เบื้องลึกข้าวโพดข้ามพรมแดน #1: หนี้สินเกษตรกรสุมไฟปัญหาหมอกควัน

นักวิชาการและชาวบ้านในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ รัฐฉาน ประเทศพม่า ชี้ชัด การลงทุนเพาะปลูกข้าวโพดข้ามพรมแดน มีส่วนเสริมให้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือรุนแรงยิ่งขึ้น จากปัญหาหนี้สินเกษตรกร อันเกิดจากต้นทุนการผลิตราคาแพง และราคาผลผลิตข้าวโพดตกต่ำ

จากสถานการณ์ที่หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยประสบปัญหาหมอกควันที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงราย ซึ่งทั้งสองพื้นที่ต่างมีสภาพปัญหาฝุ่นควันรุนแรงเป็นเวลานานติดต่อกันหลายสัปดาห์ จนเป็นเหตุให้ประชาชนในพื้นที่ต่างประสบกับภัยร้ายแรงต่อสุขภาพจากการหายใจเอาอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เข้าไป สร้างความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ และภัยสุขภาพอื่นๆ

จากรายงานคุณภาพอากาศโดย กรมควบคุมมลพิษ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นมา สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งในเขต อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ต่างมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 รายวัน เกินกว่าค่ามาตรฐานของไทยที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มค.ก./ลบ.ม.) ทุกวัน โดยทั้งสองพื้นที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่วันที่ 1 – 25 มีนาคม อยู่ที่ 136 มค.ก./ลบ.ม. และ 188 มค.ก./ลบ.ม. ตามลำดับ

ข้าวโพด
ไร่ข้าวโพดในพื้นที่หมู่บ้านหนองเด รัฐฉาน //ภาพโดย: วิศรุต แสนคำ

ไร่ข้าวโพดข้ามพรมแดนคือหนึ่งในปัจจัยก่อฝุ่น

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ชี้ว่า แม้ว่าต้นเหตุของปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือมีมาจากหลายปัจจัย อาทิ การเผาในพื้นที่ ควันจากรถยนต์ หรืออุตสาหกรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหมอกควันในพื้นที่จังหวัดชายแดนอย่าง จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงราย มีต้นเหตุมาจากแหล่งกำเนิดมลพิษในประเทศเพื่อนบ้าน

“คนภาคเหนือไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มาจากต้นเหตุภายในประเทศเท่านั้น แต่มลพิษจากประเทศเพื่อนบ้านที่ลอยตามลมข้ามพรมแดนมาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ” วิษณุ กล่าว

“เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การลงทุนขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และพม่า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดผลกระทบหมอกควันข้ามพรมแดนในพื้นที่ตอนบนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

จากรายงานของ กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปี พ.ศ.2562 ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพื้นที่ภาคเหนือของไทย และรัฐฉาน ในประเทศพม่า มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างมหาศาล โดยในปี พ.ศ.2562 ภาคเหนือของไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งสิ้น 3.646 ล้านไร่ ในขณะที่รัฐฉาน ประเทศพม่า มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดรวม 7.524 ล้านไร่

รายงานฉบับเดียวกันเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบจุดความร้อน (hotspots) ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 พบว่า มีจุดความร้อนถึง 6,879 จุด เกิดขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดบริเวณภาคเหนือของไทย และยังตรวจพบว่ามีจุดความร้อนทั้งหมด 14,828 จุด เกิดขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในรัฐฉาน ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ จากการติดตามจำนวนการเกิดพื้นที่จุดความร้อนกับสถานการณ์หมอกควันข้ามพรมแดน ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสดา) เผยข้อสรุปไปทิศทางเดียวกับที่ วิษณุ ได้ตั้งข้อสังเกต โดยพบว่า เมื่อจำนวนจุดความร้อนในประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา พุ่งสูงขึ้น ปริมาณฝุ่นควัน PM2.5 ในหลายพื้นที่ของภูมิภาค รวมถึงไทย ก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน

้จุดความร้อน
แผนที่จุดความร้อนในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และแผนที่ความหนาแน่นฝุ่นควัน PM2.5 //ขอบคุณข้อมูลจาก: Smoke Watch และ GISTDA

ภาพถ่ายดาวเทียมโดย นาซา และ จิสดา ทั้งสองภาพนี้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึง ความเกี่ยวโยงของการเกิดจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้าน และปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนอย่างชัดเจน โดยจากแผนภาพด้านซ้ายระบุว่า ในวันดังกล่าวมีจุดความร้อนจำนวน 7,264 จุดในประเทศไทย, 7,175 ในกัมพูชา, และ 6,006 ในพม่า เป็นผลให้เกิดกลุ่มหมอกควัน PM2.5 หนาแน่นปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนบนของประเทศไทย สังเกตได้จากแผนภาพความหนาแน่นฝุ่นควัน PM2.5 ทางด้านขวา

จากข้อมูลทั้งหมดจึงพบสรุปได้ว่า การขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดทั้งในภาคเหนือของไทย และรัฐฉาน ประเทศพม่า นำไปสู่กิจกรรมการเผาในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด อันส่งผลให้สภาพปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในพื้นที่ ตอนบนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความรุนแรงขึ้น โดยพื้นที่รัฐฉานถือเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของการขยายการเพาะปลูกข้าวโพด จากสถิติของกรีนพีชที่พบว่า ภายในระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่ ธันวาคม พ.ศ.2561 ถึง พฤษภาคม พ.ศ.2562 พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในรัฐฉานยังคงขยายตัวเพิ่มอีกถึง 12,069.33 ตารางกิโลเมตร

ไร่ข้าวโพด
เกษตรกรกำลังเก็บข้าวโพดด้วยมือ ในรัฐฉาน ประเทศพม่า //ภาพโดย: วิศรุต แสนคำ

หนี้สินจากไร่ข้าวโพดสั่งให้เกษตรกรต้องเผา

รีจิน เกษตรกรไร่ข้าวโพด เชื้อสายปะโอ จากหมู่บ้าน Tha Yat Pin Hla เขตเมืองตองจี รัฐฉาน เปิดเผยว่า การเผาไร่ข้าวโพดภายหลังฤดูเก็บเกี่ยวระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายนของทุกปี ถือเป็นกิจวัตรปกติของเกษตรกรไร่ข้าวโพดส่วนใหญ่ในรัฐฉาน เหตุเพราะการเผาตอซังข้าวโพด ถือเป็นวิธีในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดรอบใหม่ที่ง่าย และมีต้นทุนถูกที่สุด แม้ว่าเขาจะยอมรับว่าการเผาไร่ข้าวโพดทำให้เกิดปัญหามลพิษฝุ่นรุนแรงก็ตาม

“จริงๆแล้วชาวบ้านก็ไม่อยากจะใช้วิธีเผาหรอก เพราะว่าพวกเราเองก็ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันเหมือนกัน แต่ว่าชาวบ้านหลายๆ คนไม่มีเงินมากพอจะไปจ้างรถไถมาไถกลบตอซังข้าวโพดได้ เพราะว่าพวกเขาหมดเงินไปกับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดแล้ว นอกจากนี้ราคาข้าวโพดช่วงนี้จะตกต่ำลงมาก ทำให้พวกเขาจำต้องเผาตอซังข้าวโพดแทนการไถกลบ” รีจิน กล่าว

แม้ว่าก่อนหน้านี้นายหน้าค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ซึ่งเป็นตัวแทนจากบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ โฆษณาว่าชาวบ้านที่นี่จะสามารถทำกำไรได้มากหากเปลี่ยนวิถีการผลิตมาเพาะปลูกข้าวโพดในระบบเกษตรพันธะสัญญา แต่ในความเป็นจริง เขากล่าวว่า เกษตรกรหลายๆ คนกลับไม่ได้ผลกำไรมากมายอย่างที่คิด แถมบางคนยังติดหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมเงินมาซื้อเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยยาราคาแพง

“การเปลี่ยนมาเพาะปลูกข้าวโพดสายพันธุ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ เกษตรกรจำเป็นที่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกๆ ฤดูกาลผลิต แถมยังต้องซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และยาฆ่าหญ้ามาใช้ในไร่ ไม่เข่นนั้นก็ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการได้” เขาเปิดเผย

“ในขณะที่อีกด้าน ราคาผลผลิตข้าวโพดก็ตกต่ำลงอย่างมาก เหตุจากที่รัฐบาลจีนลดปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพม่า ทำให้ตอนนี้ราคาผลผลิตข้าวโพดลดเหลือเพียง 340 – 380 จ๊าด (ราว 8 – 9 บาท) / 1.6 กิโลกรัม เท่านั้น”

จากต้นทุนการผลิตข้าวโพดที่สูงขึ้น รายงานของธนาคารโลก เผยว่า จากการศึกษาในช่วงปี พ.ศ.2559 ต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรัฐฉานตอนล่างก็มีมูลค่าถึงราว 150,000 จ๊าด (ราว 3,534 บาท)  / เอเคอร์ แล้ว โดยกว่า 30% ของต้นทุนของต้นทุนการผลิตทั้งหมด หรือราว 50,000 จ๊าด (ราว 1,178 บาท) เป็นต้นทุนราคาวัตถุดิบ เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยยา

รีจิน กล่าวว่า ชาวบ้านเองต่างก็กังวลผลกระทบสุขภาพจากปัญหาฝุ่นควันเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากหลายคนในหมู่บ้านกลับมาจากการทำงานที่ประเทศไทย และได้รับรู้ถึงพิษภัยของฝุ่น PM2.5 ผ่านสื่อไทย แต่เขาก็ชี้ว่า ตราบใดที่ปัญหาต้นทุนการเกษตร และหนี้สินของเกษตรกรไร่ข้าวโพด ยังไม่ได้รับการแก้ไข เกษตรกรไร่ข้าวโพดรัฐฉานส่วนใหญ่ก็จะยังคงเผาตอซังข้าวโพดหลังฤดูเก็บเกี่ยวต่อไป

เกษตรกร
หญิงชราชาวปะโอกำลังคราดเมล็ดข้าวโพดที่กำลังตากไล่ความชื้น ก่อนส่งขายให้กับโบรกเกอร์ท้องถิ่น //ภาพโดย: วิศรุต แสนคำ

CP ยืนยันการลงทุนมีธรรมาภิบาล

จากกระแสข่าวผลกระทบหมอกควันข้ามพรมแดนจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศพม่า วรสิทธิ์ สิทธิวิชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส Charoen Pokphand Produce Myanmar (CP Myanmar) กล่าวว่า แม้ว่าบริษัท CP Myanmar จะเป็นผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ในพม่า เป็นเจ้าตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และยังเป็นผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ในพม่า แต่บริษัทก็มีมาตรฐานในการรับซื้อผลผลิตข้าวโพดที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่ในไทย ที่จะไม่สนับสนุนผลผลิตข้าวโพดที่มีการเผาไร่

วรสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพม่า บริษัทจะไม่ลงทุนโดยตรง แต่จะใช้กลไกผ่านทางตัวกลาง หรือ โบรกเกอร์ ในท้องถิ่น ให้เป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์สู่เกษตรกร และเป็นผู้รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร ก่อนจะส่งขายให้กับบริษัทอีกต่อหนึ่ง ซึ่งบริษัท CP Myanmar ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจไร่ข้าวโพดและอาหารสัตว์ในประเทศพม่ามากว่า 20 ปีแล้ว มีหลักฐานประจักษ์ว่าการลงทุนข้าวโพดได้ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรท้องถิ่นในพม่ามี รายได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

“เราเป็นเจ้าตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดในประเทศพม่า โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 40% ตอนนี้เรามีเมล็ดพันธุ์หลักๆ ที่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ซึ่งได้มีการปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพอากาศ และสภาวะแวดล้อมของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในประเทศพม่า ส่วนผลผลิตที่รับซื้อส่วนใหญ่จะนำมาผลิตอาหารสัตว์ส่งขายในประเทศพม่า โดยมีผลผลิตส่วนน้อยส่งกลับมาขายในประเทศไทย” วรสิทธิ์ ให้ข้อมูล

เขายืนยันว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในเครือข่ายกับ CP Myanmar กำจัดตอซังและเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดรอบใหม่ด้วยการไถกลบเป็นหลัก และนอกจากนี้ทางบริษัท CP Myanmar ยังมีโครงการ CSR เข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความมั่นคงในการทำอาชีพทำไร่ข้าวโพดมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมการทำเกษตรอย่างยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายตอซังข้าวโพดให้เป็นปุ๋ย เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน แทนการเผาตอซัง และส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงน้ำเพื่อการเกษตรได้ตลอดปี

 

บทความข่าวชิ้นนี้เป็นหนึ่งในรายงานเชิงลึกในประเด็น “การลงทุนข้าวโพดข้ามพรมแดนในรัฐฉาน ประเทศพม่า” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Earth Journalism Network และ Mekong Eye

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง