นักวิชาการเผย ขยะเกยหาดบางแสนส่วนใหญ่ไหลมาจากพื้นที่อื่น กระทบภูมิทัศน์ ส่งผลลบการท่องเที่ยว ซ้ำร้ายขยะทะเลชิ้นใหญ่หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นผงไมโครพลาสติกปนเปื้อนระบบนิเวศมหาสมุทร เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ด้านนายกเทศมนตรีฯ วอนส่วนกลางภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจังกว่านี้
ภายหลังจากภาพหาดบางแสน ชายหาดตากอากาศยอดนิยมของชาวไทยใน จ.ชลบุรี ที่เต็มไปด้วยขยะได้ถูกแชร์ไปอย่างกว้างขวางในโลกโซเชียลมีเดีย ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จนนำไปสู่กระแสความกังวลถึงผลกระทบขยะจากนักท่องเที่ยว และกระทบถึงภาพลักษณ์เมืองบางแสน

ผศ.ดร.ถนอมศักดิ์ บุญภักดี อาจารย์จากภาควิชาวาริชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ขยะที่พบเกลื่อนกลาดหาดบางแสนเมื่อไม่นานมานี้ แท้จริงแล้วส่วนใหญ่เป็นขยะจากพื้นที่อื่นที่รั่วไหลมาตามแม่น้ำ และถูกกระแสน้ำและลมทะเลพัดมาเกยตื้นที่หาดบางแสน
“เวลาเห็นขยะ คนก็จะโทษว่ามาจากนักท่องเที่ยว คนทิ้งบนชายหาด มันก็อาจจะมีอย่างนั้นบ้าง แต่บอกเลยว่าน้อยมาก ขยะที่มากองบนชายหาดที่เห็นตามข่าว คือ ขยะที่มาจากทะเล คลื่นซัดพาขยะเข้ามาตอนน้ำขึ้น พอน้ำลงก็ไม่ได้พาขยะกลับไปด้วย ขยะเลยกองบนหาด” ผศ.ดร.ถนอมศักดิ์ กล่าว
“ต้นกำเนิดขยะทะเลเหล่านี้ยืนยันชัดเจนว่ามาจากบนบก ขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดตามถนนพอมีลมก็จะพัดขยะลงท่อระบายน้ำ ไหลสู่คลองธรรมชาติ สุดท้ายก็ลงสู่ทะเล นี่แหละแหล่งที่มาของขยะที่เกิดขึ้น” เขาระบุ
ผศ.ดร.ถนอมศักดิ์ ชี้ว่า ขยะเหล่านี้ยังนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่กว่า โดยหลังจากล่องลอยอยู่ในทะเลระยะหนึ่ง ขยะพลาสติกจะถูกย่อยสลายโดยแสง UV กลายเป็นเศษพลาสติกขนาดจิ๋วจำนวนมาก หรือ “ไมโครพลาสติก” ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในทะเล ยังสามารถปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารถึงมนุษย์ผ่านการบริโภคอาหารทะเล และอาจสะสมในร่างกายจนก่อความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้
“ไมโครพลาสติกจะมีคุณสมบัติเป็น ไฮโดรโฟบิก (Hydrophobic) ที่จะไม่ละลายน้ำ และสามารถจับกับสารเคมีชนิดอื่นที่ก็เป็นไฮโดรโฟบิก เช่น อนุพันธ์ปิโตรเลียม ดังนั้น ไมโครพลาสติกอาจทำหน้าที่เป็นนิวเคลียสที่มีสารละลายอื่น ๆ มาเกาะ และหากไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยไมโครพลาสติก ก็อาจพาสารพิษอันตรายข้างต้นเข้าสู่ร่างกายได้” เขากล่าว
“ไมโครพลาสติกยังมักมาคู่กับสาร BPA หรือ Bisphenol A ซึ่งเป็นที่ใช้ในการผลิตขวดพลาสติก สารชนิดนี้ถือเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์รุนแรงและสามารถยับยั้งการทำงานของต่อมไร้ท่อได้”
นอกจากไมโครพลาสติกที่เกิดจากการสลายตัวของขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ เขายังเผยว่า ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในทะเลจำนวนมหาศาลยังมาจากน้ำทิ้งจากบนบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำทิ้งจากการซักผ้าตามบ้านเรือน ซึ่งปนเปื้อนเส้นใยไมโครพลาสติกจากเนื้อผ้า โดยจากการศึกษาไมโครพลาสติกในน้ำทิ้งที่ปล่อยลงทะเลในท้องที่ จ.ชลบุรี พบว่ามีไมโครพลาสติกรั่วไหลลงทะเลถึงกว่าล้านล้านชิ้นต่อวัน
“ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของอ่าวไทยตอนบนที่เป็นทะเลกึ่งปิด ทำให้เกิดการหมักหมมขยะและมลพิษในทะเลได้ง่าย ดังนั้นอาหารทะเลแทบทุกชนิดจึงมีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนไมโครพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์จำพวกหอย” เขากล่าว
“ผมไม่ได้อยากทำให้เกิดความตื่นตระหนกว่าหอยไหนห้ามกิน เพียงแต่อยากให้สังคมรับทราบ เพราะทุกคนมีส่วนร่วมทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้น และควรหาทางว่าจะแก้ไขอย่างไรให้ทุกคนยอมรับได้ เช่น กำหนดโซนว่าตรงนี้ห้ามจับห้ามเลี้ยง แต่ทางแก้ที่ดีที่สุดคือการกำจัดตั้งแต่ต้นทาง อย่าให้ไมโครพลาสติกลงทะเล”
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ถนอมศักดิ์ ชี้ว่า พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แต่การจัดการขยะพลาสติกอย่างไม่เหมาะสมต่างหากที่เป็นปัญหา เขาชี้ว่า แนวทางแก้ปัญหาไมโครพลาสติกที่ดีที่สุดคือต้องจัดการตั้งแต่ต้นทาง โดยกา่รแยกขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้นำกลับไปใช้อีกครั้ง และกำจัดขยะที่เหลืออย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดขยะไหลงทะเล เขายังเสนอให้มีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่สามารถกรองไมโครพลาสติกได้
ด้าน ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข ระบุว่า ขยะที่เกยอยู่บริเวณหาดบางแสน มักเป็นขยะที่ถูกพัดมาจากปากแม่น้ำอ่าวไทย ซึ่งก็ไหลมาจากลำคลองเขตชุมชน มีทั้งขยะจากการประมง ขยะการเกษตร และขยะในครัวเรือน บางแสนเป็นเพียงพื้นที่ปลายน้ำที่ได้รับผลกระทบ
“แม้เราเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย แต่เราก็มีขยะจากภาคท่องเที่ยวไม่เกิน 30% เพราะขยะส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งก็มาจากประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่เหนือน้ำ เราเป็นพื้นที่ปลายน้ำ เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการที่คนทิ้งขยะไม่ถูกที่ เราก็มีหน้าที่ตั้งรับปลายทางได้อย่างเดียว” ณรงค์ชัย กล่าว
ทั้งนี้ เขาระบุว่า ปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแค่ในบางแสน เพราะพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่มีใครทราบ และไม่ได้รับการถ่ายทอดมากนัก

ปัจจุบัน นายกเทศมนตรีฯ ใช้วิธีวางแผนจัดเก็บตามหน้างาน โดยใช้อุปกรณ์ใหม่ เช่น รถกวาดขยะ เป็นต้น เขาระบุว่าปัญหาขยะพลาสติกตามแนวชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออกจะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งก็ไม่ได้มีต้นตอจากท้องถิ่นเท่านั้น หน่วยงานระดับเทศบาลจึงไม่มีอำนาจหน้าที่มากพอ หากต้องเป็นระดับชาติ เขาต้องการให้ภาครัฐส่วนกลาง จัดการเรื่องข้อบังคับกฎหมายให้ชัดเจนเข้มงวดขึ้น ให้ปฏิบัติและบังคับใช้จริงจังมากขึ้น และต้องเป็นหน้าที่ในระดับกระทรวง หรือเป็นนโยบายในระดับประเทศ
“ขยะทะเลไม่ได้กระทบแค่สิ่งแวดล้อมชายฝั่ง แต่กระทบสัตว์ด้วย ล่าสุดมีเต่าเกยตื้นเพราะกินพลาสติก กินเชือก ปีที่แล้วเกยตื้น 10 กว่าตัว เพราะกินวัสดุที่นึกว่าเป็นอาหาร กินเชือกเพราะนึกว่าเป็นไส้เดือน เศษปลา หรือโดนอวนรัดจนบาดเจ็ด ผมเลยมองว่าเทศบาลแก้ปัญหาได้แค่การรณรงค์ เพราะเป็นปลายน้ำ และอยากฝากไปสู่ระดับกระทรวง”
“ปัญหาขยะพลาสติกที่บางแสน ถ้าภาครัฐไม่ได้คิดจะแก้ ผมคิดว่า ยังไงบางแสนก็จะเป็นอย่างนี้ ต่อให้มีคนที่เก่งกว่าผมเป็นสิบเท่าร้อยเท่าก็แก้ไม่ได้ เพราะต้นตอไม่ได้เกิดจากเรา ขยะมันก็เกิดมาจากที่อื่น ถ้าไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลควบคุม ปัญหาขยะทะเลในไทยก็จะไม่มีทางหายเลย” นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง