ได้ประมาณ 4-5 ปี ก่อน และไปค้นหาเพิ่มในอินเตอร์เน็ตว่าคนๆ นี้เป็นใคร เกิดอะไรขึ้น รู้สึกคารวะในหัวใจที่ทำเพื่อคนอื่นได้ขนาดนี้ เราเลยติดตามและสนับสนุนมูลนิธิมาโดยตลอด ยิ่งอินมากขึ้นเมื่อได้เห็นความทุ่มเทของผู้พิทักษ์ป่าช่วงที่เกิดกรณีเสือดำขึ้นมา วันนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้มาร่วมงานรำลึก” ผู้เข้าร่วมอายุ 26 คนหนึ่งเผย เธอมาร่วมวางดอกไม้และจุดเทียนกับลูกสาว
“เราทำเรื่องเล็กๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมมาตลอด เช่น เราทำร้านขายของชำ ก็พยายามจะลดพลาสติกและเก็บของที่ใช้ได้สะสมส่งไปรีไซเคิล เริ่มที่ตัวเราก่อนเล็กๆ น้อย”
สืบ นาคะเสถียร คือ นักวิชาการและอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่ทุ่มเททำงานเพื่อการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก เขาเป็นที่จดจำด้วยคำพูด “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” ที่กล่าวเริ่มต้นปราศรัยอภิปรายคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กาญจนบุรี ซึ่งจะทำให้ผืนป่าจมน้ำและกระทบสัตว์ป่าจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 สืบตัดสินใจจบชีวิตตนเอง ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมและจุดประกายความสนใจปกป้องป่าไม้และอนุรักษ์ในไทย
ย้อนชมกิจกรรมออนไลน์ได้ในเพจ “มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร” และชมนิทรรศการ “30 ปี สืบในความทรงจำ ผู้จุดไฟในงานอนุรักษ์” จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และรูปวาดสัตว์ป่าโดย สืบ นาคะเสถียร ตั้งแต่วันนี้ – 6 กันยายน ณ โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร




