ไทยเตรียมเจอฝนหนักส่งท้ายหน้าฝน เหตุอิทธิพล ‘ลานีญา’ ลุ้นช่วยเติมน้ำเขื่อนก่อนเข้าแล้ง

พยากรณ์อากาศเผย ผลพวงปรากฎการณ์ลานีญา (La Nina) อาจทำให้หลายพื้นที่ทั่วไทยจะมีฝนตกชุกกว่าปกติในช่วงครึ่งท้ายฤดูฝนนี้ ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยันเอาอยู่ ไม่ห่วงน้ำท่วม พร้อมตั้งความหวังฝนหนักท้ายฤดูช่วยเติมน้ำในเขื่อน เหตุอ่างเก็บน้ำหลักทั่วประเทศยังมีน้ำน้อย จนอาจไม่พอใช้แล้งหน้า

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากผลการคาดการณ์ปรากฎการณ์ El Nino Southern Oscillation (ENSO) ล่าสุด โดย สถาบัน International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) มีความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฎการณ์ลานีญาเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ (ระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม) ซึ่งตรงกับช่วงครึ่งท้ายของฤดูฝนในประเทศไทย

ลานีญา
แผนภูมิแสดงผลการคาดการณ์ปรากฎการณ์ El Nino Southern Oscillation (ENSO) บ่งชี้ความน่าจะเป็นที่จะเกิดปรากฎการณ์ลานีญามากขึ้น //ขอบคุณภาพจาก: Witsanu Attavanich

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า จากอิทธิพลของปรากฎการณ์ลานีญา อาจเสริมให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกยิ่งขึ้นในช่วงท้ายฤดูฝน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

“อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (SST anomaly) บ่งชี้ว่าปรากฏการณ์ลานีญาอาจมีระดับความรุนแรงไม่มาก ดังนั้น ผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำรอระบายอาจจะไม่ได้เกิดเป็นวงกว้าง แต่คงต้องจับตาเฝ้าระวังกันต่อไป นอกจากนี้ ฤดูหนาวปีนี้ของไทย เราอาจจะได้สัมผัสอากาศที่น่าจะหนาวเย็นกว่าค่าเฉลี่ยปกติกันนะครับ แต่ตอนนี้มาลุ้นให้ฝนตกเข้าเขื่อนกันมากๆ นะครับ” เขากล่าว

ผลการพยากรณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดหมายลักษณะอากาศของประเทศไทย ช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ได้คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่จะสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 ยกเว้นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะมีปริมาณฝนโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกับค่าปกติ อันเป็นผลจากปรากฎการณ์ลานีญา และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ระบุว่า พายุโซนร้อนกำลังแรง “ฮีโกส” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ซึ่งคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณมณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของประเทศจีน ในวันเดียวกัน จะทำให้ร่องมรสุมกำลังแรงที่พาดผ่านประเทศพม่า ลาว และเวียดนามตอนบน เคลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย ในช่วงวันที่ 20-23 สิงหาคมนี้ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกหนัก ดังนั้นประชาชนในพื้นที่จึงควรเฝ้าระวังภัยจากฝนตกหนักสะสมระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว

จากการพยากรณ์สภาพอากาศที่คาดว่า ช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคมนี้ หลายพื้นที่ทั่วประเทศจะได้รับปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวแสดงความมั่นใจว่า หน่วยงานรัฐจะสามารถรับมือกับปริมาณฝนตกหนักและป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ได้อย่างแน่นอน

“เราได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าช่วงปลายฝนนี้จะมีฝนตกมากกว่าปกติ ดังนั้น สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งการเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ การป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้” สมเกียรติ กล่าว

“นอกจากนี้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังได้ผลักดันโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเร่งด่วน 14 โครงการทั่วประเทศ ดังนั้นแม้ว่าจะมีพายุพัดเข้าสู่ไทยอีกในช่วงครึ่งท้ายของฤดูฝน เราก็มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมอย่างปี 2554 แน่นอน”

ปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกหนักกว่าปกติยังอาจเป็นผลดีต่อระบบการจัดการน้ำของประเทศ เขากล่าว เนื่องจากในขณะนี้ อ่างเก็บน้ำสำคัญหลายแห่งทั่วประเทศยังมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่น้อยมาก แม้ว่าขณะนี้จะย่างเข้าสู่ปลายฤดูฝนแล้ว ดังนั้นหากไม่มีปริมาณฝนมากเพียงพอที่จะเติมอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ก่อนสิ้นฤดูฝน เราอาจมีปริมาณน้ำสำรองไม่เพียงพอสำหรับใช้ตลอดทั้งฤดูแล้ง

อินโฟกราฟฟิค
อินโฟกราฟฟิคแสดงสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา //ออกแบบโดย: สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / พรเทพ จันทร์ยม

โดยจากข้อมูลของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เผยว่า ณ วันที่ 19 สิงหาคม เรามีปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิตติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน, และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) อยู่เพียง 1,858 ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่ค่าประมาณการความต้องการใช้น้ำตลอดช่วงฤดูแล้งหน้าอยู่ที่ 12,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นเราจึงยังต้องกักเก็บน้ำให้ได้อีกกว่า 10,142 ล้าน ลบ.ม. ให้ได้ภายใน 74 วัน ก่อนที่ฤดูฝนจะสิ้นสุดลง มิเช่นนั้นเราอาจต้องเผชิญกับสภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงได้

“ตอนนี้เราก็ได้แต่คอยลุ้นว่าจะมีพายุอีกสัก 1 – 2 ลูก นำฝนให้ตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อน เพื่อให้เรามีปริมาณน้ำต้นทุนพอเพียงไว้ใช้ในฤดูแล้งที่กำลังมาถึง” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง