ชีวิตในเมืองต้องเผชิญหลากมลพิษ อากาศ แสง และเสียง ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้อง ทุกคนสามารถช่วยสำรวจพื้นที่ตน ผลักดันการเปลี่ยนแปลงเพื่อเมืองที่ดี
วิถีชีวิตในเมืองเป็นเรื่องหลีกหนีไม่ได้ของใครหลายคน ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่คนกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ “ความเป็นเมือง” กำลังเติบโตขึ้นในทุกพื้นที่ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เผย อีกไม่นาน ผู้คนมากถึง 70% จะอาศัยอยู่ในเมือง
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาได้รวมตัวพูดคุยถึงมลภาวะที่คนเมืองต้องเผชิญในเวทีเสวนาสาธารณะ “Citizen’s Senses of The City ชีวิตคนเมืองในมลภาวะ ‘อากาศ แสง เสียง’ ” จัดโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-STS) และโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ สามย่านโคออป ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

แม้ชีวิตคนเมืองต้องเผชิญกับมลภาวะหลายรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญในเวที เห็นร่วมกัน คือ ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นได้ โดยการช่วยข้อมูลสำรวจสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของตน เพราะข้อมูลเหล่านี้จะนำมาช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ขึ้น เช่น โครงการ GoodWalk เมืองเดินได้-เมืองเดินดี ซึ่งนำข้อมูลจากประชาชนที่ช่วยประเมินว่าย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ เหมาะแก่การเดินหรือไม่มาเป็นฐานข้อมูล หรือเว็บไซต์ Urbanis ซึ่งได้นำข้อมูลการเข้าถึงสาธารณูปโภคในพื้นที่ต่างๆ มาแปรเป็นแผนที่เข้าใจง่าย ทั้งหมดนี้มีเป้าประสงค์เพื่อจะพัฒนาให้ชีวิตในเมืองไม่ใช่เรื่องต้องอดทนอยู่ หากแต่เป็นชีวิตที่ดี
มลภาวะแรกที่มีมานานแล้ว แต่สังคมเพิ่งหันมาตื่นตัวเมื่อปีที่ผ่านมา คือ ประเด็นฝุ่น PM2.5 ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผย มาตราการแก้ไขฝุ่นในเมืองส่วนมากมักพุ่งไปที่การปล่อยไอเสียจากยานพาหนะ ทว่าต้นกำเนิดฝุ่นในกรุงเทพฯ ช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้ คือ การเผาไร่อ้อย เนื่องจากตรวจพบก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์จำนวนมากบริเวณทิศตะวันตกของประเทศ นอกจากนั้นยังพบว่าจำนวนจุดความร้อน (Hot Spot) ในไทยมีเพียง 16-17% ของทั้งหมด ขณะที่การเผาทางการเกษตรส่วนมากเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัมพูชา ซึ่งด้วยลักษณะภูมิศาสตร์แล้ว แม้ไม่มีลมพัด ฝุ่นสามารถกระจายเข้าสู่ประเทศไทยได้

ดร.ศิวัช ย้ำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตนเอง เพราะในฝุ่น PM2.5 มีสารก่อมะเร็ง และสัดส่วนสารก่อมะเร็งที่พบในฝุ่นแต่ละพื้นที่นั้นมีไม่เท่ากัน เช่น ในเมืองพบ “สารทังสเตน” จากไอเสียยานพาหนะมาก เพราะพฤติกรรมการขับรถที่ต้องเร่งคันเร่งและกดเบรกรถสลับกันเรื่อยๆ ทำให้เกิดสารประเภทนี้มาก
มลภาวะอีกอย่างที่สังคมไม่ค่อยตระหนักถึง คือ มลภาวะทางแสง แม้ว่าเราจะติดตั้งแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย แต่มลภาวะแสงคือผลพลอยได้ที่เราไม่ต้องการจากการให้แสงสว่างภายนอกอาคารในชุมชนเมือง ผศ.ดร.จรรยาพร สไตเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและออกแบบการส่องสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชักชวนให้ทุกคนคิดตามถึงมลภาวะทางแสงที่พบในชีวิตประจำวัน เช่น แสงจ้าจากสปอตไลท์ในท่าเรือ และแสงล่วงล้ำที่ล่วงล้ำเข้ามาในอาคารพักอาศัย รบกวนการใช้ชีวิต ซึ่งหากเวลานอนมีแสงรบกวน แม้เพียงปริมาณน้อยนิด จะส่งผลต่อฮอร์โมนในสมองซึ่งควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนินและคอร์ติซอลอันมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
เธอฝากให้ประชาชนรู้สิทธิและหน้าที่ของตนเกี่ยวกับเรื่องแสง โดยทุกคนมีหน้าที่เลือกติดตั้งแสงไฟให้ไม่รบกวนผู้อื่น เช่น เป็นโคมไฟกระจายแสงที่เหมาะสม ไม่กระจายแสงขึ้นด้านบนซึ่งไม่จำเป็น และหากได้รับแสงรบกวน สามารถร้องเรียนหน่วยงานท้องถิ่นได้ โดยเฉพาะยิ่งผู้สูงอายุ เพราะส่วนมากมักเป็นโรคต้อตา ต้องการแสงมากเพื่อใช้มอง หากแต่ไม่จ้าเกินไป หากอยากรู้เรื่องนี้เพิ่มเติม สามารถอ่าน คู่มือป้องกันมลภาวะทางแสง ฉบับประชาชน

มลภาวะบางอย่างมองไม่เห็นด้วยตา แต่เราสามารถได้ยิน มลภาวะทางเสียงเป็นเรื่องที่คนเมืองร้องเรียนมากเป็นอันดับ 2 รองจากมลภาวะอากาศ อ.ขจรศักดิ์ กิตติเมธาวีนันท์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายว่า ค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ปลอดภัย ต้องไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ และค่าระดับเสียงสูงสุดที่ควรได้รับในเวลาหนึ่ง ไม่ควรเกิน 115 เดซิเบลเอ ปัจจุบันเสียงในเมืองที่เราได้ยิน อย่างเสียงจราจรมีระดับความดังระหว่าง 50-90 เดซิเบล หลายคนอาจเลือกสวมหูฟังและเปิดเพลงเพื่อหลีกหนีเสียงไม่พึงประสงค์ แต่การฟังเพลงผ่านหูฟังนั้นมีระดับความดังถึง 70-100 เดซิเบลซึ่งส่งผลต่อการได้ยิน
มลภาวะทางเสียงไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความรำคาญ แต่ยังกระทบต่อสุขภาพ เพราะเสียงดังจะทำลายเซลล์ขนในหูซึ่งเป็นตัวรับเสียง หากสูญเสียไป จะไม่สามารถสร้างกลับมาทดแทนได้ นอกจากนั้นยังกวนความถี่ในการหายใจ วิธีการป้องกันควรลดหากลดเสียงจากแหล่งกำเนิด ถ้าหากเสียงก่อสร้างดังเกินไป สามารถร้องเรียนท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง นอกจากนั้นควรหาทางป้องกันตนเอง เช่น สวมอุปกรณ์ป้องกันเสียง ขณะที่ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ฝ่ายวิจัย เสริมว่า ทุกคนสามารถโหลดแอพพลิเคชั่นวัดระดับเสียง เช่น Noise Capture ไว้ในโทรศัพท์เพื่อตรวจวัดระดับเสียงด้วยตนเองได้
“เมื่อก่อนผมคิดว่าพื้นที่และทรัพยากรต่างๆ ไม่เป็นของรัฐก็เป็นของเอกชน แต่จริงๆ แล้วประชาชน คุณเองมีสิทธิกำหนดว่าสมบัติส่วนรวมของเราควรมีหน้าตาอย่างไร ทุกวันนี้ ประชาชนไม่ได้เป็นผู้รับข้อมูลอย่างเดียว แต่เป็นผู้รายงานและตรวจสอบข้อมูลด้วย” รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ หัวหน้าโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 กล่าว

ด้าน ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว แสดงความเห็นว่า รัฐควรตื่นตัวและเริ่มต้นจัดการปัญมลพิษด้วยมุมมองใหม่ เธอเชื่อว่าปัญหามลพิษทางแสงเป็นโอกาสดีในการสื่อสารเรื่องมลพิษใหม่ๆ ที่สังคมไม่ตระหนักมาก่อน อีกทั้งยังดำเนินการจัดการง่ายเพราะไม่มีผู้เสียประโยชน์จากเรื่องนี้ เช่น มลพิษทางอากาศที่อาจกระทบต่อผู้ก่อสร้าง