วธ.รับปากสางปมถอนเขตโบราณสถานเขายะลา นักอนุรักษ์ชี้เรื่องนี้อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน

เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลาชี้ ประกาศกรมศิลปากร เพิกถอนพื้นที่โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วน เพื่อเปิดช่องให้มีการระเบิดภูเขาทำเหมืองหินอุตสาหกรรม เป็นการกระทำที่ขัดกฎหมายชัดเจน อาจเข้าข่ายการกระทำทุจริต ด้านกระทรวงวัฒนธรรมรับเรื่องแล้ว พร้อมประสานกรมศิลป่ากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนการแก้ไขเขตโบราณสถานเขายะลาต่อไป

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลารวมตัวกันที่กระทรวงวัฒนธรรมเพื่อยืนหนังสือต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา และดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เพื่อคุ้มครองโบราณสถานและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ประสพ เรียงเงิน เป็นผู้รับเรื่องแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

กระทรวงวัฒนธรรม
วรา จันทร์มณี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้ยกเลิกประกาศเพิกถอนเขตโบราณสถานเขายะลา //ขอบคุณภาพจาก: บัก หำน้อย

ประสพ กล่าวภายหลังรับหนังสือจากกลุ่มเครือข่ายฯ ว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการปกป้องดูแลโบราณสถาน และมรดกทางประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น และได้รับข้อเรียกร้องทั้งหมดของกลุ่มเครือข่ายฯ ไปดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยทางเครือข่ายฯ ระบุในหนังสือว่า เหตุผลในการเพิกถอนเขตโบราณสถานเขายะลา ตามประกาศกรมศิลปากรฉบับดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการหินอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ และบรรเทาปัญหาความไม่สงบ เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่ และกฎหมายโบราณสถาน อีกทั้งการออกประกาศเปลี่ยนแปลงขอบเขตโบราณสถานยังขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงการศึกษาผลกระทบต่อเขตโบราณสถาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

“การที่อธิบดีกรมศิลปากรคนก่อนได้ดำเนินการลงนามออกประกาศในวันสุดท้ายของการปฏิบัติราชการ เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและการปฏิบัติราชการที่ดี แสดงถึงความไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ได้กระทำลงไป และอาจจะเข้าข่ายการกระทำที่ไม่สุจริตประพฤติมิชอบอีกด้วย” เครือข่ายฯ ระบุ

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่

  1. ให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา โดยทันที และตรวจสอบให้ทราบข้อเท็จจริงถึงการกระทำที่ของอธิบดีคนดังกล่าวว่ากระทำไปโดยถูกต้องหรือไม่อย่างไร
  2. ให้กรมศิลปากรเร่งทำการสำรวจในพื้นที่แถบ ต.ลิดล – ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ตามที่ได้ประกาศเขตไว้ รวมถึงกลุ่มเขาใกล้เคียง เพราะพื้นที่กลุ่มเขายะลา มีลักษณะบ่งชี้ว่าพื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่กลุ่มเขาศักดิ์สิทธิ์ มีหลักฐานภาพการชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมร่วมกันตามฤดูกาล
  3. เร่งสำรวจและประกาศเขตที่ดินโบราณสถานในพื้นที่ภูเขาที่ตกค้าง โดยคำนึงถึงความเป็นย่านกลุ่มเขาแหล่งโบราณสถานโบราณคดีในภาพรวม และเร่งทำการอนุรักษ์ ไม่เปิดโอกาสให้มีการตัดเฉือนเพื่อระเบิดทำลายอีก โดยให้ดำเนินการศึกษาและดำเนินการอนุรักษ์โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
  4. เรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรมเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เร่งสร้างการอนุรักษ์พื้นที่โบราณสถานโบราณคดีให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องอนุรักษ์คุ้มครองแหล่งโบราณสถานโบราณคดี
เขายะลา
เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา เรียกร้องขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา //ขอบคุณภาพจาก: บัก หำน้อย

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา วรา จันทร์มณี ยืนยันว่าพื้นที่โบราณสถานดังกล่าวเป็นพื้นที่โบราณสถานที่สำคัญ และอาจเป็นพื้นที่ทางโบราณคดีผืนใหญ่ผืนสุดท้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ การขออนุญาตระเบิดในพื้นที่ที่เคยเป็นเขตโบราณสถาน จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อภาพเขียนสี และหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งนี้มีหลักฐานปรากฎชัดแล้วว่า หนึ่งในภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ยาว 3 เมตรในเขตโบราณสถานเขายะลาได้พังถล่มลงมาจากการระเบิดหินในพื้นที่

“กรมศิลปากรจำเป็นต้องเร่งเพิกถอนประกาศฉบับนี้โดยทันที เพราะว่าผู้ประกอบการเหมืองหินอุตสาหกรรมสามารถขอประทานบัตรทำเหมืองหินในพื้นที่ได้ทันทีภายหลังการประกาศ” วรา กล่าว

“นอกเหนือจากเขายะลา เราพบว่ายังมีภูเขาอีกหลายลูกในพื้นที่ภาคใต้ที่เตรียมมีการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมเพิ่ม ในฐานะที่กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล อนุรักษ์โบราณสถานทั่วประเทศ ดังนั้นกรมศิลปากรจึงควรดำเนินการสำรวจแหล่งโบราณคดีตามภูเขาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ก่อนที่มรดกทางประวัติศาสตร์อันเป็นสมบัติของคนทั้งชาติจะถูกทำลายจากการระเบิดภูเขา”

สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ทั่วประเทศต่างก็ประสบปัญหาความขัดแย้งจากการขยายพื้นที่สัมปทานระเบิดภูเขา ทำเหมืองหินอุตสาหกรรมเช่นกัน โดยมีภูเขาอย่างน้อย 8 ลูกในภาคใต้ที่พบว่ามีการเตรียมการขอสัมปทานเหมืองหิน ซึ่งนอกจากอาจส่งผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดี ยังเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่

“ธุรกิจเหมืองหินเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นค่อนข้างมาก จึงทำให้พบว่าเหมืองหินอุตสาหกรรมหลายโครงการ มักมีการใช้อำนาจอิทธิพลในการอนุมัติอนุญาต และการควบคุมดูแลโครงการ รวมถึงการข่มขู่คุกคามชาวบ้านและนักอนุรักษ์ในพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาคัดค้าน ดังเช่นกรณีของ เอกชัย อิสระทะ นักกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ที่ถูกอุ้มไปกักขังระหว่างเวทีประชาพิจารณ์โครงการเหมืองหินอุตสาหกรรม ที่จ.พัทลุง” สมบูรณ์ กล่าว

ภาพเขียนสี
หนึ่งในภาพเขียนสีในพื้นที่โบราณสถานเขายะลา //ขอบคุณภาพจาก: Somboon Khamhang

เขายังชี้ว่า กระแสการขยายพื้นที่ทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ เป็นผลโดยตรงจากนโยบายผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เพื่อเตรียมการผลิตหินอุตสาหกรรมในการก่อสร้าง เช่น การพัฒนาโครงการ “จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่อ.จะนะ จ.สงขลา หรือโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ซึ่งต่างก็เป็นโครงการที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาฃนในพื้นที่ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน

อนึ่ง จากกระแสข่าวว่า บริษัท เอสซีจี ได้รับสัมปทานให้เข้าไปทำเหมืองและใช้ประโยชน์จากเหมืองในพื้นที่โบราณสถานเขายะลา เอสซีจีชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องเข้าใจผิด บริษัทไม่ได้เข้าไปขอสัมปทานทำเหมืองในพื้นที่เขายะลา และไม่ได้รับซื้อหรือใช้ประโยชน์จากหินปูนจากพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองในพื้นที่ดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง