‘ไม่เป็นธรรม’ศาลปกครองเผย การต่อประทานบัตรเหมืองแร่หิน EIA ‘ดงมะไฟไม่มีส่วนร่วม’

ศาลปกครองสูงสุดแถลงคดี การต่อประทานบัตรเหมืองแร่หินดงมะไฟชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุชุมชนขาดการมีส่วนร่วมในรายงานEIA ขณะที่ตัวแทนกลุ่มดงมะไฟเดินทางยื่นหนังสือถึง รมว.อุตฯ เร่งให้ปิดเหมืองแร่หินพร้อมแถลงการณ์  ก่อนกลับนำอาหารท้องถิ่นมอบเป็นของฝาก

เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จำนวน 10 คน เดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อร่วมรับฟังศาลปกครองสูงสุดแถลงคดีหมายเลขดำที่ อส. 34/2561 สืบเนื่องปี2555 ชุมชนเคยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อให้เพิกถอนหนังสือเข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนฯ (หมดอายุวันที่ 3 กันยายน 2563) และเพิกถอนต่อประทานบัตรเหมือนแร่หินปูนของบริษัทเอกชน (หมดอายุ 24 กันยายน 2563)

ทว่าเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561  หลังคู่ความยื่นอุธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ทำให้การฟ้องของชุมชนดงมะไฟเรื่องการเพิกถอนหนังสืออนุญาตทำประโยชน์เขตป่าสงวนแห่งชาติไม่ชอบด้วยกฎหมายคดียังไม่ถึงที่สุด อย่างไรก็ตามทางบริษัทมีการทำเหมืองอยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่

ภายถ่ายกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่า-ผาจันไดที่ศาลปกครองสูงสุดที่กรุงเทพฯ // ขอบคุณภาพจาก: เหมืองแร่หนองบัว

การแถลงคดีของตุลาการ กล่าวถึง 2 ประเด็นหลักดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง การที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู อนุญาตให้บริษัทฯ ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเข้าทำประโยชน์นั้น  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ในประเด็นนี้ ตุลาการได้พิจารณาว่าอบต. ได้มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุการเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนหรือไม่ และการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนดังกล่าวเพื่อเข้าใช้ประโยชน์ในการทำเหมือง เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายหรือไม่

ตุลาการกล่าวว่า จากเอกสารการจัดประชุมอบต. เป็นไปตามระเบียบถึงแม้ไม่มีเอกสารแจ้งล่วงหน้า3วัน แต่มีการเข้าประชุมสมาชิกเกือบครบเห็นไม่ตรงกับศาลชั้นต้น ส่วนการอนุญาตทำประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนฯพบว่าเป็นไปตามระเบียบของกรมป่าไม้ และชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่สอง คือ เรื่องการอนุญาตต่อประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

ประเด็นนี้ ตุลาการอ้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 67 วรรค 2 เห็นว่า ในการต่ออายุโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเข้าร่วมให้ความคิดเห็นด้วย 

ตุลาการผู้แถลงคดีกล่าวว่า คำสั่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติให้ต่อประทานบัตร ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  อย่างไรก็ตามรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมEIA ที่บริษัทยื่นต่อประทานบัตรกลับไม่พบว่ารายงานศึกษาอย่างครบถ้วน และแม้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม   แต่กพร.กลับอนุมัติการต่อประทานบัตร ซึ่งขัดกับกฎหมายที่ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม 

ทั้งนี้ คำแถลงนี้ เป็นคำแถลงของของตุลาการนอกองค์คณะ เพื่อเป็นเพียงแนวทางประกอบคำพิพากษา ยังไม่ได้เป็นคำพิพากษาคดีแต่อย่างใด

ทนายคาดหวังEIAต้องสอดคล้องกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อม รัฐต้องสร้างบรรทัดฐานชุมชนมีส่วนร่วม

สุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ทนายความในคดีนี้ กล่าวว่าตนมีความคาดหวังให้เกิดบรรทัดฐานการทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมEIA โครงการที่มีระยะยาว 10-20 ปี หากต่ออายุสถานการณ์ที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ควรต้องจัดทำรายงาน EIA ใหม่ให้สอดคล้อง เพื่อศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน

ทว่ากรณีนี้มีเพียงมติเห็นชอบของอบต. ซึ่งขาดการประชาคมฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ สุรชัยย้ำถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐต้องสร้างให้เป็นบรรทัดฐาน เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิประชาชนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจะไม่ถูกเพิกเฉยโดยรัฐ “ขอให้เหมืองที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนจบในรุ่นเรา” สุรชัยกล่าว 

เวลา 14.00 น. ชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได 10 คน เดินทางต่อเพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ณ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอให้ปิดเหมืองแร่หินและโรงโม่หิน โดยมีสกล จุลาภา รองอธิบดีกรมกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้รับมอบหมายอำนาจจาก รมว.อุตสาหกรรม เป็นตัวแทนมารับหนังสือกับชาวบ้าน

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดอ่านแถลงการณ์พร้อมข้อเรียกร้อง // ขอบคุณภาพจาก: เหมืองแร่หนองบัว

เปี่ยม สุวรรณสนธ์ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ยื่นหนังสือโดยอธิบายถึง การพบความผิดปกติ เขตประทานบัตรของบริษัทเหมืองแร่หินออกนอกเขตประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม ชุมชนสันนิษฐานว่าหลักหมายเขตประทานบัตร หลักที่ 8 ที่วางตำแหน่งอยู่บนถ้ำน้ำลอดที่เป็นแหล่งน้ำซับซึม และแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในพื้นที่ ตรวจสอบพบว่าไม่ตรงกับหมุดใดเลยตามพิกัดในเว็ปไซด์ของ กพร. โดยชุมชนมีหลักฐานด้วยจากการจับพิกัด GPS

กระนั้นชุมชนยังอธิบายถึงการเรียกร้องสิทธิชุมชนตลอด 26 ปีที่ผ่านมา ความไม่ชอบธรรมที่ชุมชนในพื้นที่ไม่เคยได้รับกระบวนการรับฟังความคิด แต่ก็มีการต่ออายุประทานบัตรเกิดขึ้นที่ผ่านมา และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชุมชน ผลกระทบการทำหมืองแร่หิน ฝุ่นละอองจากการระเบิด ก้อนหินตกกระเด็นในพื้นที่ทำเกษตร การวิ่งรถบรรทุกขนส่งหินผ่านชุมชน และการระเบิดที่ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยมีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบตลอดที่ผ่านมา ดังนั้นชุมชนจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้ 

  1. ปิดเหมืองหินและโรงโม่หินถาวร 
  2. ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ 
  3. พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงยนิเวศน์และโบราณคดี และขอให้มีคำสั่งระงับการทำเหมืองแร่ พร้อมทั้งลงมาตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านโดยเร่งด่วน ภายใน 7 วัน

ด้านสกล จุลาภา รองอธิบดีกรมกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า การทำเหมืองแร่นอกเขตประกาศแหล่งแร่นั้นต้องตรวจสอบให้ชัดเจนหมุดเหมืองอาจมีการคลาดเคลื่อน เนื่องจากใช้แผนที่ชุดข้อมูลคนละรุ่น ส่วนกพร. ต้องลงตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าลงตรวจสอบได้เมื่อไร แต่เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุด หากผิดจริงก็สามารถระงับได้ โดยต้องรับฟังข้อมูลทุกด้านก่อน

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า ทางกลุ่มต้องการความชัดเจนว่า     ทางกพร.จะมีอำนาจสั่งปิดเหมืองเลยได้หรือไม่เนื่องจากพบว่ากระบวนการทำเหมืองแร่มีความผิดปกติ โดยก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มก็ได้ร้องเรียนไปยังทางจังหวัดเพื่อให้สั่งระงับการทำเหมืองเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ก็ได้คำตอบว่าไม่สามารถตัดสินใจได้ ต้องให้กพร. ซึ่งมีอำนาจสูงสุดเท่านั้น แต่พอเดินทางมาสอบถามที่  กพร. ก็ไม่ได้รับความชัดเจนในเรื่องนี้แต่อย่างใด

ในตอนท้ายก่อนเดินทางกลับ ชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได มอบเห็ดและหน่อไม้อาหารท้องถิ่นให้กับตัวแทนสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแสดงสัญลักษณ์โดยมีนัยยะสำคัญถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ก่อนที่จะถูกทำลายด้วยการทำเหมืองแร่หิน รวมถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน จึงเรียกร้องให้ทางกพร. สั่งปิดเหมืองโดยเร็วที่สุด