นักวิชาการยินดี ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง จ.นครพนม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) แห่งที่ 15 ของประเทศไทย ชี้เป็นพื้นที่เพาะพันธุ์วางไข่สำคัญของปลาแม่น้ำโขง ช่วยอุ้มชูเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารท้องถิ่น หากแต่กระแสการพัฒนาโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างกำลังเป็นภัยคุกคามสำคัญที่อาจทำลายระบบนิเวศที่เปราะบางแห่งนี้
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2563 พุฒิพงศ์ สุรพฤกษ์ โฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้แถลงต่อสื่อมวลชนในการแถลงข่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (The Secretariat of Ramsar Bureau) ว่า พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ แห่งที่ 15 ของไทย และเป็นแรมซาร์ไซต์ ลำดับที่ 2,420 ของโลก โดยมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2562

พุฒิพงศ์ ระบุว่า พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม ที่ได้รับการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ มีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ปากน้ำบ้านไชยบุรี ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน ไปจนถึงบ้านปากยาม ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม มีความยาวทั้งสิ้น 92 กิโลเมตร รวมพื้นที่ทั้งหมด 34,381 ไร่ โดยการกำหนดพื้นที่เสนอแรมซาร์ไซต์ ยึดหลักการสำคัญ คือ ครอบคลุมเฉพาะส่วนที่เป็นตัวแม่น้ำสงครามตอนล่าง และพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามที่ติดกับสองฝั่งแม่น้ำ และพื้นที่ป่าสาธารณะ หรือป่าบุ่งป่าทามที่ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านเห็นชอบ
สำหรับความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง โฆษก ทส. กล่าวว่า พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ประกอบไปด้วยระบบนิเวศหายาก ได้แก่ ป่าบุ่งป่าทาม หรือป่าน้ำท่วมผืนใหญ่ มีความสำคัญในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาน้ำจืด เป็นแหล่งประมงพื้นบ้านที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งอพยพเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลาก พบความหลากหลายของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 124 ชนิด พันธุ์พืช 208 ชนิด รวมทั้ง ดังนั้นพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่างจึงมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจอย่างยิ่ง
หนึ่งในทีมนักวิชาการที่ร่วมผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่างให้เป็น แรมซาร์ไซต์ สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ว่า เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่ในที่สุด พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่างที่มีความสำคัญสูงทั้งทางด้านระบบนิเวศและวิถีความเป็นอยู่ชุมชนแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น แรมซาร์ไซต์ แห่งล่าสุดของไทย ซึ่งจะช่วยเสริมให้มีการอนุรักษ์ดูแลพื้นที่แห่งนี้ได้ดียิ่งขึ้นหลังจากที่ภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมผลักดันการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง อันเป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงแห่งท้ายๆ ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนามากนัก และยังคงสภาพระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทามที่ยังคงความสมบูรณ์ที่สุดของลุ่มน้ำโขง มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2557
“การขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์จะช่วยให้การอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและง่ายดายขึ้น เพราะจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการอนุรักษ์ดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำจากเงินกองทุนอนุสัญญาฯ ตลอดจนองค์กรนานาชาติอื่นๆ ทั้งยังช่วยผลักดันให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องออกมาตรการและบังคับใช้กฎหมายในการดูแลพื้นที่อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น” สันติภาพ กล่าว
“การรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ให้คงความสมบูรณ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากพื้นที่ป่าและทุ่งน้ำท่วมในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำสำคัญของทั้งลุ่มน้ำโขง ชาวบ้านในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และบริการด้านระบบนิเวศ จากการหาปลาในฤดูน้ำหลาก และการทำเกษตร (นาทาม) ในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นหลักประกันต่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจชุมชน”

อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่า กระแสการพัฒนาโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าหลายแห่งในลุ่มน้ำแม่น้ำโขงตอนล่างขณะนี้ กำลังเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อการอนุรักษ์ดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศแห่งนี้
“แม่น้ำสงครามเป็นหนึ่งในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศแม่น้ำโขง ระบบนิเวศแม่น้ำสงครามจึงเชื่อมโยงกับระบบนิเวศของทั้งลุ่มแม่น้ำโขง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำและสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานของเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง จึงไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแม่น้ำโขง แต่ยังสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศย่อยในลุ่มน้ำสงครามอีกด้วย” เขากล่าว
“จากวิกฤตการณ์ภัยแล้งครั้งประวัติการณ์ และการขึ้นลงของระดับน้ำโขงผันผวนผิดฤดูกาลเมื่อปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เขื่อนที่มีอยู่แล้วในแม่น้ำโขงขณะนี้ได้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา รวมไปถึงระบบนิเวศลุ่มน้ำสงครามอย่างหนัก”
ดังนั้น เขาเตือนว่า การลงทุนโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอีกทั้ง โครงการเขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย และเขื่อนสานะคาม ซึ่งห่างจากชายแดนไทยเพียง 2 กิโลเมตร ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของทั้งลุ่มน้ำโขงหนักยิ่งขึ้นไปอีก
“ลุ่มน้ำโขงไม่ควรมีเขื่อนเพิ่มขึ้นอีกแล้ว” เขากล่าวย้ำ
อนึ่ง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน 45 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์การผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าล่าสุดบนลำน้ำโขงตอนล่าง
โดยเครือข่ายฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อปัญหาผลกระทบด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำโขงจากการดำเนินงานของเขื่อนต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง ทบทวนจุดยืนในการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงทั้งหมด เปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาชนในการร่วมแก้ปัญหา และเสนอทางเลือกด้านการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน

รักษ์แม่น้ำสงคราม
ข้อมูลจาก สผ. ระบุว่า แรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นตัวแทนหายากหรือมีลักษณะพิเศษเฉพาะ ที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาชุมชนประชากรทางนิเวศของ นกน้ำ และปลา ในระดับนานาชาติ
โดยในปัจจุบัน ทั่วโลกมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ทั้งหมด 2,390 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 253,875,627 เฮกตาร์ สำหรับประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ ทั้งหมด 15 แห่ง ได้แก่
- พรุควนขี้เสี้ยน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ
- ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม
- ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จ.เชียงราย
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส
- อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-หมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง จ.ตรัง
- อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ จ.ระนอง
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี
- อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา
- อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
- พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จ.บึงกาฬ
- เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช
- เกาะระ เกาะพระทอง จ.พังงา
- ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง จ.นครพนม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง