ทุกวันนี้เราเห็นพลังคนรุ่นใหม่จำนวนมากออกมาจุดประกายบทสนทนาเรื่องสิ่งแวดล้อมในสังคม สื่อสารมวลชนเองก็เป็นหนทางหนึ่งในการนำเสนอประเด็นสิ่งแวดล้อมจากหลากหลายพื้นที่ให้เป็นที่สนใจของผู้คน
เมื่อวันที่ 15 – 16 ธันวาคม พ.ศ.2562 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) จัดค่ายอบรมการทำข่าวสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 แก่นักศึกษานิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน “ค่ายพิราบเขียว” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนจำนวน 17 คนจาก 8 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้ฝึกฝนทักษะการสื่อสาร สร้างแรงบันดาลใจการประกอบอาชีพสื่อสารมวลชน และลงพื้นที่สัมผัสประสบการณ์ทำข่าวใน 3 พื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมพี่เลี้ยงและวิทยากรซึ่งเป็นนักข่าวมืออาชีพ

ชุมชนมิตตคาม ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานซังฮี้ ชาวบ้านอาศัยอยู่ริมน้ำและประกอบอาชีพดำน้ำงมหาของเก่ามาหลายชั่วอายุคน แต่ทางการแจ้งให้รื้อถอนบ้านและย้ายออกจากพื้นที่ตามพรบ. น่านน้ำไทยด้วยสาเหตุรุกล้ำพื้นที่แม่น้ำ ในช่วงดำเนินการโครงการก่อสร้างสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทอดตัวยาวจากสะพานกรุงธนฯ ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า

ชุมชนหนองแขม พุทธมณฑลสาย 3 ชุมชนที่ใช้ชีวิตและหารายได้จากกองขยะ คัดแยกขยะ ทำความสะอาดและนำมาขายเป็นสินค้ามือสอง ไม่ว่าจะเสื้อผ้า รองเท้าหรือวัสดุ เช่น พลาสติกและลังกระดาษ แม้จะขึ้นชื่อว่ากองขยะ ทว่ายังมีของสภาพดีนำมาขายได้เป็นจำนวนมาก

สวนทุเรียนเมืองนนท์ สวนทุเรียน จ.นนทบุรี ขึ้นชื่อด้วยความอร่อยและทุบสถิติราคาแพงที่สุดในโลก หากปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาน้ำเค็มและการผุดขึ้นของบ้านจัดสรรจำนวนมาก ทำให้พื้นที่สวนลดลง


“ทุกวันนี้ข่าวสิ่งแวดล้อมจะไม่พูดถึงแค่สิ่งกายภาพอย่างการสร้างเขื่อนและตัดป่าไม้เท่านั้น แต่ยังพูดถึงแนวคิดและพฤติกรรมด้วย เช่น การบริโภคที่ยั่งยืน หรือ การใช้แต่น้อย ที่สำคัญถึงแม้ว่าจะขึ้นชื่อว่าข่าวสิ่งแวดล้อม แต่การทำข่าวไม่ควรนำเสนอแต่ข้างนักอนุรักษ์อย่างเดียว ต้องนำเสนอให้ครบทุกเสียง ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่านำเสนอมุมเดียว แล้วให้คนดูตัดสินเอาเอง”
กิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวรายการข่าว 3 มิติ ไทยทีวีสีช่องและวิทยากรในงานให้ข้อคิดแก่นักศึกษา

มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยว่ารู้สึกยินดีที่ยังมีโครงการอบรมทำข่าวสิ่งแวดล้อมให้นักศึกษาอยู่ ปัจจุบันข่าวสิ่งแวดล้อมยังไม่เป็นที่สนใจของสังคมมากนัก นอกจากนั้นยังเป็นข่าวที่เขียนท้าทาย เพราะต้องอาศัยภูมิหลังทางข้อมูล อีกทั้งยังเชื่ือมโยงกับมิติต่างๆ ของสังคม ไม่ว่าจะด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

ด้าน ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล นักเขียนประจำนิตยสารสารคดีและประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเผยว่าข่าวสิ่งแวดล้อมยังมีประเด็นให้เล่าอีกมาก หวังว่าเยาวชนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับไปต่อยอดตามความถนัดและพัฒนาต่อในพื้นที่ตนเอง
“มาค่ายนี้แล้วได้เรียนรู้ว่าการเขียนข่าวสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องคิดว่าเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว เพราะจริงๆ แล้วสิ่งแวดล้อมสามารถเชื่อมโยงเป็นข่าวแบบอื่นได้ เช่น สิ่งแวดล้อมจะพวงมาด้วยข่าวเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชน”
นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการตกผลึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแบบประเมินกิจกรรม
คลิปกิจกรรมค่ายพิราบเขียวครั้งที่ 14