ปางช้างใกล้วิกฤต ทส.มีแนวคิดใช้พื้นที่กรมป่าไม้เป็นแหล่งอาหารช้างตกงาน 

ปางช้างทั่วไทยเดือดร้อนหนักทั้งช้างและควาญ ขาดรายได้เป็นเดือนที่สี่ เจ้าของแจ้งอยู่ได้อีกเดือน ปรับเป็นคาเฟ่รับนักท่องเที่ยวไทย มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าเผย หารือกับรมต.ทส.ใช้พื้นที่กรมป่าไม้ บรรเทาค่าใช้จ่ายอาหารช้าง

25 พฤษภาคม พ.ศ.2563 Edwin Wiek ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปางช้างทั่วไทยกำลังเดือดร้อนหนัก เนื่องจากขาดรายได้เหยียบเดือนที่สี่และมีแววไร้นักท่องเที่ยวต่างชาติอีกหลายเดือน เขาเผยว่า เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน ได้หารือเรื่องแนวทางช่วยเหลือกับ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิดใช้พื้นที่ป่าสงวนในความดูแลกรมป่าไม้เป็นแหล่งอาหารช้างตกงานเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่าย ซึ่งช้างเป็นสัตว์กินอาหารปริมาณมาก คิดเป็น 60% ของค่าใช้จ่าย

หลังจากการพูดคุยวันนั้น เขายังคงรอการดำเนินการต่อจากทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้ติดต่อกับทางกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าว ได้รับคำตอบว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมข้อมูลซึ่งใช้เวลาราวสัปดาห์-สองสัปดาห์

“ปางช้างเดือดร้อนมาก แต่รัฐไม่ช่วยอะไรเลย เจ้าหนึ่งที่เชียงรายก็ล้มละลายเมื่อวานก็มีควาญพาช้างมามูลนิธิ ขอร้องให้เราช่วยดูแล แต่เรารับไม่ไหวแล้ว” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิที่ดูแลสัตว์หลากหลายกว่า 700 ชีวิต ว่า เขามีความคิดจะนัดคุยกับเจ้าของปางช้างแล้วจัดแถลงข่าวแสดงความเดือดร้อน แม้ปางช้างในไทยจะมีหลากหลายรูปแบบและวิธีการดูแลสัตว์ต่างกัน ทว่าทุกคนล้วนอยากให้ช้างอยู่ดีกินดี

อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นชื่อเรื่องแหล่งท่องเที่ยวชมช้าง มีปางช้าง 49 แห่ง เมื่อปิดทำการ  ควาญช้างกะเหรี่ยงหลายรายเลือกพาช้างกลับภูมิลำเนา / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ด้านเจ้าของปางช้างรายหนึ่ง ปทิตตา ไตรเวทย์ ประธานคณะกรรมการ Elephant jungle sanctuary ปางช้างเชิงอนุรักษ์ในหัวเมืองท่องเที่ยวสี่แห่ง เผยว่านักท่องเที่ยวลดน้อยลงมากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนกระทั่งปิดทำการ ทว่ายังมีค่าใช้จ่ายดูแลช้าง 110 เชือกทุกวัน หากไม่กู้-เปิดรับบริจาค อาจแบกรับค่าใช้จ่ายได้ถึงเดือนหน้า

“ค่าอาหารช้างเดือนหนึ่งเราใช้เกือบ 500,000 บาท ช้างกินอาหาร 10% ของน้ำหนักตัว โดยเฉลี่ยประมาณ 200 กิโลกรัมต่อวัน แต่มันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องดูแล”

ไม่ใช่แค่ช้างที่เดือดร้อน คนเลี้ยงช้างเองก็เดือดร้อนเช่นกัน ช้างหนึ่งเชือกจะมีควาญดูแลหนึ่งคน ปทิตตาเล่าว่าต้องปรับเงินเดือนควาญลดลงกึ่งหนึ่ง และแม้ควาญจะยื่นเรื่องรับเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่โดนปฏิเสธทั้งหมด

ควาญช้างหลายคนตัดสินใจกลับภูมิลำเนา ชีวาโนนท์ คาลี ผู้จัดการปางช้างแห่งหนึ่งที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าควาญชาวกะเหรี่ยงหลายรายตัดสินใจพาช้างกลับภูมิลำเนาเพื่อไปทำเกษตรหรือรับจ้างทั่วไป บางรายจ้างรถมาเคลื่อนย้ายช้างกลับบ้าน บางรายเดินเท้ากลับประมาณสี่ห้าวัน ชาวกะเหรี่ยงมีวิถีชีวิตอยู่กับช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงถือเป็นครอบครัวที่ทอดทิ้งไม่ได้

ควาญช้างขนหญ้าเนเปียให้อาหารช้าง เจ้าของปางจะสั่งซื้อและเช่าพื้นที่ปลูกหญ้าเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นอาหาร / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ปัจจุบัน ช้างในประเทศไทยมี 2 ประเภท คือ ช้างป่ากับช้างเลี้ยง สมัยก่อนช้างเลี้ยงทำหน้าที่ลากซุง แต่ปัจจุบันประเทศไทยห้ามตัดไม้ ช้างเลี้ยงจึงปรับมาทำงานในวงการท่องเที่ยว มีทั้งปางช้างที่เปิดให้นักท่องเที่ยวขี่ช้าง ดูโชว์การแสดง หรือเป็นแนวอนุรักษ์ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมกับช้างตามพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น อาบน้ำและเดินในป่า 

กรมปศุสัตว์รายงาน ว่าประเทศไทยมีช้างเลี้ยง 2,459 เชือก จากปางช้าง 235 แห่ง

ทางออกของปางช้างจะแก้ด้วยการปล่อยช้างคืนสู่ป่าได้หรือไม่ ปทิตตา เจ้าของ Elephant jungle sanctuary ให้ความเห็นว่า

“หลายคนถามว่าเราทำปางช้างทำไม ไม่ปล่อยช้างกลับสู่ป่า การส่งช้างกลับเข้าป่าอาจจะไม่ใช่ทางที่ดีกับตัวช้าง เพราะมันคือการดูแลที่ต่างกัน ช้างเลี้ยงเคยชินกับการอยู่แบบช้างบ้านจึงกลับเข้าป่าไม่ได้แล้ว และประเทศไทยพื้นที่ป่าน้อยลง หากเราปล่อยเข้าป่า อาจจะเกิดปัญหาช้างหลุดเข้าไปหากิน ทำลายพื้นที่ไร่ สร้างความขัดแย้งกับชาวบ้าน”

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ปางช้างเธอพยายามหารายได้เลี้ยงช้างด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ เปิดรับบริจาค , ขายสินค้าที่ระลึกออนไลน์ และเปิดร้าน กาแฟ – อาหาร “Elephant Jungle Cafe” บริเวณกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เชิญชวนชาวไทยมาทานอาหารแล้วถ่ายรูปคู่ช้าง ส่วนการช่วยเหลือจากภาครัฐที่เธอได้รับมีเพียงท่องเที่ยวไทย (ททท.) ช่วยประชาสัมพันธ์ช่องทางรับบริจาค ผ่าน #ช้างอิ่มท้องเราอิ่มใจ 

ด้านมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ จากภาครัฐ สำนักข่าว บีบีซีไทย รายงานเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ว่า กรมปศุสัตว์พร้อมให้ความช่วยเหลือเรื่องอาหาร ยารักษาโรคและค่าเคลื่อนย้ายช้างได้ โดยผู้เลี้ยงช้างที่เดือดร้อนสามารถติดต่อสำนักปศุสัตว์จังหวัด 

———————————————————————

ร่วมบริจาคให้ปางช้างในไทยได้ที่ #ช้างอิ่มท้องเราอิ่มใจ