นักวิชาการ เตือน ปรากฎการณ์ “ลานีญา” แผลงฤทธิ์ฝนตกหนัก ภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑลเสี่ยงน้ำท่วมเนื่องจากปริมาณฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ยในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ผู้ว่าฯ อัศวิน เผย ทำการขุดลอกคูคลองและท่อระบายตั้งแต่ต้นปี พร้อมรับมือน้ำท่วมขังหน้าฝนปีนี้
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตือน ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ประชาชนพื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี ควรเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วม เนื่องจากปรากฎการณ์ “ลานีญา” ที่เพิ่มกำลัง

ภาวะ ลานีญา (La Nina) คือ ภาวะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีค่าต่ำกว่าปกติ เนื่องจากลมค้าตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมที่ฝั่งตะวันตกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการก่อตัวของเมฆและฝนบริเวณด้านตะวันตกของแปซิฟิกเขตร้อน ทำให้บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะมีฝนตกหนักและน้ำท่วม
โดยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ทั้ง International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา และ APEC Climate Center ต่างพยากรณ์ตรงกันว่า ปริมาณฝนจะตกสูงกว่าค่าเฉลี่ยในเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ และจะกินเวลาไปจนถึงเดือนตุลาคม โดยมีเพียงภาคเหนือตอนบนสุดเท่านั้นที่จะมีฝนมากกว่าปกติในเดือนกันยายน อย่างไรก็ดี ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกอาจเสี่ยงได้รับฝนมากเป็นพิเศษในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน
นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (SST anomaly) ที่เปลี่ยนไป ยิ่งชี้ชัดอิทธิพลของ ลานีญา
วิษณุ ชี้ว่า ในเดือนล่าสุดที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (SST anomaly) จากแบบจำลอง ได้มีค่าติดลบครั้งแรกจากที่เคยมีค่าเป็นบวกมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญาที่เริ่มมีมากขึ้น และจะเพิ่มกำลังไปถึงเดือนตุลาคม ทำให้เขื่อนเก็บน้ำในภาคเหนือตอนบนอาจมีความเสี่ยงในการกักเก็บน้ำได้น้อย ต้องหาทางจัดการน้ำให้ดีเลยครับสำหรับฤดูแล้งปีหน้า และสำหรับกรุงเทพมหานครอาจต้อง เตรียมรับมือกับน้ำรอระบายและน้ำท่วมกันให้ดี
อย่างไรก็ดี ทางเพจเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน ซึ่งเป็นเพจกระจายข่าวสารของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความที่เกี่ยวข้องกับการรับมือน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในช่วงฤดูฝน โดยเขาระบุว่า ในปี 2563 ทางกรุงเทพฯ เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนด้วยการล้างท่อระบายน้ำและขุดลองคูคลองเพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลสู่ระบบระบายน้ำได้ดีขึ้น ซึ่งนอกจากจะล้างทำความสะอาดและขุดลอกแล้ว ยังมีการเก็บขยะและวัชพืชอีกด้วย การขุดลอกคลองและล้างท่อระบายน้ำเป็นหนึ่งในแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพฯ แต่เนื่องจากท่อระบายน้ำมีความยาวมาก จึงไม่สามารถขุดลอกได้ทั้งหมดและจำเป็นต้องสลับหมุนเวียนพื้นที่กันไปในแต่ละปี
พล.ต.อ. อัศวิน ระบุว่า ได้กำหนดแผนล้างและลอกท่อระบายน้ำไว้ 3,300 กิโลเมตร จากความยาวท่อทั่วกรุงเทพฯ 6,200 กิโลเมตร และมีเป้าหมายการลอกคลอง 1,400 คลอง จากทั้งหมด 1,880 คลองเพื่อจัดการปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งในปัจจุบัน มีความคืบหน้าในนโยบายลอกท่อระบายน้ำแล้วกว่า 98.75% (ข้อมูลเมื่อ 9 กรกฎาคม 2563) และคืบหน้าในการลอกคูคลอง 87% (ข้อมูลเมื่อ 10 พฤษภาคม 2563) โดยการขุดลอกคูคลองมีเป้าหมายว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ปีนี้
อุโมงค์ระบายน้ำก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาน้ำท่วม ผู้ว่าฯ ระบุว่าอุโมงค์ระบายน้ำเปรียบเสมือนทางด่วนลัดน้ำให้ออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น จึงมีการล้างทำความสะอาด บำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ ตรวจเช็คสภาพเครื่องสูบน้ำ และตรวจสอบการทำงานของระบบ ในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ประจำสถานีสูบน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้ทันทีหากเกิดภาวะขัดข้อง ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง และมีแผนที่จะสร้างเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 4 แห่ง

มากไปกว่านั้น มีการก่อสร้างโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในหลาย ๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณที่น้ำท่วมบ่อยครั้ง เช่น สร้างระบบระบายน้ำโดยวิธีดันท่อลอดใต้ผิวจราจร (Pipe Jacking) และการสร้างบ่อสูบน้ำกำลังสูงบริเวณถนนประเสริฐมนูกิจ เพื่อดึงน้ำจากพื้นถนนสู่คลองลาดพร้าว อันจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณแยกเกษตรศาสตร์ หรือการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติมตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อดึงน้ำเข้าสู่อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ เป็นต้น
ในกรณีหากเกิดภาวะน้ำท่วม ผู้ว่าฯ จะทำการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง รวมถึงตรวจสอบระดับน้ำในคลองสายต่าง ๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน และมีการจัดเจ้าหน้าที่เพื่อกวาดไล่น้ำขังบริเวณไหล่ทาง เพื่อเคลียร์พื้นที่ให้ประชาชนได้สัญจรอย่างปลอดภัย เพื่อจัดเก็บขยะ ใบไม้ หน้าตะแกรงท่อระบายน้ำมิให้กีดขวางการระบายน้ำ และเพื่อเตรียมเดินเครื่องสูบน้ำหากเกิดภาวะน้ำเอ่อล้นเกิน
“หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อ ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม เบอร์ 02-248-5115 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนไม่ให้ทิ้งขยะลงบนผิวจราจร ท่อระบายน้ำ ตลอดจนคูคลองต่าง ๆ เพื่อป้องกันการอุดตันและกีดขวางทางน้ำ” พล.ต.อ. อัศวิน กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง