บทความโดย: ณัฐฐา อายุวัฒนชัย
เมื่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างทับซ้อนอยู่บนความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และวิถีทำกินของชุมชน มากไปกว่านั้นยังส่งผลถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งอาหารในอนาคต
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โครงการหยั่งรากบางปะกง จัดงาน ‘วิถีเขาดิน วิถีแห่งความสุข’ ชมภูมิปัญญาการทำเกษตร ‘นาขาวัง’ ภายในงานพบความอุดมสมบูรณ์ ผ่านอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบที่หาได้ตามธรรมชาติ ของ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดถูกคัดเลือกให้เป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC
“พื้นที่ตรงนี้เริ่มเปลี่ยนไป เราเลยอยากสื่อสารถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นี้ ว่ามันมีอยู่จริงนะ อยากส่งเสริมคนในพื้นที่ว่าวิถีชีวิตของเขามีคุณค่า สามารถดำรงชีพได้ตัวเขาเอง” ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ อาจารย์สำนักงานจัดการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพาเผยถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงาน
เขาเสริมว่า อยากให้เห็นถึงภาพรวมของแม่น้ำบางปะกง ประวัติศาสตร์ข้างลำน้ำ ระบบนิเวศ วิถีทำกิน และอาหารที่แตกต่างกันในแต่ละที่เชื่อมร้อยไว้โดยแม่น้ำบางปะกง

ในน้ำมีปลาในนามีข้าว: ภูมิปัญญาเกษตรผสมผสาน ‘นาขาวัง’ ทำนาข้าวและเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่เดียวกัน
‘นาขาวัง’ เป็นภูมิปัญญาการเกษตรแบบผสมผสานที่เป็นเอกลักษณ์ของ ต.เขาดิน คือการทำนาร่วมกับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ผืนเดียวกัน โดยขุดคูน้ำไว้ล้อมรอบแปลงนา เพื่อทำนาขาวังในช่วงน้ำจืด และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงน้ำเค็ม สร้างรายได้ทั้งปีให้กับชาวบ้าน
คูน้ำนี้จะถ่ายน้ำเข้าออกได้ง่ายเพียงยกรอกไม้ขึ้น สัตว์น้ำจากแม่น้ำบางปะกงจะตามเข้ามา และเมื่อถึงฤดูทำนาน้ำที่ถ่ายเข้ามาก็จะสามารถช่วยในการชะล้างความเค็มที่ตกค้างในดินได้ด้วย
มากไปกว่านั้น พื้นที่บริเวณนี้มีความเค็มเล็กน้อยไม่ได้จืดสนิททำให้หญ้า วัชพืช หรือพืชพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่ต้องการไม่สามารถเติบโตได้ ข้าวที่นี่จึงมีสิ่งเจือปนน้อย
‘ไต๋น้อง’ ประสิทธิ์ ลิ้มซิน ชาวบ้านที่ทำนาขาวัง เล่าว่า เขาอยู่กินกับแม่น้ำบางปะกงนานกว่า 30 ปี เขาทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีรายได้เสริมจากการเลี้ยงกุ้ง ปู ปลา ในคูน้ำที่ล้อมแปลงนา รวมไปถึงใช้ใบจากจากป่าจาก เขายังพัฒนาที่ทำนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพาลูกทัวร์ไปตกปลา ชมหิงหอย และเรียนรู้วิถีชุมชน
“องค์ประกอบต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านประกอบเป็นนาขาวัง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคง สร้างรายได้ ไม่ต้องอาศัยระบบชลประทาน เป็นภูมิปัญญาที่หลายคนยังไม่รู้จัก แต่ที่ดินส่วนใหญ่ไม่ใช่ของชาวบ้านเป็นเพียงผู้เช่า” กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวอย่างน่าเสียดาย
การที่ที่ดินเหล่านี้ไม่ได้เป็นของชาวบ้านเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ที่ดินบริเวณนี้ตกเป็นของกลุ่มนายทุนผ่านโครงการ EEC เนื่องเจ้าของที่ตัวจริงเป็นผู้ตกลงขาย ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์
เมนูอาหารจากนาขาวัง
กัญจ์เผยถึงเหตุผลที่ต.เขาดินยังอุดมสมบูรณ์ว่า “พื้นที่ทั้งตำบลมีป่าชายเลนเหลือกว่า 20% ซึ่งเป็นปริมาณที่มาก พื้นที่ 1 ใน 3 ของตำบลยังคงเป็นพื้นที่ตามธรรมชาติ ถ้าเป็นตำบลอื่นไม่เหลือเยอะขนาดนี้จะถูกนำไปทำกิจกรรมของมนุษย์ไปหมด”
สืบเนื่องจากความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำบางปะกงทำให้พื้นที่ต.เขาดิน สามารถหาวัตถุดิบท้องถิ่นที่หลากหลายมาประกอบอาหาร วัตถุดิบในการประกอบอาหารส่วนใหญ่หาได้ง่ายจากการดักจับจากคูนาขาวัง
อาทิ ปลาหมอเทศแดดเดียว แกงคั่วโหม่งจากกุ้ง แกงส้มปูทะเล หลนปูแสม ผัดฉ่าปลากะพง หัวปลากะพงต้มกระจับ
ในขณะที่ข้าว ผักสดและเครื่องปรุงในอาหารครั้งนี้ ได้มาจาก ‘304 กินได้’ เป็นผักเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตและเครือข่ายภาคตะวันออก
งานนี้เราประกอบอาหารและรับประทานอาหารกันที่บ้านไต๋น้อง ซึ่งเป็นห้องเรียนนาขาวัง เป็นที่เรียนรู้ที่มีชีวิต เรียนรู้เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนให้คนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน

เมื่อผังเมืองเปลี่ยนสี นาขาวังและอาหารดี ๆ จะหายไป
อย่างไรก็ตาม ทั้งภูมิปัญญา ‘นาขาวัง’ และเมนูอาหารเหล่านี้จะหาทานได้ยากและหายไปในที่สุดจากการเข้ามาของ EEC
ร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่ดำเนินการใน 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ จาก ‘สีเขียว’ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เป็น ‘สีม่วง’ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม
ในส่วนพื้นที่สีม่วงของต.เขาดิน ทั้งนาขาวังและป่าชายเลนกว่า 2,000 ไร่ถูกกว้านซื้อเพื่อสร้างโรงงานรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
กัญจน์ ให้ความเห็นว่า เป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของลุ่มแม่น้ำปางปะกง เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ที่อุดมสมบูณ์ที่เป็นนาขาวัง จะอยู่ในที่ที่เขาจะตั้งนิคมฯ และน่าเสียดายว่า EEC ควรจะเป็นต้นแบบการพัฒนาของประเทศไทยให้ได้แต่มันก็ห่างไกลมาก ๆ
ด้านนรี ศรประสิทธิ์ หนึ่งในชาวบ้านตำบลเขาดินที่อาศัยและเช่าที่ทำกินอยู่ที่นี่ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่กล่าวว่า “อยากอยู่ตรงนี้ ยันลูกยันหลาน แลกเป็นเงินก็ไม่อยากได้ อยากอยู่แบบนี้กับธรรมชาติ ตอนนี้ไม่ได้ทำนาขาวังแล้วแต่ยังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ แต่ที่ดินกว่าสองพันไร่นี้เขาจะให้ออกหมด”
ตัวเธอเองและเครือข่ายเพื่อนตะวันออกเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการนี้มาตลอด ทั้งก่อนที่ผังเมืองจะถูกประกาศใช้ แต่ก็ไม่เป็นผล
นอกจากจะให้อาชีพและสร้างรายได้ให้ชาวบ้านแล้ว ความอุดมสมบูรณ์ของต.เขาดินยังก่อให้เกิดโรงเรียนสายน้ำบางปะกงซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ครอบคลุมตลอดลำน้ำ
โรงเรียนดังกล่าวตั้งอยู่บนอุดมการณ์ที่จะ ส่งเสริมกระบวนการการเรียนรู้ ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูลกัน และขับเคลื่อนการพัฒนาให้สร้างจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยหวังว่าผืนดินที่อุดมสมบูรณ์จนผลิตอาหารได้นานาชนิดจะไม่ถูกละเลยจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ