โจรสลัดชีวภาพในคราบนักธุรกิจ: เมื่อ CPTPP แฝง UPOV1991 เอื้อให้ บ.ต่างชาติผูกขาดพันธุ์พืช

บทความโดย: ชลธิชา ทักษิณาเวศน์

 

เราอาจต้องแลกอธิปไตยทางการเกษตร และความมั่นคงทางอาหารเพื่อแลกกับการเป็นสมาชิก ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) คืออีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ไทยไม่ควรเข้าร่วม CPTPP เพราะประเทศไทยจำเป็นจะต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ UPOV1991 เสียก่อน

ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวเตือนในเวทีเสวนา “UPOV1991 : ผลกระทบต่อเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหาร” หนึ่งในเวทีเสวนาจากการประชุมสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นโดย มูลนิธิชีววิถี (BOITHAI) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า สิทธิเกษตรกรไทย ทรัพยากรชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหารของประเทศจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกบรรษัทพันธุ์พืชยักษ์ใหญ่คุกคาม ปล้นชิง หาผลประโยชน์ หากรัฐบาลยังคงดึงดันที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงการค้าเสรี CPTPP เหตุจากข้อกำหนดที่เอื้อต่อการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ในอนุสัญญา UPOV1991

ผศ.ดร.สมชาย ย้ำว่า ก่อนที่เราจะตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP เราจำเป็นที่จะต้องตอบให้ได้ว่า UPOV1991 คืออะไร และหากไทยเข้าเป็นสมาชิก อนุสัญญาฉบับนี้จะสร้างผลกระทบอย่างไร เพราะมีข้อกำหนดอย่างชัดเจนว่า ประเทศที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP จะต้องเข้าเป็นสมาชิกภาคี UPOV1991 ก่อน

“ภาครัฐควรเปิดเผยว่า หากเราจะเข้า ใครจะเป็นคนได้ประโยชน์ หรือภาคเศรษฐกิจส่วนไหนจะได้ประโยชน์ ใครเป็นคนได้ ได้อย่างไร เท่าไหร่ ใครถูกกระทบบ้าง กระทบอย่างไร แล้วมีมาตรการยังไงในการเยียวยาคนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ เพราะถ้าเราเข้า CPTPP เท่ากับเรายอมรับ และมัดตัวเองว่าเราจะต้องเข้าร่วม UPOV1991” เขากล่าว

“เพราะหลักข้อบังคับของ UPOV1991 มีจุดประสงค์มุ่งเน้นคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของนักปรับปรุงพันธุ์เป็นหลัก ดังนั้นจึงห้ามกระทำการใดๆ ที่อาจกระทบต่อสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ หรือหากจะมีข้อยกเว้น ก็จะเต็มไปด้วยการวางเงื่อนไขและข้อจำกัดยิบย่อยหลายอย่าง”

เขาอธิบายว่า แม้ว่าการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อเป็นข้อยกเว้นอย่างหนึ่ง ซึ่งทาง UPOV1991 เปิดช่องให้แต่ละประเทศสามารถเขียนข้อยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ โดยพิจารณาจากเงื่อนไข 4 ประการ ได้แก่ ประเภทของเกษตรกร วัตถุประสงค์ในการเก็บเมล็ดพันธุ์ การใช้เมล็ดพันธุ์ และผลประโยชน์ตอบแทนแก่นักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งแต่ละรัฐต้องเป็นผู้ออกแบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายในประเทศให้สอดคล้องกับ อนุสัญญา UPOV1991 และไม่กระทบต่อนักปรับปรุงพันธุ์มากนัก

ด้วยเหตุนี้ เขาชี้ว่า ด้วยเงื่อนไขข้อยกเว้นที่เฉพาะเจาะจงมากๆ เหล่านี้ เกษตรกรส่วนใหญ่เช่น เกษตรกรพืชสวน ไม้ดอกไม้ผล หรือเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เกษตรกรที่อาศัยในพื้นที่ป่า จึงไม่เข้าข่ายเงื่อนไขดังกล่าว และมีเพียงเกษตรกรไม่กี่รายเท่านั้นที่จะได้รับข้อยกเว้นในการเก็บเมล็ดพันธุ์ ซึ่งที่สุดแล้วการเก็บเมล็ดพันธุ์โดยถูกต้องก็อาจจะแฝงค่าใช้จ่าย เพราะยังไม่มีหลักแน่นอนในการกำหนดผลตอบแทนแก่นักปรับปรุงพันธุ์ หรือบริษัทเมล็ดพันธุ์

CPTPP
แผนภูมิสัดส่วนผู้ได้รับทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ตามพรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 โดย: BIOTHAI

“ดังนั้น การใช้เมล็ดพันธุ์แบบไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า ต่อไปก็จะทำไม่ได้ แลกเปลี่ยนไม่ได้ ขายไม่ได้แน่นอน มันต้องใช้เอง ปลูกเอง ใช้เพื่อการปลูกเท่านั้น และใช้ในที่ดินของตัวเองเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่เคยทำได้ในอดีตอาจถูกกระทบจาก UPOV1991 และเราต้องแก้กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับมันด้วย” ผศ.ดร.สมชาย กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น เขาอธิบายว่าพันธุ์พืชใหม่ในความหมายของ UPOV1991 ยังครอบคลุมไปถึงประเด็นเรื่อง อนุพันธุ์ (EDV) ที่หากจะนำลักษณะเด่นของพันธุ์เดิมไปปรับปรุงต่อเป็นสิ่งใหม่ จำเป็นจะต้องมีการขออนุญาติก่อน ซึ่งอาจมีปัญหาในกรณีที่ผลผลิตที่ไม่สามารถแยกลักษณะเด่นออกได้ด้วยสายตา เช่น ยีนจำเพาะของพันธุ์พืช เพราะกฎระบุว่าหากแยกด้วยตาเปล่าไม่ออก ให้ถือว่าสิทธิในพันธุ์พืชนั้นๆ เป็นของบุคคลผู้ซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อน

ซึ่งหากเกษตรกรจะพิสูจน์สิทธิในพันธุ์พืชของตน จำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการตรวจ DNA พิสูจน์ในห้องทดลอง หรือปลูกจริง ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังยากต่อการตัดสิน เพราะยีนจำเพาะเหล่านี้อาจเกิดจากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ ทำให้ฝ่ายเกษตรกรเสียเปรียบอย่างมากหากถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิบัตรพันธุ์พืช

“กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชไทยมีกลไกที่คุ้มครองสิทธิ์ของเจ้าของพันธุ์พืช กล่าวคือ ก่อนจะลงทะเบียนต้องระบุว่าเอาพันธุ์พืชต้นทางมาจากไหน พ่อพันธุ์แม่พันธุ์คืออะไร และต้องได้รับอนุญาตให้ปรับปรุงพันธ์จากต้นทาง จึงจะขึ้นทะเบียนได้ ดังนั้นต่อให้ขโมยมาก็ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ ซึ่งข้อบังคับนี้อาจหายไปหากเราเข้าร่วมภาคี UPOV1991” เขากล่าว

“แล้วถ้าเอาออกจะเกิดอะไรขึ้น คนก็หยิบต้นไม้แล้วไปปรับปรุงพันธุ์เลย มันก็ขโมยได้ เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ขโมยกันได้ง่ายขึ้น เพราะไอเงื่อนไขเดิมมันเป็นเงื่อนไขที่ไว้ช่วยจับขโมย ถ้าหากว่าเราตัดอันนี้ออกไป ก็หมายความว่าเครื่องมือที่จะใช้ช่วยจับขโมยมันไม่มีอีกแล้ว ขโมยก็สบายขึ้น เหมือนกับหน้าสวนมีกล้องวงจรปิด แล้ว UPOV1991 บอกว่าให้ถอดกล้องออก”

ด้านประธานกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร ดาวเรือง พืชผล ก็ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เกษตรกรรายย่อยจะเสียประโยชน์อย่างมาก หากไทยเข้าร่วม CPTPP ซึ่งมีข้อบังคับของ UPOV1991 แฝงเข้ามา โดยได้แสดงความกังวลว่า เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังสับสนและตามไม่ทันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพวกตน เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวมีความสลับซับซ้อน

ชาวนาใน จ.เพชรบุรี / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

ดาวเรือง กล่าวย้ำว่า เงื่อนไข UPOV1991 นี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยอย่างมาก เพราะเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงทรัพยากรชีวภาพ และความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชท้องถิ่น ในการประกอบอาชีพ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของพื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภคที่ก็มีความหลากหลาย

“ถ้ามองเรื่องการเลือกบริโภค คุณอาจจะเลือกปลูกกินได้ตามคุณค่าที่คุณต้องการ เช่น ข้าวมะลิดำ จะมีคุณค่าพิเศษ ให้กลูโคสสูงมาก แต่ก็อาจจะมีจุดอ่อนกับโรคอย่างอื่นไป เป็นต้น นี่คือเรื่องของความหลากหลายและการเลือกกิน พอเลือกกินหลากหลายได้มันก็จะทำให้เรามีความมั่นคงทางอาหาร ไม่เสี่ยง ยิ่งสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการติดเมล็ดของพืช ถ้าเราปลูกได้หลากหลาย อันนึงเสีย อีกอันอาจจะยังเป็นอาหารให้ได้” เขากล่าว

“ถ้าเข้า CPTPP ผมเป็นห่วงว่าคนที่จะเข้าถึงพันธุ์ที่เก็บไว้อยู่อาจจะเป็นบริษัทมากกว่าเกษตรกรรายย่อย กว่ารายย่อยจะรู้ตัว มันก็จะเจอเจ้าของพันธุ์ เจ้าของสิทธิ หรือนักปรับปรุงพันใหม่ ๆ เต็มไปหมด นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราเข้าร่วมก็คงเป็นแบบนั้น อาจทำให้ผู้ผลิตลดลงเหลือแค่ 10% หรือ 5% ในอนาคต นี่คือสิ่งที่พวกเราพยายามทำให้เหนและต่อสู้ ไม่อยากเข้าร่วมกับเรื่องแบบนี้”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง