10 ประเด็นเด่นสิ่งแวดล้อมไทยในรอบปี 2562 (ตอนที่ 3: อุทกภัยและการเมืองเรื่องภัยแล้ง)

โดย: ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม เกิดฝนทิ้งช่วงในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคอีสาน นับเป็นเหตุการณ์ที่สื่อมีการนำเสนอข่าวจนน่าตกใจว่าเป็นภัยแล้ง ขณะที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณแบบโปรยเงินทั่วฟ้าให้นำไปแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยจังหวัดละ 200 ล้านบาท โดยกำหนดให้โครงการละไม่เกิน 5 แสนบาท เพื่อจะได้ไม่ต้องผ่านการประกวดราคาแบบอิเลกทรอนิค์ ซึ่งเท่ากับอาศัยช่องโหว่ที่เอื้อต่อการทุจริต

หลายจังหวัดใช้วิธีการง่ายๆ คือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้างเสนอโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยโดยให้เวลาที่กระชั้นชิด โครงการที่ถูกนำเสนอส่วนใหญ่จึงเป็นการขุดลอกแหล่งน้ำ แต่ยังไม่ทันที่งบประมาณจะมาถึง ได้เกิดพายุโพดุลพัดเข้าสู่ภาคอีสานและทำให้เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในหลายจังหวัด นับแต่บ้านไผ่ทางต้นน้ำชีลงไป จนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ตามด้วยหางของพายุอีกลูกที่ทำให้เกิดอุทกภัยแถบจังหวัดศรีสะเกษบริเวณเชิงเขาพนมดงรัก ขณะที่ภาคกลางตอนล่างก็ได้เกิดอุทกภัยเช่นกัน

ชาวบ้านผู้ประสบภัยวน้ำท่วมในจ.อุบลราชธานี กำลังขนย้ายข้าวของหนีน้ำท่วม หลังจากอิทธิพลของพายุโพดุลทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัดทางภาคอีสานตอนล่าง เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา //ขอบคุณภาพจาก: The Isaan Record / ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

อุทกภัยในครั้งนี้แทบไม่มีการเตือนภัยและการจัดการภัยพิบัติก็เป็นไปตามยถากรรม ส่วนใหญ่การดำเนินการของภาครัฐสะเปะสะปะ ไม่มีการนำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยมาใช้ ขณะที่การช่วยเหลือมาจากภาคเอกชน องค์กรการกุศล ภาคประชาสังคมเ และพรรคการเมืองฝ่ายค้านบางพรรคที่ลงไปช่วยเหลือ และแม้ว่าเกิดภัยพิบัติในวงกว้าง รัฐบาล แต่รัฐบาลกลับมุ่งไปที่การทำให้เป็นการเมืองโดยการโจมตีฝ่ายค้านที่ลงไปช่วยเหลือว่าเป็นการสร้างภาพ แต่นายกรัฐมนตรีเองก็ไปลงพื้นที่และถูกวิจารณ์หนักกว่าว่าเป็นการสร้างภาพและยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้กับผู้ที่ประสบอุทกภัยที่ต้องมีการเตรียมพื้นที่และระดมกำลังมาเพื่อรอต้อนรับ

ที่สำคัญก็คือ คำแนะนำของนายกรัฐมนตรีก็คือ น้ำท่วมให้เลี้ยงปลา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการเสนอที่ไม่ได้ใช้ความรู้ นอกจากนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือการหลังจากเกิดอุทกภัยแล้ว รัฐบาลจึงได้ตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย และการแก้ปัญหาก็คือการเร่งผลักดันน้ำลงน้ำโขงให้เร็วที่สุด โดยไม่สนใจว่าจะการจัดการน้ำในฤดูแล้งที่มาถึงจะเป็นอย่างไร ขอให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ขณะที่เห็นได้ชัดว่าไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุของอุทกภัย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มีแต่การเสนอโครงการที่จะผันน้ำลงโขงให้เร็วที่สุด และไม่ได้คำนึงถึงว่าเมื่อถึงฤดูแล้งจะเกิดปัญหาน้ำอย่างไร

หลังวิกฤตอุทกภัยเงียบลง กระแสภัยแล้งก็ถูกจุดขึ้นมาทันทีโดยนักการเมือง 2 พรรคใหญ่ ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล รวมทั้งพรรคเล็กๆ บางพรรค ที่ผลักดันโครงการผันน้ำและการสร้างเขื่อนทั่วประเทศ 19 โครงการ ซึ่งรวมถึงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล การผันโขงมาลงเขื่อนป่าสัก การผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินลงเขื่อนภูมิพล จนกระทั่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการจัดการน้ำในลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ และการโหมกระแสภัยแล้งก็ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 63 ขณะที่รัฐบาลอนุมัติงบอีก 3,000 ล้านบาทเพื่อขุดบ่อบาดาลแก้ปัญหาภัยแล้ง 500 บ่อ

หากไล่เรียงโครงการจัดการน้ำในปี 2562 ตั้งแต่รัฐบาล คสช. จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน โดยไม่นับรวมโครงการขุดบ่อบาดาล 3,000 ล้านที่รัฐบาลเพิ่งอนุมัติเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติโครงการจัดการน้ำดังนี้

  • 2 มกราคม 2562 รัฐบาล คสช.อนุมัติโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน (เขื่อนยางนาดี) จ.ชัยภูมิ 3,100 ล้านบาท
  • 8 มกราคม 2562 รัฐบาล คสช.อนุมัติโครงการขุดคลองบางบาล-บางไทร จ.อยุธยา 21,000 ล้านบาท
  • โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ จ.สกนคร 1,249 ล้านบาท และโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-ลำน้ำก่ำ จ.สกลนคร 2,100 ล้านบาท
  • สิงหาคม 2562 รัฐบาลปัจจุบันทำโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยโดยใช้งบฉุกเฉิน 15,000 ล้านบาท

สำหรับในระดับพื้นที่ก็ได้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการจัดการน้ำของรัฐบาลเป็นระยะทั้งที่เขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ คลองผันน้ำไชยมนตรี จ.นครศรีธรรมราช เขื่อนเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง ที่ต่อเนื่องมาจากปลายปี 2561 การประท้วงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระกบจากโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย โดยมีประเด็นที่สำคัญก็คือ การไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจโครงการ การเกิดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และการที่รัฐบาลและกรมชลประทานถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นอ้างพระราชดำรที่ไม่บังควร เพราะโครงการทำให้ประชาชนเดือดร้อนและไม่ใช่การจัดการน้ำที่เหมาะสม

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเล็กๆ ที่ถกเถียงกันในสังคม เช่น การดำเนินการเพื่อการจัดการน้ำที่เป็นทางออก ในทางปฏิบัติไม่มีการศึกษาก่อน คิดแต่จะทำแต่โครงการ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฝายมีชีวิตที่ทำลายระบบนิเวศน์ต้นน้ำและกลายเป็นขยะ หรือแม้แต่ธนาคารน้ำใต้ดินก็มีการแย่งกันดำเนินการ และบางที่ได้มีการนำฝังขยะไปใส่แทนก้อนหินจนกลายเป็นที่ฝังขยะ

ในปี 2563 สิ่งที่เราจะเห็นก็คือ ความขัดแย้งในการจัดการน้ำระหว่างรัฐกับประชาชนจะเพิ่มมากขึ้น และยังจะเห็นถึงความล้มเหลวในการจัดการน้ำที่ผ่านมา โดยเฉพาะการใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

 

 

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม เปิดพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับนักเขียนรับเชิญ ในการแสดงทรรศนะด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเปิดกว้าง