ศาลพม่าสั่งบริษัทเหมืองแร่ไทยชดใช้ชาวบ้านทวาย 2.4 ล้านบาท เหตุเหมืองดีบุกทำสิ่งแวดล้อมพัง

ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองดีบุกโดยบริษัทไทยในทวายชนะคดี ศาลทวายมีคำพิพากษาให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินกว่า 2.4 ล้านบาท ด้านทนายสิทธิฯ แนะรัฐไทยต้องให้ความใสใจต่อการกำกับควบคุมดูแลนักธุรกิจไทยในต่างแดน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่  7 มกราคม ศาลชั้นต้นเมืองทวายมีคำพิพากษาให้บริษัท เมียนมาร์  พงษ์พิพัทธ์ จำกัด บริษัทเหมืองแร่ดีบุกของนักธุรกิจไทยจ่ายค่าชดเชยแก่นายซอ ดา เชว (Saw Dah Shew) ชาวบ้านหมู่บ้านกะบันเชาว์ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่เหมือง เป็นเงินจำนวน 114,800,000 จั๊ต (ประมาณ 76,533 เหรียญสหรัฐ หรือราว 2,400,000 บาท) เนื่องจากก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.2558 ทางนายซอ ดา เชว ได้ฟ้องไปยังศาลทวายให้ทางบริษัทฯ ชดเชยความเสียหายต่อทรัพย์สินโดย เรียกร้องค่าชดเชยสำหรับต้นหมาก 882 ต้นที่ล้มตายอันเนื่องมาจากการดำเนินการของเหมืองที่ส่งผลให้น้ำและกากหางแร่จากเหมืองไหลลงมาท่วมและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง

เหมืองเฮงดา
การทำแร่ดีบุกที่เหมืองเฮงดา เมืองทวาย / แฟ้มภาพสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม เเม้นายซอ ดา เขวจะชนะคดีในศาลชั้นต้น บริษัทอาจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลภูมิภาคหรือศาลอุทธรณ์กลาง ซึ่งทำให้ต้องสู้คดีกันอีกครั้งหนึ่ง

ข้อมูลจากสมาคมพัฒนาทวายระบุว่า บริษัท เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัด เป็นบริษัทของนักธุรกิจไทยที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมา ดำเนินกิจการเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา ตั้งอยู่ใน เขตตะนาวศรี ทางภาคใต้ของพม่า มาตั้งแต่ปี 2542 บริษัทฯได้ร่วมกับกรมกิจการเหมืองแร่ ลำดับที่ 2 (Number 2 Enterprise) ในการประกอบกิจการ มีสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์อยู่ที่ ร้อยละ 65 สำหรับบริษัท เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ และ ร้อยละ35 สำหรับกรมกิจการเหมืองแร่ ลำดับที่ 2

“เป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านในชนบทห่างไกลจะฟ้องร้องบริษัทเรื่องผลกระทบที่มีต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาเนื่องจากการต่อสู้คดีในศาลใช้เวลายาวนาน”  ดอว์ มี มี โซ (Daw Mi Mi Soe) ทนายความของนาย ซอ ดา เชว ฝ่ายโจทก์ ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรเพื่อนแท้ (True Friends) กล่าว

“เรายอมรับคำพิพากษาของศาลซึ่งตั้งอยู่บนความยุติธรรม เราหวังว่าความสำเร็จของคดีนี้จะช่วยให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมในอนาคต”

ด้าน ส. รัตนมณี พลกล้า ผู้ก่อตั้งและทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และสมาชิกคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผลการตัดสินออกมาเป็นเช่นนี้ แต่แม้ว่าผู้เสียหายจะชนะคดีความในศาลแล้ว แต่ก็ต้องมีการติดตามการบังคับคดีต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทฯเป็นคนไทย จึงมีความน่าสนใจว่าทางการเมียนมาจะมีการบังคับคดีอย่างไร และทางเมียนมามีหลักการการวางหลักประกันที่จะไปยึดจากบริษัทมาจ่ายค่าเสียหายได้หรือไม่

กรณีเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา นับว่าเป็นกรณีที่มีการต่อสู้โดยการใช้กระบวนการศาลหลายครั้งและหลายคดีความ ไม่ว่าจะมาจากทั้งฝ่ายบริษัทและฝ่ายชุมชน ก่อนหน้านี้ในปี 2557 ชาวบ้านหมู่บ้านเมียวพิว ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับเหมืองแร่ดีบุกเฮงดามากที่สุด ห่างเพียง 2 กิโลเมตร ได้รวมตัวกันฟ้องไปยังศาลจังหวัดทวายให้ทางบริษัทชดเชยความเสียหายต่อทรัพย์สินและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตและวิถีชีวิตของชุมชน เนื่องจากการดำเนินการของเหมืองในปี พ.ศ.2555 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ และส่งผลให้พืชและสัตว์หลายชนิดเริ่มสูญหายไป พืชผลทางการเกษตร บ้านเรือน บ่อน้ำ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาศาลเมืองทวายได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากหมดอายุความ

น้ำเสีย
น้ำเสียจากการทำเหมืองปนเปื้อนในแหล่งน้ำบริเวณชุมชนรใกล้เคีึยงกับเหมืองแร่เฮงดา / แฟ้มภาพสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้นแล้ว ในปี 2560 ทางบริษัท เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัด ได้ฟ้องคดีต่อผู้สื่อข่าว นายปรัชญ์ รุจิวนารมย์ และบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย ในกรณีที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัท โดยได้รายงานการปล่อยหางแร่ออกจากเหมืองดีบุกและไหลลงสู่แม่น้ำโดยตรง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสำหรับการบริโภคของชาวบ้านที่หมู่บ้านเมืองเพียว เขตตะนาวศรี ประเทศเมียนมา อย่างไรก็ตามได้มีการไกล่เกลี่ยกันระหว่างผู้ฟ้องและในที่สุด

ส. รัตนมณี ในฐานะผู้ติดตามการปรับเปลี่ยนธรรมาภิบาลของทุนไทยในต่างแดนกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การลงทุนของไทยมีธรรมาภิบาลและมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น รัฐไทยควรกำหนดมาตรการรับเรื่องร้องเรียนกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการลงทุนไทยในต่างแดน เช่น การร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และได้รับการตรวจสอบโดยกรรมการสิทธิฯ การกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (กลต.) รับเรื่องร้องเรียนแล้วตรวจสอบ เพื่อมีบทลงโทษหรือกำหนดให้เกิดการรับผิด และสุดท้ายการออกกฎหมายความรับผิดต่อห่วงโซ่การลงทุน เช่น การที่บริษัทแม่ต้องรับผิดชอบต่อบริษัท

พร้อมกันนี้ เธอยังกล่าวเสริมอีกว่าบริษัทที่ออกไปลงทุนในต่างแดนก็ควรมีกลไกภายในของตนเองในการรับเรื่องร้องเรียนทั้งในส่วนของบริษัทแม่และบริษัทในเครือ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการหรือบริษัทจะต้องศึกษากฎหมายภายในนั้นๆ เพื่อลดผลกระทบมิใช่หาช่องว่างเพื่อเอาเปรียบ หรือต้องนำมาตรฐานที่ดีในการลงทุนไปใช้ในประเทศปลายทาง อย่างน้อยที่สุดต้องนำมาตรฐานที่ดีในไทยไปใช้