ภาครัฐและภาคเอกชนประสานความร่วมมือ ผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน เนื่องในวาระวันทะเลโลก ประจำปี พ.ศ.2563 หลังพบว่าทะเลไทยกำลังเผชิญปัญหาขยะพลาสติกรุนแรงขึ้น จากปริมาณขยะพลาสติกและขยะหน้ากากอนามัยที่พุ่งสูงขึ้นช่วงวิกฤตไวรัส COVID-19
เมื่อวันทะเลโลก วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ได้รับมอบนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการขยะทะเลจากผู้แทนภาคเอกชน และปล่อยทุ่นกักขยะเพื่อดักจับขยะก่อนไหลลงสู่ทะเล ร่วมกับ ผู้แทนจากหลายภาคส่วน ผ่านการประชุมทางวีดิทัศน์ ภายใต้ธีม ‘นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของมหาสมุทร’ (Innovation for a Sustainable Ocean)

โดยในโอกาสนี้ เอสซีจี ได้ส่งมอบ “นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ จาก HDPE-Bone” หรือ SCG-DMCR Litter Trap Generation 2” อันเป็นผลงานการพัฒนาร่วมกันระหว่าง ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อนำไปติดตั้งในแม่น้ำลำคลองสาขาต่างๆ เพื่อช่วยให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับมอบ ณ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เจริญชัย ประเทืองสุขศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุง จำกัด (REPCO) ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า จากข้อมูลของ ทช. ประเทศไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลกที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเล โดยขยะทะเลมีแหล่งกำเนิดจากกิจกรรมบนบกร้อยละ 80 และไหลลงสู่ทะเลผ่านทางแม่น้ำลำคลอง ดังนั้นเอสซีจี ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรทะเลชายฝั่งผ่านโครงการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีด้านวัสดุพลาสติก สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยปกป้องและฟื้นฟูท้องทะเล
“เอสซีจี ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พัฒนาทุ่นกักขยะลอยน้ำ ตั้งแต่ปี 2562 และนำไปติดตั้งบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับทะเลแล้วกว่า 24 ชุด ในพี้นที่ 13 จังหวัด เพื่อป้องกันขยะรั่วไหลจากแม่น้ำสู่ทะเล และสามารถกักขยะได้กว่า 40 ตัน” เจริญชัย กล่าว
“เนื่องในวันทะเลโลกปีนี้ เอสซีจีได้ปรับปรุง ทุ่นกักขยะลอยน้ำ รูปแบบใหม่จาก HDPE-Bone หรือ SCG-DMCR Litter Trap Generation 2 ซึ่งผลิตด้วยวัสดุลอยน้ำจากเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนที่มีสารกันรังสียูวี หรือ “HDPE-Bone” ทำให้ทุ่นกักขยะลอยน้ำรุ่นใหม่นี้มีความแข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานกว่า 25 ปี รวมทั้งง่ายต่อการประกอบและติดตั้งยิ่งขึ้น และได้นำมามอบให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้การจัดเก็บขยะในแม่น้ำลำคลองมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
ด้านที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยุทธพล อังกินันทน์ ได้กล่าวระหว่างพิธีเปิดกิจกรรม “วันทะเลโลก” ปี พ.ศ.2563 ที่ ชายหาดชมจันทร์ ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ว่า ถึงแม้วิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จะทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลหลายแห่งสะอาดขึ้นจากกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวที่ลดลง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือปริมาณขยะพลาสติกและขยะหน้ากากอนามัยที่พุ่งสูงขึ้นกำลังกลายเป็นปัจจัยเสริมให้ปัญหาขยะทะเลรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาขยะทะเลเกือบทั้งหมดล้วนมาจากกิจกรรมการใช้ชีวิตบนชายฝั่ง

“ปีก่อนเราลดอันดับประเทศไทยจากประเทศที่ปล่อยขยะทะเลมากที่สุดในโลก อันดับ 6 ลงไปอยู่อันดับที่ 10 ฉะนั้นปีนี้เราต้องทำให้ได้ดีกว่าเดิม เนื่องในวันทะเลโลก 8 มิถุนายน ขอให้พี่น้องประชาชนไทยทุกคนตระหนักว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ใกล้หรือไกลจากทะเล เพียงแค่ลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวัน พกถุงผ้าแทนการรับถุงพลาสติกหูหิ้ว และช่วยกันคัดแยกขยะและทิ้งให้ถูกที่ ไม่ทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง ก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลด้วยกันได้ทั้งหมด” ยุทธพล กล่าวย้ำ
ในขณะที่ เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ และ ผู้ร่วมก่อตั้งเพจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อดัง ReReef ได้ให้ความเห็นว่า ขยะพลาสติกไม่ใช่ตัวร้ายที่สุดถ้าหากมันถูกใช้อย่างคุ้มค่า แต่ที่สำคัญคือต้องร่วมกันหาแนวทางว่าทำอย่างไรที่แบบใช้คุ้มค่าที่สุด หรือหากลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่เอื้อให้ผู้ผลิตมีบทบาทในการรับผิดชอบมากขึ้น มากไปกว่าการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมในผู้บริโภค
“ที่ผ่านมาภาครัฐก็เผชิญปัญหาเชิงประจักษ์ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การที่สิ่งแวดล้อมถูกทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัว และผู้คนส่งเสียงมากขึ้น เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ ผู้บริโภคต้องรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนแล้วก็เรียกร้องให้ถูกจุด และสุดท้ายจะนำมาซึ่งนโยบายที่เหมาะสม” เพชร กล่าว
ทุกวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็นวัน ‘วันมหาสมุทรโลก’ (World Oceans Day) ซึ่งถูกกำหนดขึ้น โดย กลุ่มประชาคมโลก (The Earth Summit) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์ส่งต่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการดูแลอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเลและสร้างจิตสำนึกไปยังประชาชนทั่วโลกให้ร่วมกันใส่ใจดูแลทรัพยากรทางทะเลมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง