ไฟฟ้าไทยราคาเท่าชีวิตคนลาว ชมงานแสดงภาพ “ฆ่าครองชีพ” 2 ปีเขื่อนลาวแตก

ครบรอบ 2 ปีโศกนาฎกรรมเขื่อนเซเปียน – เซน้ำน้อยแตก ชมงานแสดงภาพถ่ายชีวิตคนในพื้นที่ ซึ่งแม้เขื่อนจะซ่อมเสร็จแล้ว แต่ไม่มีใครใส่ใจซ่อมแซมคน

งานแสดงภาพ “ฆ่าครองชีพ” / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

23 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ครบรอบ 2 ปี โศกนาฏกรรมเขื่อนเซเปียน – เซน้ำน้อย ประเทศลาวแตก เนื่องในโอกาสรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว วิศรุต แสนคำ ช่างภาพกลุ่ม RealFrame จัดแสดงภาพถ่ายชุด “ฆ่าครองชีพ” (Cost of Lives, Cost Of Living) ประมวลภาพวิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ชาวบ้านอัตตะปือ ประเทศลาว ที่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการเยียวยาฟื้นฟูเพียงพอ ณ ร้าน Dialogue Coffee and Gallery กรุงเทพฯ

เหตุเขื่อนแตกดังกล่าวเกิดเมื่อสันเขื่อนย่อยกั้นช่องเขาส่วน D ในโครงการเขื่อนเซเปียน – เซน้ำน้อย ได้พังลง ทำให้น้ำไหลทะลักออกจากเขื่อน ท่วมบ้านเรือนในแขวงอัตตะปือซึ่งอยู่ท้ายเขื่อน มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 70 ราย ชาวบ้านกว่า 7,000 คนสูญเสียที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เหตุดังกล่าวยังสร้างความเสียหายต่อชุมชนในกัมพูชาและพื้นที่เกษตรกรรมในภาคอีสานไทย

ภาพของช้าง เด็กหนุ่มอายุ 15 ที่ฝันอยากเข้าเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน แต่โศกนาฎกรรมเขื่อนแตกครั้งนั้นทำลายโรงเรียนลง ต้องเปลี่ยนไปโรงเรียนไกลจากบ้าน 3-4 ชั่วโมง / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

งานแสดงภาพแบ่งออกเป็น 3 เซ็ต ได้แก่ Invisible Grid แสดงสภาพอาคารบ้านเรือนที่เสียหายและถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่ไม่ได้ถูกนับในบิลค่าไฟฟ้าที่คนไทยใช้ เพราะแม้เขื่อนดังกล่าวและอีกหลายแห่งในลาวจะผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้าประเทศไทย ทว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักรู้ถึงที่มา , Present Reading แสดงความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ต้องย้ายมาอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวซึ่งลำบาก ทำให้หลายคนเลือกกลับไปอยู่บ้านเดิมที่เสียหาย และ Drowned Dream ถ่ายทอดความฝันของชาวอัตตะปือที่ประเมินความเสียหายเป็นมูลค่าไม่ได้ ทว่ากลับจมน้ำหายไปเพราะฝันของชาติ มุ่งหน้าสร้างเขื่อนหลายแห่งเพื่อพัฒนาเป็นฐานผลิตไฟฟ้า “แบตเตอรี่” แห่งเอเชีย

“ผมอยากให้เรามองไฟฟ้าเหมือนปลาหมึก ทุกวันนี้ เราตระหนักกันมากขึ้นว่าอาหารทะเลที่กินมาจากไหน ได้มาจากประมงที่ใช้แรงงานทาสหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า ในทางเดียวกัน คนไทยอย่างน้อยในฐานะคนใช้ไฟควรคำนึงถึงต้นทางบ้าง มองไฟฟ้าให้เห็นว่ามาจากไหน”

วิศรุต กล่าว

ภาพทั้งหมดพิมพ์และจัดแสดงบนผ้าสีขาวผืนยาว ตั้งบนขาไม้ไผ่ ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ผ้าบุญพะเหวด” ผ้าผืนยาววาดรูปพระเวสสันดรชาดก มีผู้ถือขาไม้ไผ่ที่ตึงผ้าไว้เดินแห่เป็นขบวนในงานบุญตามธรรมเนียมอีสาน ก่อนจะนำไปตั้งล้อมศาลา เขาชี้ว่า เป็นการทดลองนำเสนอภาพแบบใหม่ที่ง่ายต่อการขนย้ายไปจัดแสดงที่อื่น

งานแสดงภาพ “ฆ่าครองชีพ” / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

นอกจากงานแสดงภาพถ่ายแล้ว ในวันเปิดงานเมื่อ 22 กรกฎาคม ได้มีการจัดงานเสวนา “ซ่อมเขื่อน ไม่ซ่อมคน ? : ชีวิตหลังเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยแตก ในความรู้ (สึก) ของคนเคยไป” จัดโดย เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาวและชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ภายในงานนอกจากจะร่วมทบทวนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวที่ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจนถึงปัจจุบันแล้ว ตัวแทนเครือข่ายฯ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทย บริษัทเอกชน และธนาคารที่ให้กู้ยืมเงินลงทุนสร้างเขื่อนดังกล่าว ออกมาแสดงความรับผิดชอบและเปิดเผยข้อมูลแผนการฟื้นฟูผู้ประสบภัยจากโศกนาฎกรรมเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก

การแสดงภาพถ่าย “ฆ่าครองชีพ” จัดแสดงให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ชั้นสองร้าน Dialogue Coffee and Gallery (ไดอะล็อคคอฟฟี่แอนด์แกลเลอรี่) ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพฯ ถึงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2563

วิศรุต แสนคำ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช