ชวนปันน้ำใจ ‘ปันอาหาร ปันชีวิต’ ช่วยคนจนเมืองไม่ให้อดตาย ยามวิกฤตโควิด – ปิดเมืองกรุง

ปัญหาคนเมืองไม่เข้าถึงอาหารช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ชี้ข้อบกพร่องระบบการผลิตและกระจายอาหารแบบอุตสาหกรรม เสี่ยงทำกลุ่มคนจนเมืองอดอาหาร ด้านกลุ่ม ‘ปันอาหาร ปันชีวิต’ ริเริ่มโครงการขอรับบริจาคอาหารและเงินทุน ปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิตคนจนเมืองให้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยอย่างพอเพียง จากผลผลิตเครือข่ายเกษตรกรรายย่อย

เมื่อวันที่ 8 เมษายน วรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าว ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-9 ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบเศรษฐกิจและสภาพสังคมไปทั่วโลก ก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำเนินวิถีชีวิตของทุกคนในหลากหลายแง่มุม อย่างไรก็ดี เธอชี้ว่า กลุ่มคนจนในเมือง ถือเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบางที่สุดต่อผลกระทบจากวิกฤตการระบาด COVID-19 ในครั้งนี้

ปันอาหาร ปันชีวิต
ผลิตผลจากกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และข้าวสารอินทรีย์จากเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ จากโครงการ‘ปันอาหาร ปันชีวิต’ ส่งถึงมือเครือข่ายมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

วรางคนางค์ กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐบาลออกมาตรการปิดเมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เราพบว่ากลุ่มคนจนในเมือง ซึ่งส่วนมากประกอบอาชีพ แรงงานรับจ้างรายวัน และแรงงานนอกระบบ ต่างได้รับผลกระทบอย่างสาหัส จากการถูกเลิกจ้าง ไม่มีงานทำในช่วงมาตรการปิดเมือง ทำให้รายได้ของแต่ละครัวเรือนลดลงอย่างมาก จนไม่สามารถซื้อหาอาหารพึ่งพิงตนเองได้

ไม่เพียงแต่คนจนเมือง เธอเปิดเผยว่า เกษตรกรรายย่อยก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักอีกกลุ่มหนึ่งจากวิกฤตครั้งนี้ เพราะมาตรการปิดร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ส่งผลให้เกษตรกรรรายย่อยจำนวนมากขาดตลาดระบายผลผลิต ไม่สามารถกระจายอาหารได้ จนทำให้ผลผลิตทางเกษตรจำนวนมากต้องเน่าเสียอย่างน่าเสียดาย

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และมูลนิธิสุขภาพไทย จึงได้ร่วมกันทำโครงการ ‘ปันอาหาร ปันชีวิต’ เพื่อขอรับบริจาคอาหาร และเงินทุน สำหรับเชื่อมโยงอาหารปลอดภัยจากเกษตรกรรายย่อยสู่ผู้บริโภคกลุ่มเปราะบาง โดยจะนำเงินบริจาคมาใช้ซื้อผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อย และส่งมอบอาหารเหล่านี้ให้กับคนจนเมืองในกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,100 คน ได้แก่

  • กลุ่มแรงงานนอกระบบในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ราว 600 คน ภายใต้การดูแลของ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
  • กลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดจำนวน 57 ชุมชน 1,531 คน ภายใต้การดูแลของ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค
  • ผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องได้รับการดูแลพิเศษ 18 คน และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ

วรางคนางค์ กล่าวว่า สำหรับวันนี้ (8 เมษายน) เป็นการดำเนินภารกิจแจกจ่ายอาหารให้กับกลุ่มผู้เปราะบางเป้าหมายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นครั้งที่ 3 โดยทางกลุ่ม ‘ปันอาหาร ปันชีวิต’ ได้สนับสนุนผลผลิตผักสดจากกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ปริมาณ 658 กิโลกรัม และข้าวสารอินทรีย์จากเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 1,500 กิโลกรัม ส่งมอบให้กับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, ชุมชนนางเลิ้ง, และกลุ่มโรงงานเย็บผ้าบางบอน

อย่างไรก็ดี เธอระบุว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น และหากจะแก้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารในลักษณะนี้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องแก้ที่ต้นตอที่แท้จริงของปัญหานั่นคือ การพึ่งพิงระบบอุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ในการผลิตและกระจายอาหารมากเกินไป จนผู้บริโภคในเมืองไม่สามารถพึ่งพิงตนเองด้านอาหารได้

“ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึง ความเปราะบางในระบบการผลิตและกระจายอาหารแบบอุตสาหกรรม ที่ถึงแม้ว่าจะดูเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงในสภาวะปกติ แต่เมื่อเกิดสภาวะวิกฤตรุนแรงอย่างเช่น การระบาดของไวรัส COVID-19 หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็อาจทำให้สายพานการผลิตและลำเลียงอาหารหยุดชะงักอย่างง่ายดาย จนผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้” วรางคนางค์ กล่าว

อาหาร
ในขณะที่กลุ่มคนจนเมืองจำนวนมากกำลังประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงอาหาร สมาชิกชุมชนภายใต้การดูแลของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ย่านรามคำแหง ยังคงมีอาหารจากความช่วยเหลือผ่านโครงการ ‘ปันอาหาร ปันชีวิต’ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

ดังนั้น เธอจึงเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาส่งเสริมให้แต่ละชุมชนในเมืองสามารถผลิตและเข้าถึงอาหารในพื้นที่ของตนได้ โดยการออกนโยบาย นำพื้นที่ว่างเปล่าที่มีอยู่มากมายในเมือง มาใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เพาะปลูกอาหาร รวมถึงสนับสนุนให้ปัจจัยการผลิตให้กับกลุ่มคนจนในเมืองให้สามารถผลิตอาหารเองได้

เธอย้ำว่า แนวทางการแก้ปัญหานี้จะไม่เพียงแต่ช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารมากขึ้น ยังเป็นการเสริมศักยภาพในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับชุมชนอีกด้วย

ด้านที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค นุชนารถ แท่นทอง กล่าวว่า กลุ่มคนจนเมืองได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการปิดเมืองจริง เพราะส่วนใหญ่พวกเขาทำงานเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน หรือเป็นแรงงานนอกระบบ เพราะฉะนั้นเมื่อห้างร้านต่างๆ ปิดกิจการชั่วคราวในช่วงมาตรการปิดเมือง ทำให้คนเหล่านี้ขาดรายได้ก้อนใหญ่ไป ในขณะที่การอยู่อาศัยในเมืองก็มีค่าใช้จ่ายในแต่ละวันในการซื้อหาอาหาร จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำ นอกจากนี้กลุ่มคนจนเมืองหลายคนยังมีภาระหนี้นอกระบบ ต้องจ่ายดอกเบี้ย

ด้วยเหตุนี้ ทำให้นับตั้งแต่มีมาตรการปิดเมือง แต่ละคนประสบปัญหาทางการเงิน ชักหน้าไม่ถึงหลัง บางครอบครัวไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อบะหรี่สำเร็จรูปแพคใหญ่มากักตุนช่วงปิดเมือง ต้องแบ่งซื้อครั้งละห่อ บางบ้านถึงกับต้องลดจำนวนมื้อ เหลือทานข้าวแค่มื้อเดียวต่อวัน

“ความช่วยเหลือจากโครงการดังกล่าว ช่วยให้สมาชิกชุมชนหลายครอบครัวมีอาหารพอประทังชีพไปได้ อย่างน้อยก็จนกว่าวิกฤตครั้งนี้จะสิ้นสุดลง” นุชนารถ กล่าว

ผู้ที่สนใจร่วมสมทบทุนเพื่อจัดซื้ออาหาร สามารถบริจาคเงินได้ผ่านทางบัญชี

เลขบัญชี 085-213416-0 ชื่อบัญชี “มูลนิธิสุขภาพไทย” ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาประชานิเวศน์ 1

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง