เริ่มแล้ว มาตรการ “60 วัน ห้ามเผา” ที่เชียงราย ผู้ว่าฯเตือนใครฝ่าฝืน ระวังเจอโทษหนัก

เชียงรายประกาศเริ่มมาตรการ “60 วัน ปลอดการเผาทุกชนิดโดยเด็ดขาด” แล้ว ตั้งแต่วันนี้ (22 กุมภาพันธ์) จนถึงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายมั่นใจ หน่วยงานท้องถิ่นพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันพิษ เชื่อมั่น ปีนี้เอาปัญหาหมอกควันอยู่ เผยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งจัดตั้งสถานที่ปลอดภัย (Safety Zone) ทั่วทั้งจังหวัด เพื่อเป็นสถานที่หลบภัยฝุ่น PM2.5 สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประจญ ปรัชญ์สกุล เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงรายปี 2562 – 2563 เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ มีมติกำหนดห้วงเวลาบังคับใช้มาตรการ “60 วันปลอดการเผาทุกชนิดโดยเด็ดขาด” ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประจำปี พ.ศ.2563 ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ จนถึง 21 เมษายน โดยอาศัยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นการป้องกันการก่อมลพิษฝุ่นควัน PM2.5 จากการเผาในที่โล่งในพื้นที่ภาคเหนือ

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประจญ ปรัชญ์สกุล //ขอบคุณภาพจาก: สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดเชียงราย

ประจญ กล่าวเตือนว่า หากมีการพบเห็นว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตการห้ามเผาในช่วงเวลาดังกล่าว จะถูกจับกุมดำเนินคดี อาจต้องโทษสูงถึง จำคุก 1 – 30 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 10,000 – 3,000,000 บาท โดยผู้ที่ผู้ชี้เบาะแสจะได้รับเงินรางวัลนำจับ 5,000 บาทด้วย

นอกจากนี้ เขากล่าวว่า ทางจังหวัดเชียงรายยังได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำสถานที่ปลอดภัย (Safety Zone) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทำการปกครองอำเภอ สถานศึกษา และห้างสรรพสินค้าทุกแห่ง และการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ลดมลพิษและป้องกันสุขภาพ โดยสถานที่ปลอดภัยดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ปิดที่มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เพื่อสร้างเป็นพื้นที่ปลอดฝุ่น PM2.5 สำหรับให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศ ได้เช้ามาใช้หลบภัยฝุ่นในช่วงที่หมอกควันหนาแน่น เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

โดยในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความพร้อมในการป้องกันบรรเทาสถานการณ์หมอกควันอย่างเต็มที่ ทั้งจากการเฝ้าระวังไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ตลอดจนได้จัดเตรียมชุดปฏิบัติการดับไฟป่าให้มีความพร้อมในการเผชิญเหตุอยู่เสมออีกด้วย ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า สุขภาพพลานามัยของชาวเชียงรายจะได้รับการดูแลอย่างดี ในช่วงวิกฤตการณ์หมอกควันปีนี้

สำหรับการประกาศใช้มาตรการห้ามเผาในพื้นที่จังหวัดอื่นๆในภาคเหนือ ขณะนี้ได้มีการประกาศมาตการห้ามเผาเด็ดขาดแล้ว 7 จังหวัด ดังนี้

  • จ.เชียงใหม่ ประกาศระยะเวลาห้ามเผา ระหว่างวันที่ 10 มกราคม – 30 เมษายน
  • จ.แพร่ ประกาศระยะเวลาห้ามเผา ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน
  • จ.น่าน ประกาศระยะเวลาห้ามเผา ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน
  • จ.พะเยา จ.ตาก จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง ประกาศระยะเวลาห้ามเผา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน

ในขณะที่ จ.แม่ฮ่องสอน จะเริ่มประกาศมาตรการห้ามเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน

Poster

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาหมอกควันฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้สั่งการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ด้านการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ในการนี้ วราวุธ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการสั่งการด้วยระบบบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการหลัก ในกรณีที่สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน และให้ออกประกาศห้ามเผาโดยทันที

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มีหน้าที่สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันฝุ่น PM2.5 เช่น กระทรวงกลาโหม สนับสนุนการลาดตระเวนและดับไฟ ทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศ,  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งเปลี่ยนพื้นที่เกษตรทั้งหมดใน 9 จังหวัดภาคเหนือไปสู่การเป็นเกษตรปลอดการเผา ภายใน 3 ปี, และสำหรับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟป่า โดยตั้งเป้าว่าในระหว่างวันที่ 15 มีนาคม ถึง 30 เมษายน นี้ จำนวนจุดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่ป่าต้องลดลงให้เหลือศูนย์

“ผมขอบคุณทุกหน่วยงาน ที่ได้เข้มงวดดำเนินมาตรการในการรับมือสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันอย่างเต็มกำลังความสามารถ และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่ทุ่มเทสรรพกำลังและทรัพยากร เพื่อหยุดการเผา และควบคุมไม่ให้ปริมาณฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานนับจากนี้จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563” วราวุธ กล่าว

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อ มาตรการห้ามเผาอย่างเด็ดขาดในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือว่า มาตรการดังกล่าวอาจไม่สามารถช่วยแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในระยะยาว อีกทั้งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ยากไร้จำนวนมากในท้องที่

hotspot
แผนที่แสเงจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 //ขอบคุณข้อมูลจาก: Smoke Watch

“มาตรการห้ามเผาของทางภาครัฐ และมาตรการงดซื้อข้าวโพดบนที่สูงจากทางภาคธุรกิจ ยังไม่อาจตอบโจทย์การแก้ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืนได้ เพราะมาตรการเหล่านี้ไม่ได้เปิดทางเลือกอื่นๆ ในการเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ให้กับเกษตรกร” วิษณุ กล่าว

ดังนั้น เขาจึงเสนอว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกัน หาทางเลือกใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร เพื่อให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร และลดละเลิกการเผาได้โดยไม่สร้างภาระให้กับชาวบ้านในที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง