ชาวสมุยรวมพลังด่วนเก็บขยะจากเรือเฟอร์รี่ล่มกลางทะเล อ.ธรณ์ชี้เป็นเรื่องร้ายแรงและเร่งด่วน กระทบปะการังและสัตว์หายาก ด้านผอ.สำนักทรัพยาการทะเลสุราษฎร์เผย โศกนาฏกรรมนี้เป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง สมุยยังขยะท่วม ต้องขนออกอีกร่วม 300,000 ตัน
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2563 เวลา 9.00 น. หน่วยงานราชการ โรงเรียน จิตอาสาและประชาชนทั่วไป ร่วมเก็บขยะจากเหตุเรือบรรทุกขยะ ราชาเฟอร์รี่ 4 ประสบอุบัติเหตุทำให้ล้มกลางทะเลเมื่อคืนวันที่ 1 สิงหาคม หลังจากเดินทางออกจากท่าเรือสมุยได้ประมาณ 5 ไมล์ทะเลเพราะคลื่นลมแรงกว่าปกติ สำนักข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้ประสบเหตุ 16 คน เสียชีวิต 2 ราย หน่วยซีลได้ลงพื้นที่ค้นหาผู้สูญหายที่เหลืออีก 3 ราย ทว่าล่าสุดยังไม่พบ
นอกจากนั้นแล้ว เหตุดังกล่าวยังทำให้ขยะที่ตั้งใจขนไปกำจัดบนแผ่นดินปริมาณ 90 ตันปนเปื้อนลงทะเล เทศบาลนครเกาะสมุยจึงได้ออกจดหมาย “ด่วนที่สุด” ระดมกำลังเก็บขยะ ณ บริเวณเกาะแตน ทางตอนใต้เกาะสมุย
วิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) อธิบายว่า เรือราชา 4 มีลักษณะเป็นเรือบรรทุกสินค้าโดยขยะจะถูกห่อเป็นแพ็คหุ้มด้วยพลาสติก เรียกว่า “บิ๊กแพ็ค” บรรจุใส่รถเทรลเลอร์ใส่ขยะ 3 คัน (คันละ 30 ตัน) และคลุมด้วยผ้าใบ
“การสำรวจความเสียหายตอนนี้ทำได้ยากเพราะคลื่นลมแรงด้วยเป็นหน้ามรสุม เรายังไม่สามารถระบุได้ว่าขยะกระจัดกระจายอยู่ในทะเลบริเวณไหนบ้าง ตอนนี้เห็นว่าบางส่วนถูกพัดเข้ามาติดที่เกาะแตน ตอนใต้เกาะสมุย ซึ่งจะเก็บได้ง่ายกว่าในทะเล”

เขาเผยว่า เบื้องต้นเทศบาลนครสมุยได้ประสานกับบริษัทขนขยะ “ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งยินดีรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ตามหน้าที่ซึ่งระบุไว้ในสัญญาจ้าง โดยได้ประกาศให้ชาวประมงและชาวบ้านที่พบเห็นขยะ นำส่งขยะก้อนแล้วให้เงินรางวัลก้อนละ 2,000 บาท ส่วนมาตรการระยะยาว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมทรัพยากรชายฝั่งจะตามติดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด
“ขยะที่ขนครั้งนี้เป็นโครงการขนขยะรอบพิเศษ ขนขยะที่ตกค้างบนเกาะสมุยไปฝังกลบที่เทศบาลอำเภอเวียงสะซึ่งมีพื้นที่หลุมไม่ได้ใช้งานจากเหมืองทิ้งร้างเยอะ โครงการนี้วางแผนมานานแล้วเพราะพื้นที่เกาะสมุยรองรับขยะไม่เพียงพอ มีขยะสะสมมาตั้งแต่ปี 60 อีกร่วม 300,000 ตัน ขณะเดียวกันขยะใหม่ก็เกิดขึ้นทุกวัน”
ขยะที่ตกค้างในทะเลนั้นสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทะเล เผยว่าประเทศไทยเคยพบเหตุเรือขนขยะล่มมาก่อน ทว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ “ร้ายแรงที่สุด” เพราะปริมาณเยอะที่สุด อีกทั้งยังปนเปื้อนในบริเวณน้ำตื้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงทำลายปะการังมากกว่าในทะเลเปิด
“ขยะพวกถุงพลาสติกจะไปเกี่ยวปะการัง พอน้ำพัดก็ดึงปะการังหัก หรืออาจไปครอบปะการังตาย ทำให้มันหายใจและรับแสงไม่ได้ ขยะในทะเลยังกระทบกับสัตว์หายากหลายชนิด เพราะพื้นที่เกาะสมุย เป็นพื้นที่วางไข่ของเต่ามะเฟือง นอกจากนี้ยังมีโลมาสีชมพูซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งและโลมาหัวบาก ที่รู้จักกันว่า ‘โลมาอิรวดี’ บริเวณเกาะแตน อาศัยอยู่ในเขตที่ขยะกระจัดการจายนั้นแหละ สัตว์พวกนี้จะกินขยะเข้าไปแล้วตายเหมือนที่เราเห็นข่าวกัน”
เขาเผยว่าการเก็บกู้ขยะเป็นเรื่องท้าทายเพราะเป็นพื้นที่แนวปะการังไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร อีกทั้งขยะยังพัดไปติดที่หาดหินซึ่งไม่ใช่จุดท่องเที่ยวและชุมชน จึงไม่ค่อยมีคนพบเห็นและนักดำน้ำ ทว่าโชคดีที่คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำเคยทิ้งทุ่นตรวจกระแสน้ำและศึกษาทิศทางน้ำไว้ในบริเวณนั้น พบว่ากระแสน้ำจะหมุนวนในบริเวณเกาะแตนอีกหลายวัน ขยะจะลอยในลักษณะเดียวกับทุ่น จึงบอกเส้นทางเคลื่อนที่ของขยะได้
จากผลวิเคราะห์ยังพบว่า นอกจากเกาะแตนและ ชายฝั่งด้านตะวันตกและใต้ของเกาะสมุย ขยะบางส่วนอาจลอยไปที่อุทยานหมู่เกาะอ่างทอง รวมถึงเกาะพะลวยและหมู่เกาะใกล้เคียง ซึ่งมีสภาพน้ำนิ่ง ขยะที่ลอยมามีโอกาสตกลงสู่แนวปะการังและหาดต่างๆ โมเดลยังยืนยันว่าน้ำในบริเวณจะวนไปมาหลายวัน ทำให้ขยะอาจลอยไปมาแถวนี้

เขาแนะว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นเรื่องด่วนที่ต้องรีบวางแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ในระยะสั้นอาจจัดกิจกรรมระดมกำลังเก็บขยะที่หาดแตนช่วงเสาร์อาทิตย์ ระยะยาว ควรตรวจสอบเกณฑ์การขนส่งขยะทางเรือให้รัดกุมขึ้น เช่น ติดตะข่ายคลุมรถไว้ เพื่อกันขยะรั่วไหลเมื่อเกิดเหตุเรือล้มเช่นโศกนาฏกรรมคราวนี้
นอกจากนี้ เขายังเสนอให้มีการคำนวณค่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากการรั่วไหลของขยะทะเลครั้งนี้ เพื่อประเมินผลกระทบจากขยะทะเลเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ และปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงในกรณีที่มีการขนย้ายขยะจากเกาะสู่ฝั่ง
“สิ่งสำคัญคือเราจะได้เรียนรู้จากเหตุครั้งนี้แล้ววางแผนสำหรับการขนขยะทางเรือครั้งต่อๆ ไป การขนขยะไม่ได้มีที่สมุยที่เดียว แต่มีที่เกาะทั่วประเทศไทย”