สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชียงราย เผยยังไม่ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฝุ่นเพราะต้องคำนึงผลกระทบหลังประกาศใช้ และท้องถิ่นได้มีการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองอยู่แล้ว แม้เชียงรายและหลายจังหวัดภาคเหนือยังคงสภาพเป็นเมืองในหมอก ด้านนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ยื่นเรื่องขอเรียนออนไลน์หลังเจอฝุ่นต่อเนื่องผสมโควิด
เกิดข้อถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ เมื่อประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ให้สัมภาษณ์ว่าทางจังหวัดยังไม่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหมอกควัน แม้จะมีค่าฝุ่น PM2.5 สูงต่อเนื่องหลายวัน เนื่องจากไม่เห็นผลกระทบชัดเจนต่อผู้คน

วันนี้ (16 มีนาคม พ.ศ.2563) ครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม เผยสาเหตุที่จังหวัดเชียงรายยังไม่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฝุ่น เป็นเพราะการประกาศจะมีผลกระทบทางกฎหมายที่ต้องพิจารณา นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีกฎหมายที่ดำเนินการเรื่องปัญหาหมอกควันอยู่แล้ว และการประกาศพื้นที่เขตภัยพิบัติยังไม่ส่งผลต่อการดำเนินงานรับมือ หากเป็นการได้งบประมาณอุดหนุนเพิ่มจากส่วนกลาง
“การประกาศต้องคิดถึงวัตถุประสงค์และความคุ้มค่าว่าจะกระทบกับอะไรบ้าง เพราะเมื่อประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้วจะมีผลทางกฎหมายต่อเนื่องมา เช่น หน่วยงานหรือเอกชนอาจนำไปเป็นข้ออ้างหยุดงาน เรียกร้องค่าชดเชยหรือค่าประกัน รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ”
เขาอธิบายว่าที่ผ่านมาเชียงรายไม่เคยประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฝุ่นตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 หากแต่เปิดให้หน่วยงานท้องถิ่นแต่ละอำเภอเป็นผู้ตัดสินใจประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560
นอกจากนั้น การประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติจะให้อำนาจหน่วยงานได้ใช้เงินหลวงและเงินทดลองราชการจากส่วนกลางสำหรับการรับมือภัยพิบัติเพิ่ม ทว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีรับมือปัญหาซึ่งปฏิบัติอยู่แล้วในปัจจุบัน
“ที่เราประกาศเป็น ‘พื้นที่ประสบภัย’ ตามกฎหมายตอนนี้เป็นเรื่องไฟป่า ซึ่งแบ่งได้เป็นสองประเภท ได้แก่ พื้นที่ประสบสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ประกาศเพื่อให้หน่วยงานราชการ ส่วนปกครองท้องถิ่น และเอกชนได้ให้ความช่วยเหลือระงับไฟป่า และประเภทที่สอง คือ เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ประกาศเพื่อให้ความช่วยเหลือการเงินประชาชนกรณีประสบภัยไฟป่า ตัวอย่างเช่น เหตุไฟไหม้ป่าพรุที่สงขลา”
ครรชิตอธิบายว่าไฟป่าซึ่งเป็นต้นกำเนิดฝุ่นควันในเชียงรายปีนี้มีน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา ทว่าต้องเผชิญปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านประกอบกับสภาพความกดอากาศ
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในจังหวัดเชียงราย ได้ประกาศหยุดการเรียนการสอนในห้องเรียนและหันมาเรียนในรูปแบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม – 19 เมษายน เพราะปัญหาฝุ่นควันและโรคระบาดโควิด-19

ด้านจังหวัดข้างเคียง บ่ายวันเดียวกัน นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ราว 40 คน ได้ร่วมตัวยื่นจดหมายกับอธิการบดีเพื่อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยออกมาตราการรับมือสถานการณ์ฝุ่นและปัญหาโรคระบาด โดยเรียกร้องให้เปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์แทน
นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมารับเรื่องและประกาศให้ ทุกคณะได้เตรียมความพร้อมปรับการสอนเป็นรูปแบบทางไกลให้พร้อมภายในวันที่ 1 เมษายน
“ปีที่แล้วเจอค่าฝุ่นสูงถึง 600 AQI มหาลัยฯ ประกาศหยุดไม่กี่วัน ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาระยะยาว ส่วนครั้งนี้ พวกเราไม่พอใจกับการตัดสินใจเท่าไหร่เพราะมหาลัยฯ รับมือช้าเกินไป”
สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิจิตรศิลป์ หนึ่งในแกนนำนักศึกษา แสดงความคิดเห็น ทางนักศึกษายังกังวลว่ามหาวิทยาลัยอาจใส่ใจกับปัญหาโควิด-19 มากกว่าปัญหาหมอกควัน

