สะท้อนเสียงเกษตรกรไร่ข้าวโพดรัฐฉาน เผยระบบเกษตรพันธสัญญาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เปลี่ยนจากฝันหวานว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้าน กลายเป็นฝันร้าย หลังพบระบบเปิดช่องให้ชาวไร่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จมปลักในวังวนหนี้สิน ไร้ความมั่นคงในชีวิต ชี้เกษตรกรรายย่อยยากจนกระทบหนักสุด ถึงขั้นถูกยึดที่ดินใช้หนี้ แถมสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมซ้ำเติม จนต้องเสี่ยงโชคมาขายแรงงานเมืองไทย
ด้านผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการระบุ การลงทุนข้าวโพดข้ามพรมแดนสร้างปัญหาลึกกว่าหมอกควันข้ามพรมแดน หลังหลายรายงานการศึกษาเผยตรงกันว่า การทำไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยวในระบบเกษตรพันธสัญญา ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นในทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากทั้งปัญหาหนี้สิน การสูญเสียที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่นคงทางอาหาร
พร้อมกันนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้ย้ำให้ภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐทั้งในท้องที่ และประเทศไทย เพิ่มมาตรการกำกับดูแลการลงทุนไร่ข้าวโพดเกษตรพันธสัญญาข้ามพรมแดน และปรับปรุงระเบียบสัญญาการทำเกษตรให้มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ยกระดับมาตรฐานการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความยั่งยืนของทั้งชุมชนและธรรมชาติ

ชีวิตจริงที่ล้มละลายของชาวไร่ข้าวโพด
จากมุมสูง ภูมิทัศน์ของหมู่บ้าน Tha Yat Pin Hla ในเขตเมืองตองจี ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ประเทศพม่า ในยามฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพด ราวเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ คือภาพของท้องทุ่งข้าวโพดสีเหลืองทองทอดยาวสุดลูกหูลูกตา สลับแซมบ้างด้วยบ้านเรือนเกษตรกร และป่าหย่อมเล็กหย่อมน้อย ดูเป็นภาพชีวิตชนบทที่สงบสุข ข้าวโพดสุกพร้อมเก็บเกี่ยวน่าจะเป็นแหล่งทำเงินชั้นดีของชาวบ้าน หากแต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น
จอโซ หนึ่งในเกษตรกรไร่ข้าวโพด จากหมู่บ้าน Tha Yat Pin Hla เปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ไม่ได้เรียบง่ายสงบสุขอย่างที่วาดหวังไว้ แต่กลับต้องเผชิญปัญหารุมเร้ามากมาย ทั้งจากหนี้สินภาคเกษตรที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้หลายครอบครัวต้องสูญเสียที่ดินทำกิน หรือต้องละทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิมและครอบครัว ย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่ หรือข้ามพรมแดนมาเป็นลูกจ้างแรงงานที่ประเทศไทย
“นี่เป็นปีที่ย่ำแย่มากๆ เพราะนอกจากเราจะเจอภัยแล้งอย่างหนัก จนผลผลิตข้าวโพดเสียหายแล้ว เรายังต้องใช้ยาฆ่าแมลงมากขึ้นเพื่อกำจัดแมลงและโรคพืชที่ระบาดหนักขึ้นช่วงภัยแล้ง นอกจากนี้ราคาข้าวโพดยังตกต่ำลงมาก จนขายข้าวโพดไม่ได้ราคา” จอโซ กล่าว
“ราคาข้าวโพดปีนี้ตกต่ำเหลือเพียงราวเอเคอร์ละ 400,000 จ้าด (ราว 9,075 บาท) ซึ่งถูกมากเสียจนไม่พอจ่ายหนี้ต้นทุนการปลูกข้าวโพด ที่เราต้องกู้ยืมเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยยา ตอนเริ่มฤดูการผลิต”
อ้างอิงจากรายงานการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พม่าโดย Golden Paddy เผยว่า ในปี 2018 ต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อเอเคอร์ก็สูงถึง 639,000 จ้าด (ราว 14,494 บาท) แล้ว

เขาอธิบายว่า การผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญา เกษตรกรจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเพื่อนามาปลูกในทุกๆ ฤดูกาลผลิต ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เดิมมาปลูกต่อได้ อีกทั้งยังต้องซื้อปุ๋ยยาเพื่อมาบำรุงผลผลิตข้าวโพดอีกด้วย มิเช่นนั้นก็จะไม่ได้ผลผลิตข้าวโพดสูงดังที่หวัง โดยเกษตรกรจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยยาเหล่านี้จากนายหน้าในท้องถิ่น ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์และรับซื้อผลผลิตข้าวโพดจากชาวไร่ให้กับบริษัท
“ก่อนหน้าที่เราจะหันมาทำไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยว นายหน้าบอกกับพวกเราว่า หากเราหันมาทำไร่ข้าวโพด เราจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และเป็นโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวเราได้” จอโซ กล่าว
“แต่ภายหลังพวกเราหันมาทำไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยว เรากลับพบว่าข้าวโพดไม่สามารถทำกำไรได้อย่างที่หวัง เพราะค่าเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยยาราคาแพง อีกทั้งราคาข้าวโพดผันผวน ต้องประสบกับปัญหาทางการเงิน ชาวไร่จำนวนมากขาดทุนย่อยยับจนต้องยอมแลกที่ดินบรรพบุรุษเพื่อชดใช้หนี้สินที่พอกพูนขึ้นทุกที”
จากปัญหาหนี้สินภาคเกษตร และการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร ส่งผลให้ชาวไร่ข้าวโพดหลายๆ คน หมดทางเลือก ต้องบุกรุกถางป่าเพื่อเปิดพื้นที่เกษตรใหม่ ในขณะที่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ก็ต้องจากบ้านเข้าไปหางานทำในเมือง หรือว่าหลบหนีข้ามแดนเข้ามาเป็นแรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทย เพียงเพื่อหารายได้กลับมาจุนเจือครอบครัว
“ผมก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องลักลอบข้ามพรมแดนไปทำงานในไทยเพื่อหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว ผมทำงานเป็นกรรมกรในกรุงเทพฯ กว่า 10 ปี เพิ่งจะมีโอกาสกลับบ้านมาดูแลไร่ข้าวโพดของครอบครัวไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้” จอโซ กล่าว
“การลักลอบไปทำงานเมืองไทยมีความเสี่ยงอย่างมาก เพื่อนผมหลายคนถูกจับข้อหาลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย บางคนตกกลายเป็นเหยื่อของเครือข่ายค้ามนุษย์ ต้องทำงานเป็นแรงงานทาส แต่เราต้องแบกรับความเสี่ยงนี้และข้ามแดนไปหางานฝั่งไทย เพียงเพื่อให้ครอบครัวที่บ้านมีกิน และใช้หนี้ที่เกิดจากราคาข้าวโพดตกต่ำ”

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไร่ข้าวโพด ยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้สินเกษตรกร
ที่อีกฟากหนึ่งของรัฐฉาน อูเมือง เกษตรกรชาวปะโอ สมาชิกหมู่บ้านหนองเด เขตเมืองตองจี กล่าวว่า เกษตรกรที่นั่นก็ประสบปัญหาหนี้สินจากการปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวเช่นกัน แต่เขาพบว่า ปัญหาของที่นี่มีประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยวซ้อนทับเข้าไปด้วย ทำให้เกษตรกรที่นี่ยิ่งจมกับดักหนี้สินภาคเกษตร และเผชิญปัญหาการสูญเสียที่ดินและปัญหาสังคมอื่นๆ จากหนี้สินไร่ข้าวโพดสาหัสยิ่งขึ้น
“พื้นที่ไร่ข้าวโพดกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตานี้เคยเป็นพื้นที่ป่ารกมาก่อนทั้งหมด แต่ป่าดั้งเดิมถูกถางไปเกือบหมดเพื่อเปิดพื้นที่ทำไร่ข้าวโพดเมื่อราว 11 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ช่วงแรกๆ ที่เราทำไร่ข้าวโพด เราจึงได้ผลผลิตมาก มีรายได้เป็นกอบเป็นกำเพราะว่าดินป่ามีความอุดมสมบูรณ์สูง” อูเมือง กล่าว
อย่างไรก็ดี เขาตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเวลาผ่านไป ความอุมสมบูรณ์ค่อยๆ ลดต่ำลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับ ปริมาณผลผลิตที่ลดลงทีละน้อยทุกปี ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีเกษตร มากขึ้นทุกทีๆ เพื่อรักษาปริมาณผลผลิตให้ยังคงสูง
อย่างไรก็ดี การใช้สารเคมีเกษตรอย่างหนัก และต่อเนื่องเป็นเวลานานก็ส่งผลข้างเคียงต่อคุณภาพดิน และสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดย อูเมือง กล่าวว่า สุดท้ายแล้วการใช้ปุ๋ยเคมี่ และยาฆ่าแมลงอย่างหนัก กลับทำให้ดินเสื่อมโทรมในระยะยาว และสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีตกค้าง เป็นอันตรายต่อทั้งระบบนิเวศ และสุขภาพของเกษตรกรเอง ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งบุกรุกป่า เพื่อเปิดที่ดินใหม่ที่ยังอุดมสมบูรณ์ สำหรับการทำไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยวเพิ่มขึ้น กลายเป็นวงจรที่ทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมยิ่งย่ำแย่ลงเรื่อยๆ
“ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยวไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของชาวบ้านอย่างหนัก แต่ยังทำให้ต้นทุนการผลิตไร่ข้าวโพด และรายได้จากการขายผลผลิ ตข้าวโพดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสารเคมีตกค้าง ยังทำให้เราไม่สามารถหากินอาหารจากท้องทุ่งได้ และบังคับให้เราต้องใช้เงินที่มีอยู่น้อยนิดซื้อหาอาหาร” เขากล่าว
“อย่างไรก็ดี ข้าวโพดยังถือเป็นพืชความหวังของเรา ดังนั้นผมจึงพยายามหาทางแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรมและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การหันมาใช้ปุ๋ยคอก ปลูกถั่วสลับกับข้าวโพด เพื่อพักดินและลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ไร่ข้าวโพด ในการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้”

รายงานวิจัยชี้ สัญญาที่ไม่เป็นธรรมสร้างปัญหาหนี้ให้เกษตรกร
จากปากคำเกษตรกรไร่ข้าวโพดรัฐฉานที่เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเพาะปลูกไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยว เป็นปัญหาหนักที่ส่งผลกระทบไปทั่ว ผู้เชี่ยวชาญและรายงานวิจัยหลายชิ้นรายงานตรงกันว่า ปัญหาดังกล่าวมีต้นเหตุมาจากการขาดการควบคุมดูแลการลงทุนเพาะปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา จนทำให้เกิดปัญหาการประกอบธุรกิจที่ขาดธรรมาภิบาล
Kewin Woods นักวิจัยเจ้าของบทความการศึกษาในประเด็น โอกาส ความเสี่ยง และความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวในรัฐฉาน” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.2558 ชี้ในรายงานของเขาว่า ปัญหาการขาดความใส่ใจของภาครัฐและภาคธุรกิจในการดำเนินการลงทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวอย่างเป็นธรรม คือต้นตอหลักของปัญหาหนี้สิน สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกษตรกรไร่ข้าวโพดรัฐฉานกำลังเผชิญ
รายงานของ Woods ตั้งข้อสังเกตว่า เกษตรกรไร่ข้าวโพดเกือบทั้งหมดทำสัญญากับนายหน้าอย่างไม่เป็นทางการ ในการทำไร่ข้าวโพดภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ติดต่อโดยตรงกับบริษัทผู้ลงทุน แต่ทำการผลิตแทบทุกขั้นตอนผ่านนายหน้า
รายงานของ Belton et al ในปี พ.ศ.2561 เผยว่า กว่า 99% ของเกษตรกรไร่ข้าวโพดในระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่ในระบบการทำสัญญาการผลิตข้าวโพดเชิงเดี่ยวอย่างไม่เป็นทางการเช่นนี้ และไม่เคยติดต่อโดยตรงใดๆ กับบริษัทผู้ลงทุน
จากปัญหาการขาดสัญญาอย่างเป็นทางการกับบริษัทผู้ลงทุนอุตสาหกรรมเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ Woods วิเคราะห์ในรายงานของเขาว่า สภาพการณ์เช่นนี้เปิดช่องให้นายหน้ามีอำนาจเหนือกว่าเกษตรกร สามารถเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรได้ทุกเมื่อ โดยการเรียกเอาดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราสูง และกดราคารับซื้อผลผลิตข้าวโพดจากเกษตรกร ทำให้เกษตรกรที่จมอยู่กับภาวะหนี้จนถอนตัวไม่ขึ้น ต้องสูญเสียที่ดินให้กับนายหน้า โดยที่บริษัทผู้ลงทุนสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผลเสียที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกร
รายงานของเขายังพบว่า การเปลี่ยนแปลงการผลิตจากเกษตรผสมผสานแบบดั้งเดิมของเกษตรกรรัฐฉาน ไปสู่การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวยังส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาล สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน สุขภาวะและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซ้ำเติมปัญหาความยากจนเข้าไปอีก

รายงานของ Woods เสนอว่า ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาดังกล่าว คือการรณรงค์ให้ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมีมาตรการในการกำกับดูแลกิจการลงทุนไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยวให้เข้มงวดกว่านี้ โดยอย่างน้อยที่สุด เกษตรกรจะต้องได้เซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการโดยตรงกับทางบริษัท สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่ได้รับการยอมรับ และสามารถรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์การเกษตรเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับนายหน้าและบริษัทผู้ลงทุนได้
ตะวัน ห่างสูงเนิน ประธานมูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินเกษตรกรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการลงทุนไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยวในรัฐฉาน เป็นผลพวงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สูงขึ้นในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทผู้ลงทุนกิจการไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศไทย
แม้ว่าหลายรายงานระบุตรงกันว่า ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากรัฐฉานน้อยกว่า 5% จะถูกส่งเข้ามายังตลาดในประเทศไทย แต่ตะวันชี้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว อาจมีข้าวโพดที่ปลูกอย่างไม่เหมาะสม และสร้างผลกระทบต่อชาวไร่และสิ่งแวดล้อมจากภายนอกประเทศลอบเข้ามาในไทย และเข้าสู่วงจรการผลิตอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในไทยมากกว่านั้นมาก เพราะในทางปฏิบัติเราแทบไม่สามารถสาวต้นตอไปยังแหล่งผลิตข้าวโพดทีใช้ในไทยได้เลย แม้ว่าผู้ประกอบการไทยจะมีมาตรฐานในการรับซื้อข้าวโพดสูงมากก็ตาม
ดังนั้น เขาจึงยืนยันว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในไทยจึงจำเป็นที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และหาทางบรรเทาปัญหาของเกษตรกรไร่ข้าวโพดในรัฐฉานด้วยเช่นกัน
บทความข่าวชิ้นนี้เป็นหนึ่งในรายงานเชิงลึกในประเด็น “การลงทุนข้าวโพดข้ามพรมแดนในรัฐฉาน ประเทศพม่า” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Earth Journalism Network และ Mekong Eye
ข่าวที่เกี่ยวข้อง