เตือนรัฐบาลไทย เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจผิดทาง ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรม เสี่ยงทำลายสิ่งแวดล้อม ขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สวนทางกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) นักวิชาการนักสิ่งแวดล้อมประสานเสียงย้ำ หนทางที่ดีที่สุดของเราและโลกในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ หลังวิกฤตการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศ และสร้างความมั่นคงแก่ผู้คนทุกระดับ
ท้องทะเลที่ชายหาดแม่รำพึง จ.ระยอง ยามหน้ามรสุมในเดือนกรกฎาคมเป็นสีเทาเข้ม ประดับด้วยฟองขาวของยอดคลื่นสูงที่กระหน่ำใส่ชายฝั่ง เช่นเดียวกับสีของกลุ่มเมฆฝนครึ้มที่ปกคลุมท้องฟ้าที่กำลังโปรยเม็ดฝนบางๆ ลงมา บนหาดทราย เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กจอดเรียงราย เห็นได้ชัดว่าทะเลระยองฤดูกาลนี้อันตรายเกินกว่าเรือเล็กจะออกจากฝั่ง แต่สภาพเรือผุพัง มีวัชพืชขึ้นปกคลุม กลับบ่งชี้ว่า เรือเหล่านี้ห่างการออกทะเลมาเป็นเวลานานแล้ว

“ทะเลระยองตอนนี้จับปลา ทำประมงไม่ได้มากว่า 6 ปีแล้ว นับตั้งแต่เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วลงอ่าวระยองเมื่อปี พ.ศ.2556 เพราะน้ำมันดิบจำนวนมากยังคงตกค้างปนเปื้อนอยู่ใต้ก้นทะเล ทำให้สัตว์น้ำหนีหายไปจากอ่าวระยองจนหมด ชาวประมงพื้นบ้าน เรือเล็กออกไปจับปลาไกลๆ ไม่ได้เหมือนกับเรือประมงพาณิชย์ เหลือเพียงการเพาะเลี้ยงปูเท่านั้นที่ยังพอทำได้” ‘พี่อ๊อด’ ชาวประมงพื้นบ้าน ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง เปิดเผย
อ๊อด กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ บริษัทผู้รับผิดชอบและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากยังไม่ได้แก้ไขทำความสะอาดตะกอนน้ำมันดิบตกค้างและมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการถมทะเล ก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 อย่างรีบเร่ง ซึ่งอาจก่อมลพิษ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้หนักยิ่งขึ้น จนอาจทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถเพาะเลี้ยงปูทะเลได้อีกต่อไป เป็นการปิดฉากประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง ในที่สุด
“รัฐบาลอ้างว่า การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 เป็นหนึ่งในโปรเจ็คสำคัญของ EEC (โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก: Eastern Economic Corridor) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ หลังการระบาดไวรัส COVID-19 แต่ใครล่ะที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ตัวจริง ในขณะที่ชาวบ้านต้องสูญเสียฐานทรัพยากรชิ้นสุดท้ายที่เป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ไป แถมยังต้องรับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศและน้ำ จากการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอีก” เขาตั้งคำถาม
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านที่ จ.ระยอง จากการเร่งรัดโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่น กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จากการพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่กำลังทวีความร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกในพื้นที่โครงการ EEC – ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา – กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาอย่างยิ่งจากผลกระทบการระบาดไวรัส COVID-19
นอกจากการระบาดไวรัส COVID-19 ถือเป็นวิกฤตด้านสุขภาพที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในรอบศตวรรษ หลังจากประชาคมโลกค้นพบโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่มีต้นตอจากตลาดค้าสัตว์ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไวรัส COVID-19 ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนทำให้ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกว่า 18.2 ล้านคน และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 692,000 คน ทั่วโลก
วิกฤตการระบาดไวรัส COVID-19 ยังสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างร้ายแรง จากผลพวงของมาตรการงดการเดินทาง ปิดประเทศ และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส ที่ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและการขนส่งต้องชะงักงัน
ประเทศไทยเองก็ได้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการระบาดไวรัส COVID-19 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2563 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลพวงการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไทยรวมกว่า 2.1 ล้านล้านบาท เป็นผลให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลงเหลือ -9.4% จากการประมาณการเดิมที่ -4.9% ถึง -3.4% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีทีท่าว่าจะยิ่งถดถอยอย่างหนักในปีนี้ การดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จึงเป็นความหวังหลักของรัฐบาลในการพลิกให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง ดังที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในรายงานพิเศษ กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2563 แสดงความมั่นใจว่า การเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีทำให้ไทยมีจุดแข็งดีมากในการเป็นฐานรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมจากต่างชาติ และอาจทำให้ภาคการลงทุนจะฟื้นกลับมาตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3 แสนล้านบาท ภายใน 3 ปี หรือสูงกว่า
กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC Watch) กล่าวว่า ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมเยอะอยู่แล้ว และมีบทเรียนผลกระทบจากปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรและมลพิษอุตสาหกรรม จากการพัฒนาอุตสาหกรรมในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อปี พ.ศ.2525 ดังนั้นการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นอีก ภายใต้โครงการ EEC เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตการระบาดไวรัส COVID-19 จึงไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมและยั่งยืน
“แม้ว่าภาคตะวันออกจะมีพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมอยู่มาก แต่พื้นที่ภาคตะวันออกก็ยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่หลากหลายทั้งจาก ภาคเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้ภูมิภาคนี้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังเกตได้จากช่วงการระบาดไวรัส COVID-19 เมื่อต้นปีนี้ หลายๆ โรงงานในภาคตะวันออกได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก จนต้องเลิกจ้างพนักงาน เช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมที่ลูกค้าหายไปจนเกือบหมด แต่ว่าวิถีชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นกลับไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะในช่วงล็อคดาวน์ พบว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากภาคตะวันออกยังขายได้ดีมาก เรายังพบว่าแรงงานโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกเลิกจ้างหลายคนยังหันมาทำประมงเพื่อประทังชีพ” กัญจน์ กล่าว
“การพัฒนาเศรษฐกิจที่เหมาะสมจึงควรดำเนินควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้นเราจึงมุ่งส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เช่น การปลูกพืชสมุนไพร การทำเกษตรปลอดสารพิษ หรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับทั้งชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม”
เขายังกล่าวเสริมว่า รากฐานจากการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ภาคตะวันออกรอดพ้นจากผลกระทบการระบาดไวรัส COVID-19 ยังเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากภาควิชาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่แนะนำว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัยของโลก ดังนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน (Good Agricultural Practice: GAP) ซึ่งเน้นการเพาะปลูกพืชหลากหลาย และไม่ใช้สารเคมี จึงเป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจหลังวิกฤต COVID-19 ที่เหมาะสม เพราะผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยกำลังเป็นที่ต้องการ และสามารถขายได้ราคาสูงในตลาดโลก
“ความปลอดภัยของอาหารจะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานอาหารควรให้ความสำคัญมากขึ้น และภาครัฐควรเร่งหาแนวทางส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัย โดยการออกมาตรการจูงใจและให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับเกษตรกร รวมถึงเร่งสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของอาหารที่ปลอดภัยเพื่อให้ผู้บริโภคมีความเต็มใจจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมากขึ้น” ผศ.ดร.วิษณุ กล่าว

รายงานพิเศษชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนสำนักข่าวขนาดย่อยในเอเชีย Splice Lights On สนับสนุนโดย Splice Media
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ขยะติดเชื้อ… แผลใหม่จากอุบัติโรคระบาด หรือแค่เปิดแผลเก่า?
- พิษโควิดทำพลาสติกระบาด: เรื่องสุขภาพที่เราลืมป้องกัน
- บางปะกงบนทางสองแพร่ง: เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่เป็นมิตรกับความมั่นคงทางอาหาร