มติเอกฉันท์ คณก.วัตถุอันตรายแบน 3 เคมีเกษตรแล้ว เริ่มต้นธันวาคมนี้

ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัดสินแบน 3 สารกำจัดศัตรูพืช – พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส – โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป ในขณะที่ฝั่งต่อต้านการแบน 3 สารเคมีเกษตรเผย เตรียมฟ้องศาลปกครองวันจันทร์นี้ เพื่อยับยั้งมติแบนสารเคมี

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งที่ 41-9/2562 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย อ่านคำแถลงผลการประชุม โดยระบุว่า ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้มีการปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ที่จะถึงนี้

ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี
ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อ่านคำแถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

คำแถลงระบุว่า คณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาข้อมูลผลการศึกษาของคณะทำงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรายงานว่า สามารถบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ จากการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการได้ รวมถึงข้อมูลความเป็นอันตรายของสารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิด และข้อมูลการตรวจสอบเฝ้าระวังสารตกค้างในสินค้าเกษตรในท้องตลาด จากผู้แทนหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และข้อมูล ข้อเสนอที่ได้รับจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ต้องการให้ยกเลิกการใช้ และส่วนที่ไม่เห็นด้วยหากจะยกเลิกการใช้ มาพิจารณาในที่ประชุมด้วย

ภายหลังการพิจารณา สมาชิกคณะกรรมการฯที่เข้าร่วมประชุมทั้ง 26 คน ได้มีการลงมติแบบเปิดเผย โดยมีผลการลงมติออกมาดังนี้

พาราควอต

  • ยกเลิกการใช้ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จำนวน 20 คน
  • ยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564
  • จำนวน 1 คนจำกัดการใช้ จำนวน 5 คน

ไกลโฟเซต

  • ยกเลิกการใช้ จำนวน 19 คน
  • จำกัดการใช้ จำนวน 7 คน

คลอร์ไพริฟอส

  • ยกเลิกการใช้ จำนวน 22 คน
  • จำกัดการใช้ จำนวน 4 คน
พาราควอต
เกษตรกรในจ.หนองบัวลำภูกำลังเตรียมยาฆ่าหญ้า พาราควอต ก่อนนำไปฉีดพ่นในแปลงเกษตร / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการฯได้มอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตร ไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลา ความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น โดยให้รับรองมติในที่ประชุม

ด้าน รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์หลังจากทราบมติของคณะกรรมการวันนี้ว่า ดีใจมากๆ  จนพูดไม่ออก เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาโดนคุกคามมาตลอด ทั้งทางด้านจดหมาย การถูกดิสเครดิตเรื่องงานวิชาการ วันนี้สิ่งที่ทำมาและยืนหยัดมาตลอดเห็นผลแล้ว

“ไม่กลัวการที่จะถูกฟ้องร้องจากอีกฝ่าย เพราะเรามีข้อมูล มีงานวิจัยที่มีหลักวิชาการรองรับ และยิ่งขึ้นศาล ทุกคนก็จะได้รับรู้ข้อมูลของแต่ละฝ่ายอย่างเปิดเผย และตรงไป ตรงมาโดยใช้หลักวิชการ” เธอกล่าว

และบอกว่า สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ จะทำอย่างไรที่เกษตรกรจะไม่ใช้สารเคมีอีก ทำอย่างไรจะเปลี่ยนวิธีคิด ของเกษตรกรว่าการทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ก็สามารถทำในพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวได้ ที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลมิตรผลก็ได้ทดลองทำเกษตรอินทรีย์ในแปลงอ้อยขนาดใหญ่มาแล้ว

เธอกล่าวว่า ได้มีการคุยกันในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตร โดยมีแนวทางที่จะเสนอรัฐบาลคือ

  1. รัฐต้องมีมาตรการ ให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร จากสารเคมีเป็นอินทรีย์ โดยดูทั้งระบบ ทั้งเกษตรกร นายทุน เป็นต้น
  2. ควรจะมีเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เปลี่ยนรูปแบบการผลิต
  3. เสนอให้มีการเก็บภาษี ผู้นำเข้าสารเคมี เพื่อนำเงินดังกล่าวมาเป้นกองทุน ในการเปลี่ยนแปลงการผลิต

รศ.ดร.พวงรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย ขอบคุณทุกๆฝ่ายที่ร่วมกันยืนหยัดด้วยจนมีวันนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ยังต้องขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป เพื่อผลักดันให้เกิดเกษตรที่ปลอดสารเคมี

อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร
อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังการประชุมลงมติแบน 3 สารเคมีเกษตร เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

ในขณะที่ฝั่งกลุ่มผู้ต่อต้านการแบนสารเคมีเกษตร อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ประกาศหลังมีการเปิดเผยมติแบนการใช้ 3 สารเคมีเกษตรว่า เครือข่ายเกษตรกร รู้สึกผิดหวังต่อมติในวันนี้ เพราะการแบนการใช้ 3 สารเคมีเกษตร จะทำให้ต้นทุนการทำการเกษตรของเกษตรกรพุ่งสูงขึ้นจนเกินรับไหว เพราะสารเคมีที่กรมวิชาการเกษตรเสนอให้ใช้ทดแทนมีราคาสูงกว่า 3 สารดังกล่าวมาก

ดังนั้นทางกลุ่มเกษตรกรที่ต่อต้านการแบน 3 สารเคมีจึงจะไปร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั้งคุ้มครองมิให้มีการบังคับใช้คำสั่งแบนไปก่อน โดยทางกลุ่มจะไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลางในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (28 ตุลาคม)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง