ภาคเหนือเผชิญวิกฤตหมอกควันข้ามพรมแดน รับปีเป้าหมาย “อาเซียนปลอดหมอกควัน”

วิกฤตหมอกควันข้ามพรมแดนภาคเหนือยกระดับเตือนสูงสุด ผู้เชี่ยวชาญเผยลมส่งควันเผาจากพม่าและลาว รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษแจง จับมือเพื่อนบ้านรับมือไฟป่า ปีนี้ชี้ผลความพยายามสู่อาเซียนปลอดหมอกควัน

ค่าฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือสูงเกินมาตราฐานติดต่อหลายวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน โดยเช้าวันนี้ (12 มีนาคม 2563) เวลาสิบโมง สถานีตรวจวัดโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ พบค่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสูงถึง 223 AQI นับอยู่ในเกณฑ์อันตรายมากและมีค่าสูงที่สุดในโลก

วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2563 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาอาเซียน (ASMC) ซึ่งมีหน้าที่ติดตามสภาพภูมิอากาศและสภาวะหมอกควันในภูมิภาค ได้ยกระดับการเตือนหมอกควันข้ามพรมแดนในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงขึ้นเป็นระดับสามซึ่งเป็นระดับสูงสุด  เนื่องจากมีจุดฮอตสปอตจำนวนมากต่อเนื่องมากกว่าสองวันติดต่อกัน อากาศแห้งติดต่อ และมีลมที่พัดหมอกควันจากแหล่งกำเนิดสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

แผนที่แสดงหมอกควันบริเวณชายแดนพม่า-ไทย-ลาว สัมพันธ์กับจำนวนจุดความร้อนและทิศทางลม ระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม พ.ศ.2563 // ขอบคุณภาพจาก: ASMC

เพจฝ่าฝุ่น เผยสาเหตุของปัญหาฝุ่นควันช่วงนี้ว่า เหตุผลแรกคือสภาพภูมิอากาศ กำลังลมในพื้นที่อ่อน เป็นผลให้ฝุ่นที่เกิดจากการเผาในที่โล่งไม่สามารถระบายได้ นอกจากนั้นยังเกิดปรากฏการณ์การผกผันของอุณหภูมิ (Temerature Inversion) กั้นการลอยตัวของอากาศระดับพื้นทำให้ฝุ่นไม่ระบายตอนช่วงกลางคืนจนถึงเช้า 

นอกจากนั้นยังเป็นผลจากแหล่งกำเนิด ได้แก่ ไฟป่าและการเผาเชิงเกษตร ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและลาว 

 สอดคล้องกับข้อสังเกตของ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ในงานเสวนา “ภาคธุรกิจไทยกับการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5” เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด เขากล่าวว่าปีนี้ภาคเหนือเริ่มเผชิญสถานการณ์ฝุ่นเร็ว ตั้งแต่เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ต่างจากปีที่แล้ว คาดว่าเป็นสาเหตุจากมาตราการห้ามเผา 60 วัน ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเหตุให้มีผู้ชิงเผาพื้นที่ทำเกษตรล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม เดือนมีนาคมนี้เป็นเดือนที่สถานการณ์หมอกควันร้ายแรงมากที่สุด เช่นเดียวกับสถิติปีก่อน เนื่องจากหมอกควันข้ามพรมแดน

ปีนี้มาเร็วและมาเยอะ  โดยเฉพาะแนวชายแดนจังหวัดเชียงรายและแม่ฮ่องสอน แสดงว่ามีมาจากเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศพม่าและลาว การแก้ไขปัญหาภาคเหนือทำแค่ในประเทศอย่างเดียวคงไม่สำเร็จ”

ภายในงานเสวนาเดียวกัน เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนเพื่อจัดการปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมลงชื่อในความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) เมื่อปี พ.ศ.2555 ซึ่งเริ่มต้นจากปัญหาหมอกควันจากการเผาไร่ในอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านช่วงฤดูมรสุม จากการร่วมมือดังกล่าว เมื่อเกิดวิกฤตหมอกควันขึ้นเช่นในภาคเหนือปัจจุบัน ประเทศไทยจึงส่งจดหมายแจ้งเตือนกับทางการพม่า รวมถึงพูดคุยหาทางร่วมมือกันในระดับท้องถิ่น 

ตอนนี้แต่ละประเทศต้องดูแลพื้นที่ตัวเองให้ดีที่สุดก่อนจะได้ไม่รบกวนประเทศข้างเคียง ภาคเหนือเราฮอตสปอตเยอะ แต่พยายามคุมไม่ให้ไปรบกวนประเทศอื่น นอกจากนั้นประเทศไทยนับว่าเป็นผู้นำและผู้สนับสนุนในการแก้ไขปัญหา เราส่งอุปกรณ์ดับไฟไปสนับสนุนพม่าและให้ความรู้เรื่องไฟป่าหน่วยงานและประชาชนลาว” 

ปีพ.ศ. 2563 นี้นับว่าเป็นปีเป้าหมายของอาเซียนที่จะสร้าง “อาเซียนปลอดหมอกควัน” (Haze-free ASEAN 2020) ตามโร้ดแมพปีพ.ศ.  2559-2563 โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จ 3 ประการ ได้แก่

  1. เพิ่มจำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศดีหรือค่า AQI ฝุ่น PM.10 และ PM2.5 อยู่ในระดับไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (moderate)
  2. ลดจำนวนจุดความร้อนให้ต่ำกว่าการแจ้งเตือนระดับ 2 ตามมาตราฐานการปฏิบัติงานหมอกควันอาเซียน
  3. ลดพื้นที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามพรมแดน

อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมว่าคลุมเครือ แดเนียล เฮย์วาร์ด ผู้ประสานงานโครงการวิจัยด้านพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับกรีนพีซ ประเทศไทยว่าประเทศต่างๆ ยังคงออกนโยบายสนับสนุนการลงทุนภาคเกษตรกรรมที่ไม่คำนึงถึงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ออกร่วมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง