เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ร่อนจดหมายโต้คำชี้แจงอธิบดีกรมศิลปากร ย้ำประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาขัดหลักกฎหมาย ขัดแย้งภารกิจกรม ส่อเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการเหมืองหินอุตสาหกรรมให้สามารถระเบิดหินในเขตโบราณสถาน เสี่ยงทำภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์เสียหาย ด้านคนพื้นที่เผย โบราณสถานเขายะลาทรุดโทรมไร้การดูแล แถมเหมืองหินทำชุมชนเดือดร้อนปัญหาฝุ่นควัน – แรงระเบิด
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีกรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อคำแถลงของอธิบดีกรมศิลปากร ประทีป เพ็งตะโก ถึงประเด็นการออกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา โดยได้ตอบโต้ว่าคำชี้แจงดังกล่าวผิดหลักเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และไม่ได้ตั้งอยู่บนจิตวิญญาณของนักโบราณคดี ที่ควรจะต้องทำหน้าที่ปกป้องอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของสังคมไทย

โดยคำแถลงของอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ชี้แจงว่า ประกาศฉบับดังกล่าวไม่ใช่การเพิกถอน แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีเขายะลา โดยสิ้นเชิง หากแต่เป็นการปรับแก้ขอบเขตของพื้นที่เขตโบราณสถาน เพื่อเปิดพื้นที่บางส่วนให้สามารถทำเหมืองหินอุตสาหกรรมได้ พร้อมทั้งระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งสัมปทานเหมืองหินอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ก่อนที่จะมีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน อีกทั้งบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งภาพเขียนสีทั้ง 2 แห่ง
“กรมศิลปากรพิจารณาแล้วเพื่อเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และความมั่นคงของประเทศ จึงพิจารณาให้ความร่วมมือ โดยการพิจารณาแก้ไขเขตพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งศิลปกรรมภาพเขียนสีเขายะลาแต่อย่างใด” ประทีป กล่าว
เขาเปิดเผยว่า เหตุผลในการแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา มีที่มาจากการขอความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, ศูนย์อำนวยการบริหารส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, จังหวัดยะลา, และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนหินอุตสาหกรรมสำหรับการก่อสร้างในพื้นที่ และแก้ไขปัญหาความรุนแรงภาคใต้
อย่างไรก็ดี เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา โต้แย้งประเด็นดังกล่าวในจดหมายเปิดผนึกว่า แม้ว่ากรมศิลปากรอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งสัมปทานเหมืองหินตั้งแต่เดิมอยู่แล้ว แต่ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ (พ.ศ.2560) ระบุอย่างชัดเจนว่า เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองจะต้องไม่อยู่ในพื้นที่ต้องห้ามได้แก่ พื้นที่ป่าต้นน้ำ, อุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ, ซึ่งรวมไปถึง เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติด้วย
ดังนั้นบรรดาประทานบัตร และคำขอต่ออายุประทานบัตร บนเขายะลาต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ และต้องหยุดดำเนินกิจกรรมใดๆ ก็ตามภายหลังจากที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ได้ถูกประกาศใช้ เนื่องจากพื้นที่เขายะลาได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีหน้าที่ต้องเพิกถอนพื้นที่ภูเขายะลาออกจากการเป็นเขตแหล่งหินอุตสาหกรรมและเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองอีกด้วย
กระนั้น เครือข่ายฯ เปิดเผยว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่ปล่อยปะละเลยให้ผู้ประกอบการทำเหมืองหินต่อไป แม้การดำเนินการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย การที่อธิบดีกรมศิลปากรจงใจออกประกาศแก้ไขขอบเขตโบราณสถานเขายะลา ทำให้พื้นที่โบราณสถานหดลงกว่า 190 ไร่ เหลือเพียง 697 ไร่ 75 ตารางวา ยังเป็นการเปิดช่องให้ผู้ประกอบการเหมืองหินขยายขอบเขตการทำเหมืองหินเข้ามาประชิดแหล่งภาพเขียนสีโบราณมากขึ้น เสี่ยงสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญเหล่านี้

สำหรับกรณีที่มีการพบว่าภาพเขียนสีส่วนหนึ่งในเขตโบราณสถานเขายะลาได้พังถล่มลงมา เครือข่ายฯ ให้ความเห็นว่า ถึงแม้อธิบดีกรมศิลปากรได้ชี้แจงแล้วว่า ภาพเขียนสีดังกล่าวพังถล่มลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 จากแรงของรอยเลื่อนตามธรรมชาติ และการกัดเซาะของน้ำใต้ดิน ไม่เกี่ยวข้องกับสัมปทานเหมืองหินที่อยู่โดยรอบ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าการประกาศลดเขตโบราณสถานเพื่อเปิดทางให้มีการทำเหมืองหินจะไม่ส่งผลกระทบต่อโบราณสถานที่เหลือ
“การกำหนดขอบเขตแหล่งโบราณสถานขึ้นใหม่ โดยทำให้เห็นว่า (ภาพเขียนสีโบราณ) อยู่นอกรัศมีผลกระทบจากการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งศิลปกรรมภาพเขียนสีเขายะลา ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งกระทำในฐานะอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งต้องมีบทบาทสำคัญในการปกป้อง คุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ต่อไปอย่างยั่งยืน” เครือข่ายฯ กล่าวย้ำ
“(เครือข่ายฯ) จึงยังความเคลือบแคลงสงสัยต่อการดำเนินการในเรื่องนี้ของกรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่าชอบด้วยกฎหมาย และทับซ้อนด้วยผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่”
อนึ่ง ประกาศฉบับดังกล่าวลงนามโดย อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนเขาจะเกษียณอายุราชการ
ด้านประชาชนในท้องที่ จ.ยะลา รักชาติ สุวรรณ กล่าวว่า นอกเหนือจากภัยคุกคามจากการระเบิดหินทำเหมืองแล้ว ภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ และแหล่งโบราณคดีที่เขายะลายังตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม รกร้าง ขาดการดูแล ภาพเขียนโบราณบางจุดถูกคนมือบอนขีดเขียนจนได้รับความเสียหาย
“ชาวบ้านโดยรอบพื้นที่เขายะลาต่างหวงแหนโบราณสถานแห่งนี้ และพยายามที่จะเข้ามาปรับปรุงดูแลพื้นที่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะกรมศิลปากรซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาต แต่กรมศิลปากรเองก็ไม่ได้เข้ามาดูแลรักษาพื้นที่นี้เลย จนพื้นที่โบราณสถานเสื่อมโทรม” รักชาติ กล่าว

นอกจากนี้ เขายังเปิดเผยว่า ชาวบ้านยังได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่เช่นกัน โดยผลจากแรงระเบิดจากการระเบิดหินทำเหมือง ทำให้บ้านเรือนประชาชน ตลอดจนมัสยิดได้รับความเสียหาย กระจกแตก มีเศษหินเศษฝุ่นฟุ้งกระจาย ดังนั้นชาวบ้านจึงต่างกังวลว่าหากมีการขยายพื้นที่ทำเหมืองหินเพิ่มอีก จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองหินให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก่อนหน้านี้ไม่มีหน่วยงานใดมาทำประชาพิจารณ์ หรือถามความเห็นชาวบ้านถึงการขยายพื้นที่สัมปทานเหมืองหินอุตสาหกรรมเลย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง