สมัชชาแม่น้ำย้ำยังมีคนคัดค้านโครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แถลงจุดยืนต่อต้านการสร้างทางเลียบรุกพื้นที่แม่น้ำ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและอัตลักษณ์ประเทศ พร้อมเสนอทางเลือกการพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมน้ำให้ประชาชนใช้
วันนี้ (3 ธ.ค.) สมัชชาแม่น้ำหรือที่รู้จักกันด้วยชื่อ “Friends of the River” แถลงจุดยืนคัดค้านการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ณ หอศิลปวัฒธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หลังจากกรุงเทพมหานครยังคงเดินหน้าโครงการก่อสร้างระยะแรก โดยอ้างว่าไม่มีผู้ใดคัดค้านโครงการนี้แล้ว

หนึ่งในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาคือโครงการสร้างทางเลียบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระยะทาง 12 กิโลเมตรเพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยว โครงการดังกล่าวมีแผนจะเริ่มสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 ทว่าตลอดเวลาที่ผ่านมามีเสียงคัดค้านจากองค์กรหลายฝ่าย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ประกาศเดินหน้าโครงการระยะแรก โดยฝั่งพระนครจะเริ่มสร้างจากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานสามเสน และฝั่นธนบุรีเริ่มจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด
สมัชชาแม่น้ำซึ่งประกอบด้วยองค์กรภาคเครือข่าย 35 องค์กร ทั้งด้านวิชาชีพ วิชาการ ประชาสังคมและชุมชน จึงออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านด้วยเหตุผลว่าการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรมและผังเมือง ที่สำคัญการดำเนินการสร้างยังเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจ้างวานสถานศึกษามาเป็นที่ปรึกษาโครงการ แถลงการณ์มีทั้งหมด 5 ข้อดังต่อไปนี้
- สมัชชาแม่น้ำเห็นด้วยกับการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแม่น้ำ ทว่าไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างทางสัญจรที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำ
- ทั้งที่กรุงเทพมหานครสามารถแก้ปัญหารุกล้ำแม่น้ำได้ด้วยอำนาจทางกฎหมาย ทว่ากลับไม่ทำ และกลับสร้างถนนคอนกรีตขนาดใหญ่รุกล้ำพื้นที่แม่น้ำ ทำให้แม่น้ำคับแคบลงร่วม 20 เมตร
- แม่น้ำเจ้าพระยาควรขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเพื่อยกฐานะเป็นมรดกโลกต่อไป เพราะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์วัฒนธรรมของชาติที่เชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตผู้คนกับสายน้ำ
- การก่อสร้างส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ เช่น สันฐานลำน้ำ การกัดเซาะตลิ่ง การตกตะกอนในลำน้ำ และการกักเก็บขยะมูลฝอย ซึ่งจะยิ่งเกิดผลเสียตามมาในกรณีที่มีน้ำท่วม กรุงเทพมหานครควรศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบ
- กรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนแผนก่อสร้างจากทางเลียบ 14 กิโลกเมตรเหลือเพียง 12.45 กิโลเมตร เพื่อหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ แสดงให้เห็นว่าโครงการยังไม่ได้มีการศึกษาที่รอบคอบและได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย แม้แต่หน่วยงานรัฐเอง

ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนายกสมาคมนักผังเมืองไทย กล่าวเสริมถึงประเด็นการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำกับผังเมือง เห็นว่าการสร้างทางเลียบแม่น้ำก่อให้เกิดผลเสียต่างๆ ไม่ว่าจะกระทบความเป็นส่วนตัวของชุมชนริมน้ำเพราะทางเลียบจะมีระดับความสูงเท่ากับชั้นที่สองของบ้านเรือน จะทำให้ผู้อยู่อาศัยได้ยินเสียงรบกวนจากผู้คนที่มาใช้พื้นที่และแสงไฟ รวมถึงสุ่มเสี่ยงต่อโจร
นอกจากนั้นยังลดทอนความปลอดภัยทางน้ำ เพราะเรือดับเพลิงหรือเรือขนส่งผู้ป่วยที่เข้าถึงทางน้ำ ไม่อาจเข้าถึงได้โดยตรงยามฉุกเฉิน ที่สำคัญยังทำลายอัตลักษณ์ของประเทศไทย เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มไปด้วยสเน่ห์ของบ้านเรือน ท่าเรือและวัดสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีทางเลียบแม่น้ำ ทว่าไม่มีวิถีชีวิตริมสองฝั่งน้ำ
“เราต้องการพื้นที่ริมน้ำ แต่เราไม่ได้ต้องการตลอดแนว” ดร. พนิต กล่าว
เขาชี้ว่ากรุงเทพมหานครมีพื้นที่รัฐริมน้ำมากมายที่สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้าใช้ได้ เช่น ลานวัด อู่ต่อเรือและสะพานปลา รัฐอาจออกแบบพื้นที่ดังกล่าวใหม่เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงหรืออาจส่งเสริมให้เอกชน เจ้าของพื้นที่ริมน้ำจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งให้สาธารณะใช้ เป็นทางเลือกพัฒนาพื้นที่ริมน้ำที่ไม่ต้องทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิม
ขณะที่ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยแสดงความคิดเห็นในฐานะนักขี่จักรยานคนหนึ่ง แน่นอนว่าตนอยากได้ทางจักรยาน ทว่าไม่ใช่ที่แม่น้ำเจ้าพระยา ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบและทำตามต่างประเทศที่มีทางเลียบริมแม่น้ำเพราะประเทศเหล่านั้นไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ นอกจากนี้นักขี่จักรยานส่วนใหญ่ยังชอบการขี่ลัดเลาะเส้นทางในชุมชนซึ่งปัจจุบันชุมชนริมน้ำเจ้าพระยามีเส้นทางเหล่านั้นให้เลือกหลากหลายอยู่แล้ว
ปัจจุบันสมัชชาแม่น้ำได้ยื่นเอกสารกับศาลปกครองว่าการดำเนินการก่อสร้างนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลปกครองรับเรื่องแล้วและอยู่ในขั้นตอนที่สมัชชาจะเตรียมยื่นเอกสารตอบกลับการโต้แย้งจากผู้ถูกฟ้องตามหลักฐานแท้จริงที่หาได้ในช่วงกลางเดือนมกราคม อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ประสานงานสมัชชาแม่น้ำ กล่าวย้ำว่าหากกรุงเทพมหานครยังคงดำเนินการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาต่อ สมัชชาจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ แต่จะดำเนินการคัดค้านให้ถึงที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง