นครพนมรับมอบใบรับรองแรมซาร์ไซต์ลุ่มน้ำสงคราม ปลุกความหวังอนุรักษ์พันธุ์ปลาแม่น้ำโขง

นครพนมประกาศรับรองพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่างขึ้นเป็นแรมซาร์ไซต์ ย้ำความสำคัญของระบบนิเวศ “ป่าบุ่งป่าทาม” จุดยุทธศาสตร์อนุบาลพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง ท่ามกลางกระแสความกังวลผลกระทบเขื่อนในแม่น้ำโขง และโครงการชลประทานในลุ่มน้ำสงคราม ด้านชาวบ้าน 50 หมู่บ้านผนึกกำลังตั้งสมาคมพิทักษ์ หวั่นแผนสร้างประตูกั้นน้ำแม่น้ำสงครามคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำน้องใหม่

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2563 จ.นครพนมประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar site) อย่างเป็นทางการ ณ โรงแรม I Hotel อ.เมือง จ.นครพนม โดย รังสรรค์ คัมภิรานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้รับมอบใบประกาศนียบัตรรับรองจากทางคณะกรรมการอนุสัญญาแรมซาร์ ส่งมอบโดย ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

WWF
ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ใบประกาศนียบัตรรับรองจากทางคณะกรรมการอนุสัญญาแรมซาร์ ให้กับ จ.นครพนม //ขอบคุณภาพจาก: WWF-Thailand

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงคราม ได้รับการประกาศผลพิจารณาเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ไซต์ นับเป็นลำดับที่ 15 ของไทย และลำดับที่ 2,420 ของโลก โดยเข้าเกณฑ์เป็นแหล่งอาศัยปลาน้ำจืดหลากชนิด และมีระบบนิเวศลักษณะพิเศษ คือ ป่าบุ่งป่าทาม

“การขึ้นเป็นแรมซาร์ไซต์ครั้งนี้น่าสนใจ เพราะแม่น้ำสงครามนับว่าเป็นแม่น้ำแห่งแรกของไทยที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ รวมถึงยังเป็นครั้งแรกที่ขึ้นทะเบียนพื้นที่ ‘ป่าบุ่งป่าทาม’​ ระบบนิเวศที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง 3-4 เดือน อันเป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสาน” ยรยงค์ ศรีเจริญ ผู้จัดการโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (WWF Thailand) อธิบาย

ยรยงค์ กล่าวว่า WWF Thailand ได้เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่ สร้างความตระหนักรู้กับชุมชน และผลักดันให้พื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง มีขนาดพื้นที่ 34,000 ไร่ ระยะทาง 92 กิโลเมตร นับรวมพื้นที่ตั้งแต่ อ.ศรีสงคราม ถึง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสงครามไหลบรรจบกับแม่น้ำโขง

“พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารของคนพื้นที่ ที่สำคัญยังเป็นแหล่งอนุบาลปลาแม่น้ำโขง ที่นี่มีปลาน้ำจืดอย่างน้อย 192 ชนิด เมื่อถึงฤดูวางไข่ ปลาจากโขงจะอพยพขึ้นมาทำรังวางไข่ที่แม่น้ำสงครามและพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ก่อนจะกลับออกไปเจริญเติบโตในแม่น้ำโขง” เขากล่าว

“ด้วยเหตุนี้ แม่น้ำสงครามเป็นเสมือนจุดยุทธศาสตร์สำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารในลำน้ำโขง เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของแม่น้ำ ซึ่งค่อนข้างห่างไกลจากโครงการเขื่อนต่างๆ ที่จะกระทบต่อวงจรชีวิตของปลา อีกทั้งแม่น้ำสงครามตอนล่างยังเป็นระบบนิเวศเดียวในภาคอีสานที่ยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อนหรือประตูระบายน้ำกีดขวางลำน้ำ”

อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ว่าแม่น้ำสงครามยังไร้สิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำอาจเปลี่ยนแปลงในเร็ววันนี้ นันทวัฒน์ ศรีหะมงคล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านแก้วปัดโป่ง อ.ท่าอุเทน หนึ่งในสมาคมพิทักษ์แม่น้ำสงครามตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชนในพื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง 50 ชุมชน เผยว่ารู้สึกกังวลกับข่าวโครงการก่อสร้างประตูกันน้ำแม่น้ำสงคราม

“ผู้ใหญ่ลงมาในพื้นที่บอกว่าจะมีโครงการสร้างประตูน้ำบนแม่น้ำสงครามเพื่อบริหารจัดการน้ำ ถึงพื้นที่ตรงนี้จะขึ้นพื้นที่เป็นแรมซาร์ไซต์แล้ว โครงการก่อสร้างก็ยังทำได้ ถ้าไม่กระทบทางสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้านอนุญาต สิ่งสำคัญคือต้องมาถามชาวบ้านว่าอยากได้ประตูกันน้ำไหม” นันทวัฒน์ กล่าว

แม่น้ำสงคราม
ชาวประมงออกหาปลา บริเวณอ.ท่าอุเทน ซึ่งปากแม่น้ำสงครามบรรจบกับแม่น้ำโขง / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

เขาอธิบายว่า ชุมชนไม่ได้ประสบปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมตามที่ผู้สนับสนุนการก่อสร้างกล่าวอ้าง ที่สำคัญภาวะ “น้ำท่วม” ยังเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำสงคราม แม้จะไม่สามารถทำนาได้ หากเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากกว่าที่สายน้ำมาพร้อมกับปลา เขาตั้งสังเกตว่าการใช้โครงสร้างแข็งบริหารจัดการน้ำไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป

“ตั้งแต่มีเขื่อนจีนในลำน้ำแม่น้ำโขง สถานการณ์น้ำก็เปลี่ยน ปีนี้พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามน้ำไม่ท่วมปีที่ 3 ผมยังจำได้ว่าสมัยเด็กๆ ก็ท่วมทุกปี” เขาเปิดเผย

เขาเผยว่า บางครั้งโครงการ “ประตูกั้นน้ำ” แม่น้ำสงครามก็ถูกผลักดันด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า “เขื่อน” ชมรมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งเป็นอีกกลุ่มประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563 เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน ได้รื้อฟื้นผลักดันให้เกิดการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสงครามอีกครั้ง ภายใต้แผนพัฒนาลุ่มน้ำภาคอีสาน โครงการโขง-เลย-ชี-มูล โดยอ้างว่าเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและป้องกันภัยแล้ง

แถลงการณ์ระบุว่า ขณะนี้กำลังมีการกลับมาศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสงครามอีกครั้ง โดยมีพื้นที่เป้าหมายสร้างเขื่อนในแม่น้ำสงครามอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่ โครงการสร้างเขื่อนบริเวณปากแม่น้ำสงคราม บ้านนาเพียง ต.ไซยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม, โครงการเขื่อนลำน้ำสงครามตอนกลาง ที่บ้านดอนแดง ต.ท่าก้อน อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร, และที่บ้านห้วยทราย ต.โซ่ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ

“แนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำสงครามด้วยการสร้างเขื่อน และการปรับปรุงขุดลำน้ำเป็นระทางหลายร้อยกิโลเมตรทั้งจากลำน้ำสงครามตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างย่อมต้องก่อผลกระทบต่อสิทธิในที่ดิน ต่อการประมง การแพร่กระจายของดินเค็มที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนทำลายระบบการไหลของสายน้ำตามธรรมชาติ สิทธิในที่ดิน และระบบการจัดการน้ำขนาดเล็กโดยชุมชน ชมรมอนุรักษ์สงครามขอเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสงคราม โดยต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของผู้คน และขอเรียกร้องให้หยุดการค้ากำไรให้ได้เงินทอนจากการก่อสร้างเขื่อนที่สร้างความวิบัติฉิบหายให้แก่ชุมชนและระบบนิเวศชุมชนลุ่มน้ำสงคราม” แถลงการณ์ระบุ

ด้าน ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เผยว่าเมื่อพื้นที่ชุ่มน้ำประกาศขึ้นเป็นแรมซาร์ไซต์แล้ว มติคณะรัฐมนตรี 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้กำหนดให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว บรรจุในแผนพัฒนาในพื้นที่ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงเทศบาล ตัวอย่างเช่น ส่งเสริมให้ชุมชนผลิตปุ๋ยหมักเพื่อลดต้นทุนทำการเกษตรและลดการใช้สารเคมี เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแม่น้ำสงคราม ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูคุณภาพของสัตว์น้ำตามลำดับ และสร้างความตระหนักรู้เรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำในหมู่ประชาชน

“ทุ่งวังตอ” ป่าบุ่ง-ทาม ริมพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง แรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 15 ของประเทศไทย และลำดับที่ 2420 ของโลก //ขอบคุณภาพจาก: Yok Thuemor

“ความเข้าใจเรื่องแรมซาร์ไซต์ให้ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการประกาศแรมซาร์ไซต์ไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ห้ามไม่ให้ผู้คนใช้ประโยชน์ ชุมชนสามารถทำมาหากินในพื้นที่แรมซาร์ไซต์ได้ แต่เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างชาญฉลาดและยั่งยืน และหากจะมีโครงการพัฒนาลงในพื้นที่แรมซาร์ไซต์จะต้องไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ หากจะทำ จะต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและหาหนทางรับมือ” ดร.รวีวรรณ กล่าวย้ำ

อนึ่ง แรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ของพันธุ์ปลาและนกน้ำ หรือมีลักษณะพิเศษเฉพาะ ได้รับความคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention)  ปัจจุบัน ประเทศไทยมีทั้งหมด 15 แห่ง พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง นับเป็นแรมซาร์ไซต์ล่าสุด ของประเทศไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง