บทความโดย: ณัฐฐา อายุวัฒนชัย
ขยะพลาสติกถือได้ว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องเร่งจัดการ ที่ผ่านมามีกระแสอนุรักษ์จากประชาชนและภาคเอกชนที่เรียกร้องใหมีการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด รวมถึงภาครัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจมีมาตรการในการดำเนินการจัดการขยะพลาสติกในประเทศอย่างต่อเนื่อง
โครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ และโครงการ ‘มือวิเศษxวน โดย PPP Plastics’ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนล่าสุดที่มุ่งเป้าแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ด้วยการสร้างเครือข่ายการจัดการรีไซเคิลขยะพลาสติกครบวงจรตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
โดยนับตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เครือข่ายความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ร่วมด้วยหน่วยงานรัฐนำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชนหลายบริษัท ได้เริ่มต้นร่วมกันนำขยะพลาสติกกลับคืนสู่กระบวนการรีไซเคิลดังกล่าวแล้ว

การเดินทางของ ‘พลาสติก’ หลังดำเนินโครงการมา 1 เดือน
รองผู้อำนวยการ TRBN รัมภ์รดา นินนาท หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ ได้เปิดเผยกับ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม ถึงที่มาและผลการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า โครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงภาคีเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการนำพลาสติกเข้าสู่เครือข่ายผู้ให้บริการและขนส่งทรัพยากรไปเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิล (recycle) และอัพไซเคิล (upcycle) กล่าวคือ นำขยะพลาสติกกลับมาหมุนเวียนแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งอย่างคุ้มค่า
“จากแนวคิดของโครงการ ‘แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา’ ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตั้งจุดรับขยะที่มีลักษณะ ‘แห้ง’ และทำความ ‘สะอาด’ แล้วเพื่อการนำไปรีไซเคิลได้ทันที ดังนั้น ขยะที่ผู้บริโภคจะนำไปทิ้งจะต้องคัดแยกก่อนทิ้ง โดยเริ่มนำร่องแล้ว 10 จุดบนถนนสุขุมวิท” รัมภ์รดา อธิบาย
“หลังจากพลาสติกของผู้บริโภคถูกหย่อนลงถังตามจุดรับแล้ว ทาง ‘วน’ และ ‘แก้วกรุงไทย’ จะเป็นภาคีดำเนินการระบบการจัดการการส่งของโครงการ พลาสติกยืดได้ทางวนจะเป็นผู้นำไปรีไซเคิล ส่วนพลาสติกแข็งทางแก้วกรุงไทยจะเป็นผู้ดำเนินการ”
เธอกล่าวว่า หากผู้บริโภคให้ความสนใจมากก็มีแนวโน้มขยายต่อไปอีกหลายจุด ขณะนี้มีหลายที่ติดต่อมาต้องการเป็นจุดทิ้งขยะ (Drop point) ตอนนี้เปิดเพิ่ม 5 แปดจุด โดยขณะนี้ทางโครงการอยู่ในช่วงของการเก็บข้อมูลในการพัฒนาโครงการ

“ขยะที่เก็บ ยังไม่ได้นำไปเข้ากระบวนการเป็นสินค้า เมื่อมีปริมาณมากพอซึ่งน่าจะประมาณ 2 เดือน ภาคีที่ดำเนินการรีไซเคิลจะนำไปผลิตเป็นสินค้า เช่น เสื้อ กระเป๋า หากเป็นพลาสติกแบบยืดได้ทางวนจะนำไปผลิตถุงพลาสติก” เธอกล่าว
รัมภ์รดา ชี้ว่า ระหว่างการดำเนินงานโครงการพบข้อที่สามารถนำไปปรับปรุงเพื่อให้การจัดการของโครงการดีขึ้น เช่น ขวดน้ำที่ส่งมายังไม่ถูกบีบและยังพบขยะทั่วไปในถังทิ้งพลาสติก ด้วยสาเหตุที่ว่าหลายคนยังไม่ทราบว่าตรงนี้รับเฉพาะพลาสติกที่แห้งและสะอาดเท่านั้น จุดรับที่ได้รับขยะที่ทิ้งถูกส่วนใหญ่ จะเป็นจุดที่มีคนเฝ้าและคอยบอกรายละเอียด ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะยาว การขนขยะพลาสติกในแต่ละครั้งควรจะมากกว่า 300 กิโลกรัมต่อรอบที่ขน จึงจะคุ้มค่า
เธอเผยในมุมมองในฐานะผู้ดำเนินโครงการว่า หากผู้บริโภคให้ความสนใจกับการแยกขยะและเข้าร่วมจำนวนมากขึ้น ฝันเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถเป็นจริงได้ ดังนั้นเธอจึงอยากให้ผู้บริโภคเริ่มลงมือแยกขยะ และส่งต่อพลาสติกเหล่านี้ให้เข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างเหมาะสมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เธอระบุว่า ระยะเวลาของช่วงนำร่องโครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ โดยหลังจากนี้จะนำผลสรุปโครงการไปทำเป็นข้อเสนอทางนโยบายต่อไป

ภาคเอกชนรับลูก นำขยะพลาสติกรีไซเคิลกลับมาใช้ซ้ำ
ด้านฝั่งหน่วยงานธุรกิจเอกชนที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนำร่องการหมุนเวียนพลาสติกด้วยจุดดร็อปพอยต์ ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Poly Olefins and Vinyl Business ตัวแทนจากธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายภาคีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม กว่า 60 องค์กร ที่ร่วมผนึกกำลังกันจัดการขยะลาสติกอย่างยั่งยืน ในโครงการ ‘มือวิเศษxวน โดย PPP Plastics’
ศักดิ์ชัย กล่าวว่า โครงการ ‘มือวิเศษxวน โดย PPP Plastics’ ถือเป็นโครงการขับเคลื่อน การนำพลาสติกสะอาดกลับไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำวนกลับมาใช้งานได้อีกหลายรอบแบบไม่รู้จบ เพื่อทำประโยชน์ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
“ในระยะแรก มีการตั้งจุด ‘ถังวนถุง’ ไปแล้วกว่า 300 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จ.ชลบุรี และจ.ระยอง เพื่อรับบริจาคถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกที่ใช้แล้ว 12 ชนิด ได้แก่ ถุงชอปปิง ถุงหูหิ้วพลาสติก ห่อผ้าอ้อม ฟิล์มพลาสติกหุ้มขวดน้ำ ฟิล์มหุ้มแพ็กนม ฟิล์มกันกระแทกพลาสติกที่มากับสินค้าส่งถึงบ้าน ซองไปรษณีย์พลาสติก ถุงขนมปัง ถุงซิปล็อกซองยา ถุงน้ำตาลทราย ถุงน้ำแข็ง ถุงใส่ผักผลไม้” เขาเปิดเผย
“ขยะพลาสติกเหล่านี้จะถูกนำกลับไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกที่ใช้ในการผลิตถุงหูหิ้ว ถุงชอปปิ้ง และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ เพื่อไม่ให้พลาสติกเหล่านี้หลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อมและไม่ไปที่หลุมฝังกลบ เป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องขยะพลาสติกในทะเล และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน”

ภาคประชาชนเสนอแง่มุม ปรับปรุงโครงการให้ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น
แม้ว่านักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง จะเห็นร่วมกันว่า โครงการดังกล่าวมีแนวคิดริเริ่มที่ดี แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องที่สามารถปรับปรุงให้การดำเนินโครงการดียิ่งขึ้นได้
วรุณ วารัญญานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste ให้ความเห็นว่า โครงการหมุนเวียนพลาสติกด้วยจุดดร็อปพอยต์ ถือเป็นโครงการที่ดี โดยถ้าทำได้จริง จะสามารถช่วยแก้ปัญหาล้นโลกได้ เพราะเรานำของเดิมกลับมาใช้ การใช้พลาสติกใหม่ก็จะลดลง
อย่างไรก็ตาม วรุณ ตั้งข้อสังเกตว่า จากการที่ตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการโครงการ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังติดอะไรหลายอย่างที่ทำให้โครงการอยู่ได้ยาก เช่น ราคาพลาสติกในไทยไม่แพงจึงทำให้ตัวโครงการยังไม่สามารถเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรได้ด้วยตนเอง จึงเกิดความยั่งยืนได้ยาก
“แม้การรีไซเคิลยังไม่ตอบโจทย์สังคมไทยตอนนี้ แต่ต้องยอมรับว่าภายใต้ระบบทุนนิยม ไม่มีทางที่เราจะไม่สร้างขยะ การรีไซเคิลขยะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แม้ไม่ยั่งยืนแต่จำเป็นต่อสิ่งแวดล้อม” เขากล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง