รัฐเมินแก้วิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือ แม้หลายพื้นที่จมฝุ่น PM2.5 ขั้นร้ายแรงนานเป็นเดือน

ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ภาคเหนือฟ้องชัด รัฐบาลส่วนกลางไม่ใส่ใจแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ ไม่มีการปฏิบัติการตาม แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง แม้หลายพื้นที่โดยเฉพาะ จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน ประสบปัญหาฝุ่นควันสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานมากถึง 3 เท่า เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์

แม้ว่าหลายจังหวัดภาคเหนือจะได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันฝุ่น PM2.5 อย่างรุนแรงนับตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากข้อมูลการตรวจวัดค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่น PM2.5 รายวัน โดยกรมควบคุมมลพิษ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11 – 17 มีนาคม พ.ศ.2563 ชี้ว่าทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ต่างมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 รายวัน สูงเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยของไทยที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบากศ์เมตร (มคก./ลบม.) เป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน

หมอกควัน
หมอกควัน PM2.5 ปกคลุมหนาทึบในพื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จนท้องฟ้าเปลี่ยนสีเป็นสีแดง / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

ข้อมูลสถิติปริมาณฝุ่น PM2.5 ของกรมควบคุมมลพิษยังเปิดเผยว่า จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 สาหัสที่สุด โดยพบว่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ทั้งสองพื้นที่มีค่าสูงถึง 250 – 350 มคก./ลบม. เป็นเวลาต่อเนื่องกันกว่า 1 เดือนแล้ว

เมื่อคำนึงถึงแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในช่วงเกิดสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 วิกฤต ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านปัญหาฝุ่นละออง จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้ มีความร้ายแรงถึงระดับที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติควรต้องเสนอเรื่องให้ นายกรัฐมนตรีสั่งการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน จากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบปัญหามลพิษฝุ่นควัน PM2.5 เกินกว่า 100 มคก./ลบม. อย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถบรรเทาสถานการณ์ได้

 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางฝั่งรัฐบาลยังเพียงแต่การสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, และกองทัพ ให้ดำเนินการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น โดยในการนี้ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เน้นย้ำให้คุมเข้มมาตรการทางกฎหมาย เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า สถานกาณณ์ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 และไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต เกินกำลังที่หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นจะสามารถรับมือกับปัญหาได้ อีกทั้งยังมีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหามลพิษข้ามพรมแดน จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลส่วนกลางจะต้องยกระดับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

“รัฐบาลส่วนกลางกำลังต่อสู้กับไวรัส covid-19 อย่างเข้มข้นจึงให้ความสนใจปัญหาฝุ่นควันที่จังหวัดภาคเหนือน้อยลงมาก ทั้งที่มีค่าความเข้มเข้นสูงกว่าที่เกิดในเขตกทม.และปริมณฑลถึง 3 – 4 เท่า โดยปล่อยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่เป็น single command สั่งการและจัดการเบ็ดเสร็จในพื้นที่ แต่เอาเข้าจริงที่ผ่านมาค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 กลับสูงขึ้นเรื่อยๆ การดับไฟป่าบนภูเขาสูงชันทำได้ยากต้องบูรณาการทุกภาคส่วนขณะที่ไม่สามารถจับคนลักลอบเผาป่าได้” สนธิ กล่าว

“หากปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงเหมือนที่เกิดขึ้นที่เชียงรายไปเกิดในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศ หน่วยงานรัฐส่วนกลางคงจะเร่งประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหามาตรการจัดการอย่างเร่งด่วนและรีบนำเข้าครม. เพื่อให้สั่งการแก้ไขปัญหาทันที แต่กลับกันกรณีนี้ไปเกิดที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เมืองภูมิภาค ดังนั้นทุกอย่างจึงเงียบกริบ ปล่อยให้พื้นที่และประชาชนไปว่ากันเอง”

ไฟป่า
ไฟป่าบริเวณข้างทางในเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

เช่นเดียวกับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ชี้ว่า วิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือที่เผชิญมาหลายวันและหลายปี ถือเป็นปัญหาความมั่นคงของชาติ เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน ที่หน่วยงานภาครัฐยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหา และยังละเลยในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

“ก่อนอื่นรัฐต้องเข้าใจความรุนแรงของปัญหา ถ้าเริ่มต้นบอกว่าไม่รุนแรง ก็เป็นการเริ่มต้นที่ผิดแล้ว เราจะเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกผิดไม่ได้ หน้าที่ของรัฐต้องปกป้องสิทธิการมีอากาศสะอาดหายใจ มีวิธีการแก้ปัญหาเยอะ พูดเท่าไหร่ก็ไม่หมดหรอก แต่คุณทำไม่จริงจัง ปัญหามันก็ไม่จบหรอก” น.พ.รังสฤษฎ์  กล่าว

“ผมพูดวนอยู่ในอ่าง สิบปีแล้ว ท้อแล้ว แก้ไม่ได้ ท้อแล้วจำยอมเป็นเรื่องปกติ คนไทยเราคงมีคุณภาพชีวิตเท่านี้ เท่าที่สังเกต ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่จัดการได้ดี ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองสีไหน เรื่องสิ่งแวดล้อมถูก ละเลยโดยทุกรัฐบาล ต้องแก้ระบบการเมืองให้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่มากกว่านี้”

เขายังกล่าวว่า สิ่งที่การแพทย์กังวลคือผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว เพราะการหายใจเอาฝุ่น PM2.5 ทุก 22 ไมโครกรัม เท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน เสี่ยงทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็ง มะเร็งปอด หัวใจวายเฉียบพลัน อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมถึงส่งผลต่อการพัฒนาการปอดในเด็ก การพัฒนาไอคิวและโรคจิตเภท ด้านผู้สูงอายุ อาจจะส่งผลให้เกิดอาการสมองเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ

“ปัญหาคือเป็นผลกระทบที่ไม่เห็นได้โดยตรงว่าเราเป็นโรคนี้เพราะสาเหตุฝุ่น ไม่มีใครเขียนใบมรณะบัตรว่าตายจาก PM2.5 เหมือนที่เราไม่เขียนว่าเราตายจากบุหรี่ แต่เขียนว่าเราตายจากโรคความดันสูง PM2.5 คนตายจากมลพิษทางอากาศทั้งโลก 7 ล้านคนต่อปี เช่นเดียวกับคนไทยหลายหมื่นคน น่าหนักใจที่ผู้มีอำนาจและผู้บริหารไม่มีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลได้ และไม่เข้าใจผลกระทบระยะยาว ไม่มีความรู้วิชาการจริง ใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจและสื่อสาร ไม่เห็นโลงไม่หลั่งน้ำตา” เขากล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง กำหนดให้มีมาตรการตอบโต้สถานการณ์ที่จะดำเนินการในแต่ละช่วงระดับของฝุ่นละออง แบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้

  • ระดับที่ 1 PM5 ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. : หน่วยงานดำเนินภารกิจตามสภาวะปกติ
  • ระดับที่ 2 PM5 ระหว่าง 51- 75 มคก./ลบ.ม. : ทุกหน่วยงานดำเนินมาตรการให้เข้มงวดขึ้น
  • ระดับที่ 3 PM5 ระหว่าง 76 -100 มคก./ลบ.ม. : ผู้ว่าราชการกทม./จังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ
  • ระดับที่ 4 PM5 มากกว่า 100 มคก./ลบ.ม. : เสนอให้ประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง (กก.คพ. กก.วล) เพื่อเสนอมาตรการให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง