เครือข่ายต้านการใช้สารเคมีเกษตรประเมิน ผลการลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะออกมาในรูปแบบใด ขึ้นอยู่กับเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องว่าจะรักษาสัญญาที่ว่าจะแบนหรือไม่ ถือเป็นการวัดใจรัฐบาลว่าจะมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช – พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส – เพียงใด ก่อนคณะกรรมการฯจะประชุมเพื่อตัดสินใจในประเด็นดังกล่าววันที่ 22 ตุลาคม นี้
ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์วิทยาศาสตร์ชื่อดังจาก ภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คอมเมนต์แรง อย่าโลกสวยสนับสนุนให้เมืองไทยเป็นประเทศเกษตรออแกนิคและแบนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพราะจะทำให้ภาคเกษตรของไทยแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้

ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (thai-pan) ปรกชล อู๋ทรัพย์ ให้ความเห็นในประเด็นที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการประชุมลงมติว่าจะยกเลิกการใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ว่า แม้ว่ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะแสดงท่าทีต่อสาธารณะอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนการแบน 3 สารเคมีเกษตร หากแต่การลงมติในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าผลจะออกมาในรูปแบบใด เพราะขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกคณะกรรมการวัตถุอันตรายจากกระทรวงดังกล่าวจะมีความจริงใจต่อคำมั่นของตนเพียงใด
ด้วยเหตุนี้ ปรกชล กล่าวว่า ตัวแทนจากเครือข่ายสนับสนุนการแบน 3 สารเคมีเกษตรจะนัดรวมตัวกันที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 21 ตุลาคม เพื่อประกาศแสดงจุดยืนให้มีการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีเกษตร เพื่อปกป้องสุขภาพคนไทยทุกคนจากความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจได้รับจากการรับสัมผัสสารเคมีเกษตรเหล่านี้ทั้งในอาหารและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย 29 คน ลงมติโดยเปิดเผย
ขณะเดียวกัน มูลนิธิชีววิถี ระบุในวิเคราะห์ผลการลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในแฟนเพจเฟสบุ๊คของกลุ่มในทางเดียวกันว่า ผลการลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย สามารถออกมาได้ 3 แนวทาง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวแทนจาก 4 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเลื่อนการประชุมออกไปก่อน ซึ่งถ้าผลออกมาในรูปแบบนี้ มูลนิธิชีววิถีมองว่าจะเป็นการเตะถ่วงกระบวนการแบน 3 สารกำจัดศัตรูพืชออกไป แสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลต่อการแบน 3 สารเคมีเกษตร
- ลงมติให้แบนเฉพาะสารเคมีเกษตรบางตัวเท่านั้น ซึ่งมูลนิธิชีววิถีมองว่า รัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องจำเป็นอธิบายประชาชนให้ชัดเจนว่าทำไมถึงเลือกแนวทางดังกล่าว เพราะแนวทางดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็นความพยายามในการลดกระแสต้านการใช้สารเคมีเกษตรในหมู่ประชาชนลง
- ลงมติให้ยกเลิกการใช้ทั้ง 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

โดยมูลนิธิชีววิถีประเมินว่า หากมีเพียงตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรฯ ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการฯ ทั้ง 2 ท่าน ที่ประกาศยืนยันว่าจะยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีเกษตร ผลการลงมติจะออกมาเป็น “ไม่แบน” ชนะด้วยเสียง 11 ต่อ 10
แต่ถ้าหากตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงมติ “แบน” ด้วย ผลการลงมติจะออกมาเป็นฝ่าย “แบน” ชนะขาดด้วยเสียง 13 เสียงต่อ 7 เสียงโดยประมาณ
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิชีววิถี จึงสรุปว่า การลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ตุลาคม จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่จะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยพร้อมจะเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่แนวทางการทำเกษตรปลอดสารพิษ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในประเทศหรือไม่ หรือจะยังคงเลือกพึ่งพิงการใช้สารพิษร้ายแรง เพื่อผลิตวัตถุดิบเกษตรราคาถูกป้อนตลาดโลก
อนึ่ง คณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจในการตัดสินใจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายในการอนุญาตและสั่งห้ามการผลิต นำเข้า หรือใช้งาน สารเคมีเกษตรในประเทศไทย โดยคณะกรรมการประกอบไปด้วยสมาชิก 29 คน จากหน่วยงานรัฐและผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง
แม้ว่าที่ผ่านมารัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง หรือแม้แต่ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีเกษตร ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังคงมีมติเมื่อ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 ให้เพียงแต่จำกัดการใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เท่านั้น ซึ่งยังเท่ากับว่า 3 สารเคมีเกษตรดังกล่าวยังคงสามารถผลิต นำเข้า และใช้ในการเกษตรได้
ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เปิดเผยผ่านโพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัว Jessada Denduangboripant และแฟนเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ต่อคำแถลงเรื่องการแบนสารเคมีเกษตรของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ว่า รมช.มนัญญา กำลังเข้าใจผิดว่าหลายประเทศในอาเซียนเลิกใช้สารเคมีเกษตรแล้ว แต่ข้อมูลกลับชี้ว่า หลายๆประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย ยังมีการใช้สารเคมีเกษตรกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันการส่งออกสินค้าเกษตรของตน
รศ.ดร.เจษฎา ได้อ้างอิงข้อมูลจาก องค์การอาหารโลก (FAO) ที่ระบุว่า ประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการใช้ยาฆ่าแมลงเฉลี่ย 0.89 กิโลกรัม/เฮกแตร์ ของพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ หรือราว 0.14 กิโลกรัม/ไร่ โดยประเทศไทยมีอัตราการใช้ยาฆ่าแมลงมากกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียนเล็กน้อย คือ 1.02 กิโลกรัม/เฮกแตร์ หรือ 0.16 กิโลกรัม/ไร่

“จะเห็นว่าปริมาณการใช้ยาฆ่าแมลงของประเทศในอาเซียนนั้นไม่ใช่น้อยเลย โดยเฉพาะประเทศอย่างมาเลเซีย (ใช้ยาฆ่าแมลง 5.9 กิโลกรัม/เฮกแตร์ หรือ 0.94 กิโลกรัม/ไร่) ซึ่งแข่งขันด้านพืชไร่กับเราหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นยางพาราหรือปาล์มน้ำมัน ไม่นับรวมไปถึงประเทศใกล้เคียงเรา อย่างจีนหรือญี่ปุ่น (ที่คนไทยนิยมบริโภคผักผลไม้จากประเทศเหล่านี้) ซึ่งมีปริมาณการใช้ยาฆ่าแมลงมากมายมหาศาล เพราะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่” รศ.ดร.เจษฎา ระบุ
“ดังนั้น การที่พยายามประโคมให้ประเทศไทย เป็นประเทศปลอดสารหรือเกษตรอินทรีย์ 100% มันเป็นภาพที่เป็นมายาคติ โลกสวยเอามากๆ และจะทำให้เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านและประเทศเกษตรอื่นๆ ในโลกด้วย เรื่องแบบนี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจมากเป็นพิเศษนะครับ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เอ็นจีโอกังขาผลประโยชน์ทับซ้อนคณะกรรมการ ขัดขวางแบน ‘พาราควอต’ โชยกลิ่นคอร์รัปชั่น
- มติ 3 กระทรวง ‘สธ.-เกษตร-อุตสาหกรรม’ เห็นพ้องแบนสารเคมี ‘พาราควอต’ ใน 2 ปี
- กระทรวงเกษตรฯยื้อใช้ ‘พาราควอต’ อีก 2 ปี อ้างเหตุต้องเตรียมหานวัตกรรมอื่นมาทดแทน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง