นักนิเวศวิทยาและนักอนุรักษ์ประสานเสียง พลิกวิกฤตไฟป่าภูกระดึงฟื้นระบบนิเวศทุ่งหญ้าเดิม ลดเชื้อเกิดไฟป่า และอาจช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ แก้ปัญหาโลกร้อน
“สมัยก่อน บนหลังแปจะเป็นทุ่งหญ้ามีต้นสนใหญ่อยู่ประปราย สายลมพัดโบกไปตามท้องทุ่งหญ้า มองเห็นไกลสุดตา ต่อมาก็มีโครงการปลูกป่าสน จึงมีป่าสนขึ้นเต็ม มองไม่ค่อยเห็นทิวทัศน์”
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Oneman Show ทบทวนความประทับใจที่มีต่อการไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูกระดึงสมัยก่อนในกลุ่มเฟซบุ๊ก “กลุ่มรักภูกระดึง” ภายในกลุ่มคนรักอุทยานแห่งชาติที่นี้ เกิดบทสนทนาถกเถียงกันว่า…หลังจากเหตุไฟป่าเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ภูกระดึงจะเอายังไงต่อ?
หลายคนอาจนึกถึงวิธีการฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่ม ทว่าแกนนำนักอนุรักษ์ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กลับเสนอให้พลิกวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส ฟื้นฟูระบบนิเวศเดิมตามธรรมชาติซึ่งถูกทดแทนด้วยแนวสนซึ่งคนเข้าไปปลูก เขาให้เหตุผลว่าสมัยก่อนลักษณะระบบนิเวศบนภูกระดึงคือป่าต้นสนสลับทุ่งหญ้า เป็นที่ราบมีน้ำท่วมขังเวลาฝนตก มีไม้ล้มลุกจำนวนมาก เช่น พืชกินแมลงอย่างหยาดน้ำค้าง เทียนป่า หม้อข้าวหม้อแกงลิง กระดุมเงิน กระถินนา เรียกว่าระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำแอ่งลานทราย (Bog)

ทว่าราว 20-30 ปีก่อน มีโครงการปลูกต้นสนสองใบและสามใบบริเวณหลังแปมาถึงศูนย์วังกวาง รวมถึงเส้นวังกวางถึงผาหมากดูก ทำให้มีปริมาณต้นสนขึ้นแน่นเป็นจำนวนมาก สังเกตได้ว่าเป็นป่าปลูกด้วยต้นสนเรียงเป็นแถวและมีความสูงระดับเท่ากัน

ศศินชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่เกิดจากการมีต้นสนมากเกินไป ว่าต้นสนจะดูดน้ำจากพื้นที่ชุ่มน้ำมาก ทำให้พื้นดินแห้ง อีกทั้งยังเพิ่มไนโตรเจนในดิน เป็นผลให้ระบบนิเวศเปลี่ยน เกิดพืชหลายชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน
สอดคล้องกับ Wei Zhiling นักนิเวศวิทยาที่ศึกษาด้านสังคมพืชธรรมชาติ เขาอธิบายถึงผลกระทบที่เกิดจากการปลูกสนว่าเป็นเหตุให้เกิดไฟป่ามากขึ้น เพราะต้นสนจะใช้น้ำมาก ทำให้พื้นที่แห้ง อีกทั้งต้นสนยังเป็นเชื้อติดไฟง่ายและเศษซากกิ่งกับใบจะทับถมกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ดังนั้นภูกระดึงซึ่งถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรมจึงเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าได้ง่าย

นอกจากนั้นการปลูกสนยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน (Homogeneity) เป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของป่า พืชปลูกเข้ามาแข่งขันกับพืชท้องถิ่น เสี่ยงให้สายพันธุ์ธรรมชาติหายไป และการมีต้นสนมากเกินไปยังสร้างละอองเรณูจำนวนมาก ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของผู้คน คล้ายกับกรณีประเทศญี่ปุ่นซึ่งนิยมปลูกต้นซีดาร์เพิ่มหลังสงครามโลกถึง 44% ของพื้นที่ป่าในประเทศ จนทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากเป็นภูมิแพ้
นักนิเวศวิทยาผู้นี้เชื่อว่า การปลูกป่าผสมผสานพันธุ์พืชให้หลากหลายนั้นไม่เทียบเท่ากับการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูเอง เนื่องจากป่ามีศักยภาพฟื้นฟู เช่น ที่บ้านโคก ตำบลนามาลา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ชาวบ้านได้ปล่อยป่าให้คืนกลับมาเองตามธรรมชาติ
ยิ่งไปกว่านั้น การนำระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำบนภูกระดึงกลับมา อาจช่วยลดโลกร้อนได้มากกว่าป่าสีเขียวชะอุ่ม ตัวอย่างหนึ่งที่อาจเป็นบทเรียนแก่เหตุการณ์ภูกระดึงครั้งนี้ได้คือที่สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ช่วงปีพ.ศ.2523 มีความนิยมปลูกป่าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งกระทบต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำประเภท Peatland ซึ่งคล้ายคลึงระบบนิเวศบนภูกระดึง หลังจากตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงมีโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศนั้นในปีพ.ศ.2540 พื้นที่ระบบนิเวศชุ่มน้ำเพียงบริเวณหนึ่งจึงช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 400 ล้านตัน เป็นสองเท่ามากกว่าศักยภาพในการกักเก็บของป่าทั้งหมดในสหราชอาณาจักร เรียกได้ว่าระบบนิเวศดังกล่าวมักศักยภาพช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าระบบนิเวศบนบกอื่นๆ (Terrestial Ecosystem)
นักอนุรักษ์ทั้งสองจึงแนะให้เหตุไฟป่าภูกระดึงครั้งนี้เป็นโอกาสฟื้นฟูระบบนิเวศพรุบนเขาคืนมา ไทยพีบีเอสออนไลน์สอบถามความเห็นของสมบัติ พิมพ์ประสิทธิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เขาแสดงความเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว และยังเชื่อว่าระบบนิเวศทุ่งหญ้ายังเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า
ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกสนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก และเส้นทางตาก-แม่สอด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง