เปิดกรณีศึกษาด้านการจัดการน้ำของ ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น หนึ่งในชุมชนสู้ภัยแล้งต้นแบบในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” เผย การบริหารจัดการน้ำจากที่สูงด้วยการดักน้ำ และสร้างแก้มลิงให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่เกษตร คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ ชุมชนป่าภูถ้ำ ยังมีน้ำท่าบริบูรณ์ แม้ในสถานการณ์ภัยแล้งครั้งประวัติการณ์
พิชาญ ทิพวงษ์ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต เปิดเผยความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ภายหลังได้เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่สูง จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สนนก. ทำให้สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ พร้อมกับสามารถฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่ากว่า 2,800 ไร่ จึงทำให้พื้นที่เป็นป่าเขียว พร้อมกับเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงตัวเองในชุมชนได้

“พื้นที่นี้มีสภาพฝนดี 2 ปี และแล้ง 4 ปี จึงทำให้ชุมชนต้องเผชิญทั้งภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมซ้ำซากวนเวียนมากว่า 40 ปี ซึ่งช่วงที่แล้งที่สุด คนในหมู่บ้านกว่า 300 คน ต้องยืนต่อคิวอาบน้ำในบ่อน้ำบ่อเดียวกัน ส่วนน้ำดื่มต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 ตี 3 ไปตักน้ำในบ่อน้ำตื้นใกล้ป่าภูถ้ำ และเมื่อสิ้นฤดูเพาะปลูก ไม่มีน้ำ คนหนุ่มสาวต่างก็อพยพไปรับจ้างขายแรงงานต่างถิ่น บางคนไปเป็นชาวประมงหาปลาในทะเล บางคนทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ โอกาสที่จะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว ก็เฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา และออกพรรษาเท่านั้น” พิชาญ เล่าถึงสถานการณ์ปัญหาความแห้งแล้งที่ชุมชนเคยต้องเผชิญ
อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า ภายหลังจากที่ชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำจาก ดร.รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษา สสนก. ชุมชนจึงได้เรียนรู้วิธีการสำรวจพื้นที่ และพบว่าปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่ชุมชนเกิดจากปัญหาการขาดแคลนพื้นที่เก็บน้ำ ดังนั้นถึงแม้ว่ามีฝนตกในพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้
ด้วยเหตุนี้ ชุมชนจึงลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยการบริหารจัดเก็บน้ำจากที่สูงด้วยการดักน้ำ ต้อนน้ำไปในทิศทางที่ต้องการ ขุดแก้มลิงในพื้นที่เกษตร ให้เป็นแหล่งน้ำประจำไร่นา ชุมชนจึงมีแหล่งกักเก็บน้ำถึง 1 แสนลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้พอเพียงได้อีก 4-5 ปี โดยไม่เดือดร้อนแม้จะเจอกับภัยแล้ง จากนั้นจึงเริ่มเรียนรู้การจัดรูปที่ดินตามเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้สามารถปลูกพืชได้หลากหลาย
“หลังจากมีการจัดรูปที่ดินตามเกษตรทฤษฎีใหม่ มีแหล่งน้ำประจำไร่นา ก็สามารถปลูกพืชหลากหลายมากขึ้นจากเมื่อก่อนปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปัจจุบันปลูกผักหวาน ข่า ตะไคร้ มะนาว ฝรั่ง มะละกอ แตง ฟักทอง พืชผักป่าที่ใช้น้ำน้อยเก็บขายตามฤดูกาล ทำให้เกษตรกรที่อพยพไปทำงานต่างถิ่นได้กลับมาอยู่ในพื้นที่ของตัวอง มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จากเดิม 30,000 – 50,000 บาท/ปี เป็น 120,000 บาท/ปี และช่วยให้รายจ่ายโดยเฉพาะค่าอาหารลดลงกว่าเดือนละ 3,000 บาท ทำให้อยู่รอดผ่านภัยแล้งได้ในปัจจุบัน” เขากล่าว

เขาสรุปบทเรียนจากความสำเร็จของการร่วมมือลงแรงกันจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมที่ชุมชนป่าภูถ้ำว่า หัวใจของการสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรของชุมชน คือการน้อมนำ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางให้ชุมชนเรียนรู้การแก้ปัญหา และรู้จักจัดการตัวเอง และลงมือ ช่วยให้ชุมชนรอดพ้นวิกฤตภัยแล้ง สามารถเข้าถึงอาหารอย่างพอเพียง และมีรายได้อย่างยั่งยืน
“พี่น้องชุมชนที่ยังไม่รู้จักจัดการตัวเอง อย่ารอคนอื่นมาแก้ไขปัญหา เมื่อน้ำคือชีวิต ทุกคนต้องการน้ำ เราต้องลุกขึ้นมาร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อที่จะรอดแล้งในปี 2563 ด้วยการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม จึงมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง มีรายได้เพิ่มขึ้น คนไม่อพยพแรงงานไปในเมือง ป่าต้นน้ำมีความเขียวชอุ่ม แม้ในฤดูแล้ง” พิชาญ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง