ข้อมูลดาวเทียมยืนยัน แม่น้ำโขงเผชิญภัยแล้งครั้งประวัติศาสตร์เพราะเขื่อนจีนกักเก็บน้ำ แม้ทางการจีนแถลงโต้ว่าข้อมูลไม่เป็นความจริง ในขณะที่นักวิชาการรัฐศาสตร์เรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศในลุ่มน้ำโขงทั้ง MRC และ LMC รวมถึงชาติสมาชิก จะต้องปฏิรูปแนวทางการบริหารจัดการแม่น้ำโขงให้โปร่งใส คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนตลอดทั้งลุ่มน้ำเป็นสำคัญ

ศูนย์วิจัยสหรัฐ Stimson Center ออกรายงานการศึกษาชิ้นใหม่เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2563 ยืนยันว่า สภาวะภัยแล้งรุนแรงในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างช่วงปีก่อน เป็นผลจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนทางการจีน จนทำให้เกิดวิกฤตระดับน้ำแม่น้ำโขงลดต่ำผิดปกติครั้งประวัติศาสตร์
จากข้อมูลการศึกษาเผยว่า ระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างประสบความแห้งแล้งอย่างหนัก ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีนกลับได้รับปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติ ผลการศึกษาข้อมูลดาวเทียมยังบ่งชี้ว่า เขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีนยังมีความชื้นในดินสูงกว่าที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าที่ราบทิเบตอันเป็นแหล่งกำเนิดน้ำในแม่น้ำโขงไม่ได้ประสบภาวะฝนแล้งดั่งที่ทางการจีนกล่าวอ้าง
ดังนั้น ถ้าหากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีนปล่อยน้ำตามปกติ ไม่มีการกักเก็บน้ำ ปริมาณน้ำฝนและการละลายของหิมะที่เพิ่มขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน จะเพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงช่วงระหว่างชายแดนไทย – ลาว ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2562 – เดือนมีนาคมนี้ มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ
ข้อมูลดังกล่าวจึงชี้ชัดว่า เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีนซึ่งปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้วถึง 11 เขื่อน กักเก็บปริมาณน้ำฝนเกือบทั้งหมด ซ้ำเติมให้ภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งเผชิญความแห้งแล้งจากปรากฎการณ์ El Niño อยู่แล้ว ต้องประสบกับวิกฤตน้ำแล้งรุนแรงยิ่งขึ้น
วิกฤตความแห้งแล้งในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างในปี พ.ศ. 2562 มีความรุนแรงมากถึงขนาดช่วงฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำแม่น้ำโขงบางช่วงกลับลดระดับต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดในช่วงฤดูแล้ง และน้ำในแม่น้ำยังกลายเป็นสีครามใส ปราศจากตะกอน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการทำเกษตรและประมงในแม่น้ำโขงของประชาชนทั่วทั้งลุ่มน้ำ ยิ่งไปกว่านั้น ระดับน้ำแม่น้ำโขงที่ลดลงจนแห้งขอดผิดฤดูกาล ยังสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับระบบนิเวศอันซับซ้อนและเปราะบางของแม่น้ำโขง ซึ่งมีความหลากหลายเป็นอันดับสองของโลกรองจากแม่น้ำอะเมซอน


ภายหลังการนำเสนอรายงานการศึกษาของ Stimson Center สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า รัฐบาลจีนได้ออกมาโต้แย้งผลการศึกษาดังกล่าว พร้อมระบุว่าปริมาณฝนในลุ่มน้ำโขงได้ลดน้อยลงตลอดสาย สอดคล้องกับคำกล่าวของ หวัง ลี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ประชุมกรอบล้านช้าง-แม่โขง (LMC) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่า ประเทศจีนเองได้ประสบกับสถานการณ์แล้งไม่ต่างกัน ทว่ายินดีปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อช่วยเหลือประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างรับมือภัยแล้ง
“จีนได้เอาชนะอุปสรรคที่เผชิญอยู่และเพิ่มการปล่อยน้ำจากแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขงตอนบน) เพื่อช่วยเหลือประเทศลุ่มน้ำโขงบรรเทาภัยแล้ง” หวัง ลี้ กล่าว
Carl Middleton ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซี่งศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในบริเวณแม่น้ำโขงมายาวนาน ให้ความเห็นเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นใหม่นี้ว่า
“รายงานชิ้นนี้ท้าทายรัฐบาลจีนโดยตรง ถึงวาทกรรมที่จีนกล่าวอ้างตลอดมาว่า ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำ ได้แบ่งปันน้ำในแม่น้ำล้านช้าง/แม่โขง กับประเทศลุ่มน้ำตอนล่างอย่างยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี พ.ศ.2562 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง”
“ถ้าจีนไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษา ทางการจีนก็ควรนำเสนอหลักฐานข้อมูลการปล่อยน้ำจากเขื่อนของตนในแม่น้ำล้านช้าง (ชื่อเรียกแม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีน) เพื่อโต้แย้งผลการศึกษาดังกล่าว อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ข้อมูลอุทกวิทยาที่ครบถ้วนของแม่น้ำล้านช้าง และข้อมูลการดำเนินการเขื่อนพลังงานไฟฟ้าแบบขั้นบันไดในจีนยังไม่ได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะ”
อาจารย์ Middleton กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงระหว่างประเทศในภูมิภาคอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม สืบเนื่องจากช่องโหว่และข้อบกพร่องของกลไกการร่วมมือระหว่างประเทศ แม้ว่าภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะมีหน่วยงานกลางด้านการจัดการแม่น้ำระหว่างประเทศถึง 2 หน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการธิการแม่น้ำโขง (MRC) ซึ่งตั้งเมื่อยี่สิบห้าปีก่อน และ กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2559
อย่างไรก็ดี Middleton ชี้ว่า กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) ซึ่งมีจีนเป็นตัวตั้งตัวตี และมีประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขงครบทั้ง 6 ประเทศ กลับไม่มีแนวทางที่ชัดเจนต่อการจัดสรรทรัพยากรน้ำร่วมกันในแม่น้ำโขงและการเผยแพร่ข้อมูลน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งกรอบความร่วมมือ LMC นั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในประเทศท้ายน้ำร่วมตัดสินใจนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเท่าใดนัก
ในขณะที่ภายใต้กลไกของ MRC ซึ่งแม้จะมีนโยบายเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมตัดสินใจโดยภาคประชาชนมากกว่า แต่ประเทศจีนไม่ได้มีสถานะเป็นสมาชิกเต็มตัว โดยคงสถานะเป็นเพียงคู่เจรจาเท่านั้น กระนั้น กลไกของ MRC เองยังมีปัญหาในการป้องกันผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงสายประธานอีกด้วย
“แม่น้ำที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์เป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างหลักประกันว่าประชาชนตลอดทั้งลุ่มน้ำจะมีความเป็นอยู่ที่ดี ทว่าตอนนี้แม่น้ำโขงกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ อันเกิดจากการประเด็นปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” Middleton กล่าว
“แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ควรทำอาจฟังดูเป็นเรื่องทางเทคนิคอย่างการพัฒนาระบบติดตามสถานการณ์น้ำและเปิดเผยข้อมูลอุทกศาสตร์ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายด้านการเมืองระดับชาติและภูมิภาค เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรในแม่น้ำโขง ของทั้งสองกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้ง MRC และ LMC ต้องคำนึงถึงและรับผิดชอบต่อชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นหลัก”
เขายังเสริมว่า เขื่อนไม่ใช่วิธีการรับมือภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่ดีที่สุด ทางที่ดีควรหาทางออกที่ตั้งอยู่บนฐานธรรมชาติ เช่น ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ ตามข้อเสนอเพื่อการจัดการน้ำขององค์การยูเนสโก
อิทธิพลจีนเหนือแม่น้ำโขง ได้กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนได้รับความสนใจในวงกว้าง มาพร้อมกับกระแสดราม่าบนโลกโซเชียลซึ่งมีต้นกำเนิดจากวงการบันเทิง เมื่อชาวไทย ผนึกกำลังกับชาวไต้หวันและฮ่องกงบนทวิตเตอร์ แสดงความไม่พอใจต่ออิทธิพลทางการเมืองของจีนในภูมิภาคเอเชีย ทำให้แฮชแท็ก #StopMekongDam กลายเป็นแฮชแท็กดังทั้งในหมู่คนไทย ไต้หวัน และฮ่องกง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง