กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง เผย ยังคงต้องปักหลักประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลต่อ แม้ว่างบก่อสร้างโครงการไม่ผ่านการพิจารณาคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ เหตุฝ่ายรัฐยังเบี้ยวข้อตกลงร่วม และยังมีความพยายามผลักดันโครงการด้วยทุกวิถีทาง ย้ำ นายกรัฐมนตรีต้องลงนามยุติโครงการเท่านั้น จึงจะสลายการชุมนุม
เข้าสู่วันที่ 2 ของการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันนี้ (1 กันยายน พ.ศ.2563) ชาวบ้านกลุ่มรักษ์โตนสะตอ ซึ่งเดินทางจากพื้นที่ได้รับผลกระทบโครงการ ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ยังคงปักหลักประท้วงบริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อรอให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เซ็นรับทราบยุติโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว แม้ว่ามีฝนตกหนักตลอดคืนที่ผ่านมา อีกทั้งเมื่อเวลา 7.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับหมายเตือนจากตำรวจให้สลายการชุมนุม โดยอ้างความผิดตามพรบ.ชุมนุมฯ

ประธานเครือข่ายกลุ่มรักษ์โตนสะตอ เดชา เหล็มหมาด ประกาศว่า ถึงแม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะรู้สึกยินดีกับมติของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ได้ลงมติไม่เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณสำหรับก่อสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า การตัดงบประมาณโครงการดังกล่าว ยังไม่ใช่วัตถุประสงค์ของชุมชนเหมืองตะกั่ว ที่มีมติชัดเจนว่า ต้องการให้รัฐบาลยุติโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่วอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนเท่านั้น
จากรายงานข่าวโดย ประชาชาติธุรกิจ ที่ประชุม กมธ.งบประมาณฯ ได้พิจารณางบประมาณโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว มีมติเห็นพ้องกับข้อเสนอของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวไกล ให้ตัดงบประมาณสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว เนื่องจากไม่ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ ด้วยมติ 22:21 โดยโครงการดังกล่าว มีการตั้งงบประมาณในกรมชลประทาน ซึ่งเป็นของงบประมาณปี 2564 จำนวน 130 ล้านบาท แต่เป็นงบผูกพันทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2564-2566 จำนวนเงินทั้งสิ้น 650 ล้านบาท
“เจตนารมย์ของเราตอนนี้คือ พวกเราจะสู้จนกว่าจะได้ผลการตอบรับอย่างที่เราต้องการ นั่นคือต้องยกเลิกเขื่อนเหมืองตะกั่ว ที่ผ่านมาเราได้เสนอเหตุและผลที่ชาวบ้านจำเป็นต้องออกมาคัดค้านโครงการให้กับภาครัฐ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปได้รับทราบว่า การริเริ่มผลักดันโครงการนี้เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม มีการปลอมแปลงเอกสาร” เดชา กล่าว
“ข้อมูลดังกล่าวที่เรานำเสนอต่อภาครัฐ สิ่งที่เราเรียกร้องไปยังไม่ได้รับการตอบรับ ไม่ได้รับการพิจารณาอย่างแท้จริง ข้อมูลของเรายังไปไม่ถึงนายกรัฐมนตรี เราต้องการให้ข้อเสนอของเราถึงนายกฯ ประยุทธ โดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีการสั่งการออกมา ถ้านายกฯ เซ็นยุติโครงการเมื่อใด ก็ถือว่าเราบรรลุวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ”
เจกะพันธ์ พรหมมงคล หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ชุมนุม เปิดเผยว่า กลุ่มรักษ์โตนสะตอยังคงยืนยันที่จะปักหลักหน้าธรรมเนียบรัฐบาลต่อถึงแม้จะมีความผิดก็ยินยอมให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย เพราะถึงหากกลับไปวันนี้ ก็ไม่ทราบว่าชุมชนจะปลอดภัยจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่ได้ประโยชน์จากโครงการปองร้ายหรือไม่ และการต่อสู้ที่ผ่านมาอาจสูญเปล่า
อนงค์ กูสัน สมาชิกกลุ่มรักษ์โตนสะตออีกคน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปักหลักหน้าธรรมเนียบรัฐบาลเมื่อวันจันทร์ (31 สิงหาคม) ความเป็นอยู่ของผู้ชุมนุมเป็นไปอย่างไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะแม้ว่าจะมีประชาชนที่สัญจรมาเยี่ยมเยียนและมอบเสื้อกันฝน อาหาร และกำลังใจให้ แต่ในคืนดังกล่าวมีฝนตกอย่างหนักตั้งแต่เช้ามืดจวบจนสว่าง ผู้ชุมนุมต้องนอนตากฝนจนกระทั่งได้เอาแผงกั้นจราจรมาทำเป็นเสาและกางผ้าสแลนกันฝน
“เราสู้เพื่อชาวบ้านปกป้องผืนป่า ธรรมชาติ สายน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เพราะหาที่ไหนไม่ได้แล้วในปัจจุบัน” อนงค์กล่าว
เวลา 14.50 น. อนงค์ กูสัน อธิบายถึงความรู้สึกและความเป็นอยู่ตั้งแต่ชุมนุมมา 7 วัน โดยเคลื่อนมาปักหลักที่หน้าธรรมเนียบเมื่อวานนี้ “เราสู้เพื่อชาวบ้านปกป้องผืนป่า ธรรมชาติ สายน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เพราะหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน” pic.twitter.com/E7mAx2h7GL
— สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (@greennewsagency) September 1, 2020
ในวันเดียวกัน คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีเร่งลงนามตามบันทึกข้อตกลงสี่ฝ่าย และหยุดใช้กฎหมายปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากร อันเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งตำหนิผู้แทนรัฐบาลที่ไม่ดำเนินการตามข้อตกลงตามที่ได้เจรจากับตัวแทนผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ว่าจะนำเสนอข้อมูลและข้อเรียกร้องของชุมชนต่อนายกรัฐมนตรีให้ทราบเพื่อลงนามรับรองให้เกิดผลในทางปฏิบัติ แต่จนถึงปัจจุบันกลับยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (2 กันยายน) กลุ่มผู้สนับสนุนโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่วจำนวน 200 คน จะเดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความสนับสนุนต่อโครงการ และขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดดำเนินการโครงการต่อไป แม้งบประมาณโครงการนี้จะไม่ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ แต่ก็อยากให้พิจารณาให้สนับสนุนงบประมาณในช่องทางอื่น อย่าได้ยุติโครงหรือสั่งชะลอโครงการนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง