บทความโดย: ชลธิชา ทักษิณาเวศน์
เวทีเสวนาสิ่งแวดล้อมย้ำ ประชาคมโลกควรพลิกวิกฤต COVID-19 เป็นโอกาสทบทวนนโยบายการพัฒนาประเทศ ด้วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคระบาด ไปพร้อมๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน พร้อมรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมจากสภาวะโลกร้อน
นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เห็นพ้องกันถึงทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโลกภายหลังวิกฤตโรคระบาด ต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ด้วย ผ่านเวทีเสวนา “Our Wild, Our Climate สภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลัง COVID-19” เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2563 ภายหลังสถานการณ์การระบาดไวรัส COVID-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย จนสามารถผ่อนปรนมาตรการป้องกันการระบาด ให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมค่อยๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจหลังช่วงวิกฤต COVID-19 ควรดำเนินไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สร้างปัญหาให้กับโลกเพิ่มขึ้น
“แนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตโรคระบาดนี้เป็นไปได้หลายทาง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจดำเนินนโยบายไปในทิศทางใด” ดร.บัณฑูร กล่าว
“ประเทศไทย ณ ขณะนี้ อยู่ในระยะ Recovery หรือ ระยะแห่งการฟื้นฟูและปรับตัว ภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย และกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ระยะ Restructuring หรือระยะของการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและการปรับตัวของสังคมใหม่ ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญที่จะกำหนดว่าเราจะปรับโครงสร้างไปในทิศทางใด และกติกานั้น ๆ จะถูกนำไปใช้จริงจังหรือไม่ ซึ่งผมเห็นว่าระยะนี้มีความท้าทายอยู่”
เขาเชื่อว่า ระหว่างระยะของการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมใหม่ หลังวิกฤต COVID-19 สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ ขึ้นอยู่กับพลังของคนที่อยากเปลี่ยนแปลง โดยใช้ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมระหว่างช่วงการระบาดไวรัส COVID-19 มาเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงความคิด หรือรูปแบบการพัฒนา เพื่อนำไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น
“ในระยะ Restructuring นี้ อยากให้ใช้วิกฤตโรคระบาดเป็นโอกาสทบทวนสิ่งที่ควรกระทำ สิ่งที่ไม่เคยกระทำ ตลอดจนสิ่งที่มีการเขียนแผนนโยบายไว้แล้วแต่ไม่มีการกระตือรือร้นและนำไปปรับใช้ โควิดมันส่งสัญญาณว่าเราเพิกเฉยไม่ได้แล้ว หลายอย่างถูกเขียนไว้แล้วในแผน แต่ขาดการใส่ปัจจัยเรื่องเวลาที่ชัดเจน ตอนนี้ทำให้เห็นว่าเราคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว เราควรเอาจริงเอาจังกับเวลาที่กำหนดไว้ในแผนมากกว่านี้” เขากล่าว
ดร.บัณฑูร ได้นำเสนอกรอบความคิด New EpidEconomics (3E) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวมเอาการควบคุมโรค เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เข้ามาคำนวณร่วมกัน มาเป็นแนวทางสำหรับการวางแผนนโยบายพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต
“เราเคยคิดแยกส่วนกัน เรื่องโรคก็มีกรรมการหนึ่ง เรื่องเศรษฐกิจก็อีกกรรมการ หรือเรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีอีกคณะ 3 สิ่งนี้ เราคิดแยกกันมาตลอด ทั้งๆ ที่มันควรคิดแบบบูรณาการไปด้วยกัน และพัฒนาไปพร้อมๆ กัน” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า รัฐบาลไทยยังขาดการคำนึงถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หลังวิกฤต COVID-19 อย่างบูรณาการไปพร้อมๆ กับ การอนุรักษ์ธรรมชาติและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
“เท่าที่ผมฟังมา ในงบ 4 แสนล้านบาทที่สภาอภิปราย ผมยังไม่ได้ยินใครพูดในประเด็นที่ว่า จะเพิ่มอัตราเศรษฐกิจยังไง จะใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วไม่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนยังไง มันไม่มีใครพูดในประเด็นที่ว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจแบบไหนที่จะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม” ดร.บัณฑูร กล่าว
“งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านนี้จะเป็นตัวทดสอบว่าจะพาไปสู่ทิศทางเศรษฐกิจแบบไหน สู่ความมั่นคงทางพลังงาน หรือมีพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนได้มากน้อยขนาดไหน” บัณฑูรกล่าว
ในขณะที่ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤตการระบาดไวรัส COVID-19 เป็นเสมือนเพียง “การซ้อมหนีไฟ” สำหรับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญต่อไป ดังนั้นแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน
“วิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่มีวัคซีน แต่นโยบายสาธารณะจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สังคม โดยต้องพิจารณาและยกเลิกนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเปิดทางให้ทุกภาคส่วน รวมไปถึงชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการพัฒนา เพื่อให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางขึ้น” ธารา กล่าว
อนึ่ง รายงานวิเคราะห์ของ International Energy Emergency ชี้แนะถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเน้นปฏิรูปการใช้พลังงาน ตลอดจนการสร้างอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองการตกงานที่เกิดขึ้นจากวิกฤต COVID-19 เช่น การพัฒนาอาคารเดิมให้มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมากขึ้น หรือ การสร้างฟาร์มกังหันลม ซึ่งตอบสนองต่อการฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green recovery) และสามารถสร้างงานได้มากถึง 9 ล้านงานต่อปี

ด้าน ดร.กลย์วัฒน์ สาขากร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานงานกลุ่มอนุสัญญา กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เผยว่า ทางภาครัฐก็เห็นด้วยต่อกรอบคิดการพัฒนาที่บูรณาการในทุกๆ ด้าน เช่นเดียวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ควรคำนึงถึงทุกๆ มิติเช่นกัน
“สิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างเดียว ไม่ใช้สมการที่ดี ถ้าสิ่งแวดล้อมดี แต่เศรษฐกิจไม่ดีล่ะ เราต้องหาวิธีทำให้สมดุล และผนวกประเด็นไปอยู่ที่เรื่องอื่น ๆ ด้วย” ดร.กลย์วัฒน์ กล่าว
เขากล่าวว่า ทาง สผ. เองก็มีแผนการเพื่อรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน ซึ่งเป็นแผนเดิมที่มีมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 โดยระบุว่า แผนดังกล่าวเน้นไปที่การลดก๊าซเรือนกระจก 3 ด้าน ได้แก่
- ด้านการขนส่ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางด้วยขนส่งมวลชนมากขึ้น และใช้พลังงานทดแทน
- ด้านอุตสาหกรรม ผ่านการสนับสนุนให้เปลี่ยนสารตั้งต้น และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ด้านการจัดการของเสีย ผ่านการสนับสนุนให้กำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธี และนำของเสียที่มีมูลค่ากลับมาใช้ซ้ำ
อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า สผ. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดแผนนโยบาย จึงมีอำนาจเพียงขอความร่วมมือกับหน่วยงานผู้นำนโยบายไปปฏิบัติใช้เท่านั้น อำนาจในการดำเนินการตามแผนขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะนำแผนเหล่านี้ไปตามหรือไม่
เวทีเสวนาดังกล่าวจัดโดย Bangkok Tribune ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และเครือข่าย สนับสนุนโดย Konrad Adenauer Stiftung ผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมเสวนาและวงคุยรายเดือนอื่นๆ ของ Bangkok Tribune ได้ทางเว็บไซต์ และเพจเฟซบุ๊ก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง