เผยรายงานใหม่รับสัปดาห์งดเนื้อโลก ชี้สเต็กเนื้อในภัตตาคารจีน มีส่วนทำลายป่าอเมซอน

รายงานการศึกษาชิ้นใหม่เผย ความต้องการบริโภคเนื้อวัวที่สูงขึ้นของจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ป่าอเมซอนถูกเผาและตัดถางอย่างรวดเร็ว เพื่อขยายพื้นที่การผลิตอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในบราซิล ด้านเครือข่ายรณรงค์การทานอาหารมังสวิรัตินานาชาติ เชิญชวนคนรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกงดทานเนื้อสัตว์อย่างน้อยหนึ่งมื้อต่อวัน ชี้การลดการบริโภคเนื้อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดโลกร้อนได้

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา สำนักข่าว Chinadialogue รายงานอ้างอิงผลการศึกษาชิ้นใหม่โดย Trase ซึ่งเปิดเผยว่า ความต้องการบริโภคเนื้อวัวที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศจีนเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายป่าอเมซอน ในประเทศบราซิล กว่า 45,000 เฮกตาร์ (ราว 281,250 ไร่) คุกคามสายพันธุ์พืชและสัตว์ท้องถิ่นกว่า 137 สายพันธุ์ให้เสี่ยงสูญพันธุ์มากขึ้น และนำไปสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 13.1 ล้านตัน (เทียบเท่ากับปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานภาคครัวเรือนกว่า 1 ล้านครอบครัว) ในช่วงเวลาเพียงปีเดียวระหว่าง พ.ศ.2560

ป่าอเมซอน
ภาพการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าอเมซอน จากการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงวัวเนื้อในบราซิล //ขอบคุณภาพจาก: NASA Earth Observatory

รายงานการศึกษาของ Trase ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการบริโภคเนื้อวัวในจีนเพิ่มขึ้นกว่า 62% จนจีนขึ้นแท่นเป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อวัวรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยกว่า 40% ของความต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อวัวของจีน นำเข้ามาจากประเทศบราซิล ซึ่งกว่า 70% ของเนื้อวัวนำเข้าจากบราซิลเหล่านี้มีที่มาจากฟาร์มปศุสัตว์ในพื้นที่ป่าอเมซอนดั้งเดิมจากภูมิภาค Amazon และ Cerrado ทางตอนกลางของบราซิล

ในขณะที่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบราซิลก็ได้ออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมปศุสัตว์ จนนำไปสู่ขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงวัวเนื้อขนานใหญ่เข้าไปในพื้นที่ป่าอเมซอน ซึ่งเป็นระบบนิเวศป่าดิบเขตร้อนที่ใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

โดยการศึกษาดังกล่าวระบุว่า จากข้อมูลปี พ.ศ.2562 บราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อวัวรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก มีปริมาณการส่งออกเนื้อวัวกว่า 1.9 ล้านตัน/ปี อย่างไรก็ดี การขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงวัวเนื้อเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตเนื้อวัวในบราซิล ส่งผลให้เกิดการทำลายป่าอเมซอนกว่า 113,000 เฮกตาร์ (ราว 812,500 ไร่) และนำไปสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงราว 37.1 ล้านตัน/ปี

ล่าสุดยังพบว่าอัตราการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อวัวบราซิลไปยังประเทศจีนยังคงทะยานไม่หยุดในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ.2563 แม้ว่าทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ตาม โดยระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม ที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกเนื้อวัวบราซิลไปยังจีนเพิ่มขึ้นถึง 400,000 ตัน เป็นปริมาณที่สูงขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกของปีก่อนทั้งปี

นอกจากนี้ รายงานวิจัยโดย Trase ระบุว่า จากการวิเคราะห์ส่วนแบ่งการตลาดอุตสาหกรรมเนื้อวัวในบราซิล พบว่า กว่า 70% ของการผลิตเนื้อวัวเพื่อส่งออกของประเทศบราซิล มาจากเพียง 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ ดังนั้น รัฐบาลจีนและบริษัทผู้นำเข้าเนื้อวัวในจีน จึงเป็นผู้ที่มีศักยภาพที่สุดในการแก้ไขปัญหาการทำลายป่าจากอุตสาหกรรมเนื้อวัวบราซิล

André Vasconcelos หนึ่งในทีมนักวิจัย Trase ในการศึกษาชิ้นดังกล่าว ชี้ว่า ผลการศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ความต้องการบริโภคเนื้อวัวที่พุ่งสูงขึ้นในจีนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับปัญหาการบุกรุกทำลายป่าอเมซอน ดังนั้นรัฐบาลจีนและบริษัทจีนผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อวัวจากประเทศบราซิล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศโลกที่เกิดจากการทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เลี้ยงวัวเนื้อในภูมิภาคอเมซอน และออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบและแก้ปัญหาการบุกรุกป่าอย่างผิดกฎหมายโดยด่วน

ป่าอเมซอน
แผนภาพการบุกรุกเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าอเมซอนเป็นพื้นที่ทำฟาร์มปศุสัตว์ //ขอบคุณภาพจาก: NASA Earth Observatory

ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักรณรงค์การทานมังสวิรัติทั่วโลก ได้ออกแคมเปญเชิญชวนให้ผู้รักสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกร่วมกันลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ โดยหันมาทานอาหารปลอดเนื้ออย่างน้อยวันละหนึ่งมื้อเนื่องในสัปดาห์งดทานเนื้อสัตว์โลก (World Meat Free Week) ประจำปีพ.ศ. 2563 ระหว่างวันที่ 15 – 21 มิถุนายน นี้

เครือข่ายรณรงค์อาหารมังสวิรัติ เผยว่า อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง จากปัญหามลพิษทางน้ำและอากาศจากของเสียปศุสัตว์ การใช้แย่งชิงทรัพยากรที่ดินและน้ำ รวมไปถึงส่งเสริมให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าขนานใหญ่เพื่อขยายพื้นที่เลี้ยงสัตว์ อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งแหล่งปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ ที่ส่งผลให้สภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น โดยรายงานการศึกษาของ Chatam House และ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชี้ว่า กว่า 14.5% ของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมาจากอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์

FAO ยังคาดการณ์อีกว่า หากประชากรโลกยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราปัจจุบัน และยังคงพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์เช่นนี้ คาดว่าในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) อัตราความต้องการเนื้อสัตว์จะยิ่งพุ่งสูงขึ้นอีกถึง 200 ล้านตัน/ปี ยิ่งก่อให้เกิดการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ทำให้ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพโลกตกภายใต้แรงกดดันจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมหนักยิ่งขึ้น เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพภูมิอากาศโลกตามสนธิสัญญา Paris Agreement และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง