ผู้เชี่ยวชาญเตือนเขื่อนคือเพชฌฆาตแม่น้ำโขง ย้ำต้องยกเลิกการลงทุนเขื่อนก่อนสายเกินการณ์

นักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ย้ำพัฒนาโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าและมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง พร้อมเตือนรัฐบาลและหน่วยงานที่มีอำนาจให้ยกเลิกแผนการพัฒนาเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในลุ่มแม่น้ำโขง เพราะผลกระทบจากเขื่อนจะผสมโรงกับผลพวงจากสภาวะโลกร้อน สร้างความเสียหายอย่างไม่อาจประเมินได้ต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในลุ่มน้ำโขง

การเคลื่อนไหวแสดงความกังวลและเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มต้นรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไชยะบุรี ในประเทศลาว ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่างที่ได้เริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบ อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้

เวทีเสวนา
ดร. Le Anh Tuan (คนที่ 2 จากขวา) และ Maureen Harris (คนขวาสุด) ในเวทีเสวนา “Silencing the Mekong : เขื่อนไซยะบุรี นับถอยหลังถึงวันเดินเครื่อง” / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

ดร. Le Anh Tuan นักวิชาการจากสถาบันวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ ในประเทศเวียดนาม กล่าวในเวทีการสัมนา “Silencing the Mekong : เขื่อนไซยะบุรี นับถอยหลังถึงวันเดินเครื่อง” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ว่า ผลกระทบโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายจะสร้างความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ดังเดิมต่อระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมของทั้งลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ความมั่นคงในชีวิตของประชาชน สิ่งแวดล้อม และสภาพเศรษฐกิจสังคมของทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น นับเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุด ต่อลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่เปราะบางที่สุดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และอาจทำให้พื้นที่นี้ทั้งหมดต้องจมอยู่ใต้ทะเลในอนาคตอันใกล้” ดร. Le Anh Tuan กล่าว

เขาเปิดเผยว่า ผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่ส่งผลต่อการไหลของน้ำและการเคลื่อนที่ของตะกอน ได้ทำให้ตะกอนกว่า 95% ไหลไปไม่ถึงปากแม่น้ำ ส่งผลให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทวีความสาหัสยิ่งขึ้นไปอีก โดยในขณะนี้พบว่าบางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งสูงถึง 20 เมตร/ปี มีพื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 393 จุด ทำให้ในแต่ละปีมีที่ดินกว่า 50 – 55 เฮกตาร์ (ราว 3,125 – 3,437 ไร่) จมหายไปกับทะเล เป็นเหตุให้ประชาชนในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินและต้องกลายเป็นผู้อพยพ

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงกล่าวย้ำว่า หนทางเดียวที่พอจะบรรเทาปัญหานี้ได้คือ ต้องยุติโครงการพัฒนาเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงทั้งหมด

ป่าไคร้ตาย
ป่าไคร้บนเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงซึ่งถือเป็นหนึ่งในระบบนิเวศสำคัญของแม่น้ำโขง ยืนต้นตาย จากความผันผวนของกระแสน้ำในแม่น้ำโขง //ขอบคุณภาพจาก: Chainarong Setthachua

เขายังได้แสดงความเห็นต่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเวียดนามในโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ที่แขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งล่าสุดบนแม่น้ำโขงที่ได้มีการประกาศเริ่มต้นโครงการอย่างเป็นทางการ ว่า เขารู้สึกตกใจเป็นอย่างยิ่งต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว เพราะการตัดสินใจลงทุนของรัฐวิสาหกิจเวียดนามในโครงการเช่นนี้ ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับท่าทีของรัฐบาลเวียดนามที่ได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบข้ามพรมแดนจากพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงมาโดยตลอด

“การตัดสินใจลงทุนในโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงในลาว สุดท้ายจะเป็นการบ่อนทำลายผลประโยชน์ของเวียดนามเสียเอง” ดร. Le Anh Tuan ทิ้งท้าย

ผู้อำนวยการองค์กรแม่น้ำนานาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Maureen Harris ให้ความเห็นเพิ่มต่อประเด็นผลกระทบเขื่อนบนแม่น้ำโขงในเวทีเสวนาเดียวกันว่า แม้ว่าบริษัทเจ้าของโครงการเขื่อนไชยะบุรี ซึ่งกำลังเริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าส่งออกยังประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ ได้เพิ่มงบลงทุนกว่า 19,400 ล้านบาท และปรับเปลี่ยนแบบแปลนของเขื่อนเพื่อรักษาบรรเทาผลกระทบต่อระบบนิเวศ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยและเคลือบแคลงในหลายประเด็นต่อมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการเขื่อนไชยะบุรี

Harris กล่าวว่า ปัญหาหลักเกิดจากการที่มาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่นำมาปรับใช้ในโครงการนี้ เช่น ทางปลาผ่าน ยังไม่ได้รับการทดสอบอย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงยังไม่สามารถกล่าวได้ว่ามาตรการตางๆที่ได้นำมาใช้ในโครงการเขื่อนไชยะบุรีจะมีประสิทธิภาพในการบรรเทาผลกระทบได้จริง อีกทั้งการนำมาตรการที่ยังไม่ได้รับการทดสอบมาใช้ ทำให้ถือได้ว่าเขื่อนไซยะบุรีกำลังใช้แม่น้ำโขงเป็นห้องทดลอง อาจส่งผลกระทบอย่าวร้ายแรงต่อระบบนิเวศน์ที่เปราะบางและความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำโขงได้

นอกจากนี้ Harris ยังระบุว่า โครงการเขื่อนไชยะบุรียังมีปัญหาความโปร่งใส เพราะข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับแบบแปลนโครงการ หรือการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน ถูกปิดเป็นความลับ รวมถึงข้อมูลอีกหลายประเภทเช่น อัตราการระบายตะกอนของเขื่อน ก็ยังมีความลักลั่นไม่ตรงกันระหว่างเจ้าของโครงการ กับผู้เชี่ยวชาญอิสระของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) นำไปสู่ข้อกังขาว่าเขื่อนไชยะบุรีจะมีประสิทธิภาพในการลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำอย่างที่บริษัทเจ้าของโครงการกล่าวหรือไม่

“การเพิ่มงบลงทุนในเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่อาจถือเป็นหลักประกันว่า ระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำโขงจะได้รับการป้องกัน ประเด็นประสิทธิภาพของมาตรการลดผลกระทบจากเขื่อนไชยะบุรีถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วทั้งลุ่มแม่น้ำโขง” Harris กล่าว

เขื่อนไชยะบุรี
ภาพมุมสูงของเขื่อนไชยะบุรี ซึ่งตั้งขวางแม่น้ำโขงในแขวงไชยะบุรี ประเทศลาว / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

จากรายงานข่าวของกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมว่า ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้บริหารเขื่อนไชยะบุรี ให้ข้อมูลว่า กฟผ.ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมในการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับโครงการแล้ว หลังจากหลังจากมีการเดินเครื่องทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ. และเริ่มจ่ายไฟไปยังประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย

โดยเขากล่าวย้ำว่า นอกเหนือจากการเปิดขายไฟเชิงพาณิชย์ได้ทันตามเวลา การลงทุนด้านไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนไชยะบุรียังเน้นการพัฒนาที่อยู่บนความสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เรียกร้องให้ทบทวนและชะลอแผนการการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะไฟฟ้าจากเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศลาว และเสนอให้หันไปลงทุนจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก เช่น แสงแดด หรือ ลม แทน ด้วยข้อกังวลที่ว่านโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าอื่นๆตามแผนในแม่น้ำโขง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตประชาชนตลอดทั้งลุ่มน้ำในที่สุด

เขื่อนไชยะบุรี มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟให้ กฟผ.1,220 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี โดยส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ ไปยังอ.ท่าลี่ จ.เลย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง