โหมโรงก่อนเริ่มแบน 3 สารเคมีเกษตร – พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส – อย่างเป็นทางการวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีเกษตร 686 องค์กร แถลงจุดยืนร่วมเดินหน้าพลิกโฉมภาคเกษตรไทยสู่เป้าหมายแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยโลก ย้ำรัฐบาลต้องหนักแน่นมติแบน 3 สารพิษ พร้อมเสนอให้ออกมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกร ให้สามารถปรับเปลี่ยนสู่วิถีเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างราบรื่น
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวในเวทีแถลงข่าวระหว่างการสัมนาในหัวข้อ “แนวทาง ทางเลือก และมาตรการสนับสนุนเกษตรกร : หลังแบน 3 สารพิษ” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ยืนยันว่าภาคเกษตรไทยมีประสบการณ์และองค์ความรู้ในการควบคุมศัตรูพืชที่เพียบพร้อม สามารถทดแทนการใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งประกาศจุดยืนสนับสนุนภาครัฐในการยกเลิกใช้ 3 สารเคมีเกษตรที่มีอันตรายร้ายแรง แม้ว่าจะมีกระแสค้านจากกลุ่มทุนบางกลุ่มก็ตาม

วิฑูรย์เน้นย้ำว่า ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนและมติรัฐบาลให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีเกษตร เป็นสิทธิอธิปไตยของประเทศไทยในการประกาศห้ามใช้สารใดๆ อีกทั้งยังพบว่ามีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากจากสถาบันวิจัยชั้นนำเช่น สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ที่ยืนยันชัดเจนถึงความเป็นพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค
นอกจากนี้เขาโต้แย้งข้อมูลจากนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลที่ระบุว่า การยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรจะส่งผลกระทบให้ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอ้อย ลดลงกว่า 50% ว่า ข้อมูลนี้เป็นการกล่าวที่ปราศจากหลักฐานและงานวิจัยรองรับ ขัดแย้งกับหลักฐานงานวิจัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ยืนยันว่า การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรในการกำจัดวัชพืชในไร่อ้อยทำให้ได้ผลผลิตอ้อยสูงกว่าการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช
“ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลและไม่มีความจำเป็นใดๆที่รัฐบาลจะรับข้อเสนอของกลุ่มดังกล่าวในการเลื่อนการแบนพาราควอตออกไป” วิฑูรย์สรุป

ในขณะเดียวกัน เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีเกษตรยังได้เสนอข้อเรียกร้องเพิ่มเติมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรไทยให้เปลี่ยนผ่านจากเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว สู่วิถีเกษตรกรรมปลอดสารเคมีอย่างยั่งยืน โดยผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ทัศนีย์ วีระกันต์ ได้ระบุข้อเสนอ 3 ข้อแก่รัฐบาลดังนี้
- ออกมาตรการทางการเงินช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่พึ่งพิงการใช้สารเคมี สู่การทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีมีขีดความสามารถในการปรับตัวต่ำกว่าเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ
- ออกนโยบายส่งเสริมการทำเกษตรปลอดสารเคมีเช่น ลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืน
- ตรากฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมการใช้สารเคมีเกษตรภายในประเทศ และส่งเสริมการทำเกษตรปลอดสาร เช่น พ.ร.บ.สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และ พรบ.เกษตรกรรมยั่งยืน
รัถยา บุญแสน เกษตรกรจากจ.มหาสารคาม ได้เล่าประสบการณ์ของตนที่ได้เลิกใช้สารเคมีเกษตร และมาก หันมาทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานแทน โดยกล่าวว่า การเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยสิ้นเชิงในการทำการเกษตรสามารถทำได้จริง หากแต่การปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์เช่นนี้ เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะการทำเกษตรปลอดสารเคมีจำเป็นจะต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่มากกว่า และต้องลงแรงหนักกว่า หากแต่เมื่อชั่งน้ำหนักกับ รายได้ และสุขภาพของครอบครัว ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
“ก่อนหน้านี้ที่สวนเปลี่ยนทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ที่ถ้าหากไม่ใช้สารเคมีก็ทำไม่ได้ผล แต่พอเราใช้สารเคมีมากๆก็เจอปัญหาดินเสื่อม อีกทั้งญาติๆที่ทำเกษตรรูปแบบเดียวกันเริ่มเจ็บป่วยจากการสัมผัสสารเคมี ดังนั้นแม่เลยตัดสินใจหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกไม้ผลยืนต้นเช่น มะม่วง เสาวรส มะพร้าวน้ำหอม ผสมผสานกับสมุนไพรต่างๆ และใช้หลักการเกษตรเชิงนิเวศในการควบคุมศัตรูพืช โดยไม่ใช้สารเคมี” รัถยา กล่าว
เธออธิบายว่า การควบคุมศัตรูพืชด้วยหลักการเกษตรเชิงนิเวศ จะเน้นไปที่การปล่อยให้ธรรมชาติควบคุมปริมาณศัตรูพืชไม่ให้ทำลายพืชผลทางเกษตรจนเสียหาย เช่นการปล่อยให้แตนเบียนคอยกำจัดหนอนแมลงศัตรูพืช เพราะฉะนั้นการรักษาดูแลระบบนิเวศและธรรมชาติในพื้นที่เกษตรให้สมบูรณ์จึงมีความสำคัญยิ่ง

“การทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวแม้ดูผ่านๆจะเหมือนว่าทำเงินมากกว่า เพราะให้ผลผลิตมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน แต่กระนั้นการเพาะปลูกพืชผลหลากหลายก็ทำให้เรามีรายได้เล็กๆน้อยๆทั้งปี ซึ่งรวมๆแล้วสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่าการทำเกษตรแบบเดิมเสียอีก เพราะต้องรอรอบการเก็บเกี่ยวเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี และยังต้องเสียค่าสารเคมีเกษตรเป็นต้นทุนเพิ่มอีก” เธอกล่าว
อย่างไรก็ดี รัถยากล่าวว่า การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีการทำเกษตรมาเป็นเกษตรปลอดสารนับเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่คุ้นชินกับการใช้สารเคมี เพราะก็มีเพื่อนเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่เธอเป็นสมาชิกหลายคนที่ต้องล้มเลิกการทำเกษตรอินทรีย์ และหันกลับไปทำเกษตรเคมีอีกครั้ง จากปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรส่งเสริมการทำเกษตรปลอดสาร เพื่อเสริมขีดความสามารถของเกษตรกรรายย่อยให้หันมาสู่วิถีเกษตรกรรรมยั่งยืนได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง