แม่น้ำโขงเผชิญวิกฤตระดับน้ำผันผวนรุนแรงอีกครั้ง หลังชาวบ้านริมโขงในอ.สังคม จ.หนองคาย พบระดับน้ำโขงลดลงอย่างน่าวิตกจนใกล้เคียงกับระดับน้ำต่ำสุดเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้สัตว์น้ำจำนวนมากหนีน้ำลดไม่ทัน แห้งตายคาหาดทรายเกลื่อน ด้านสำนักงานน้ำและทรัพยากรแห่งชาติ (สทนช.) แจ้งว่าได้รับข้อมูลแล้ว เบื้องต้นน้ำลดเกิดจากฝนน้อยทั่วลุ่มน้ำโขง พร้อมประสานประเทศต้นน้ำแก้ไขปัญหา
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ชัยวัฒน์ พาระคุณ ชาวบ้านบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ให้ข้อมูลว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในขณะนี้มีปริมาณลดต่ำอย่างมากจนมีระดับใกล้เคียงกับระดับน้ำลดต่ำสุดในฤดูน้ำหลากปีนี้เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม โดยระดับน้ำยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ทั้งระบบนิเวศแม่น้ำโขงปรับตัวไม่ทัน เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง นำไปสู่ผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อวิถีชีวิตประชาชนตลอดสองฝั่งลำน้ำโขง

ชัยวัฒน์ กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำโขงแห้งครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งที่รุนแรงมาก สังเกตได้จากระดับน้ำโขงที่แห้งลงจนเผยซากป่าไคร้แห้งตาย เกาะแก่ง และหาดทรายยาวเหยียด เหลือเพียงร่องน้ำลึกกลางแม่น้ำโขงเท่านั้น แม้ว่าในช่วงนี้ของปียังถือว่าอยู่ในฤดูมรสุมก็ตาม โดยระดับน้ำในขณะนี้เหลืออีกเพียงราวๆ 30 เซนติเมตรก็จะเท่ากับวิบัติแม่น้ำโขงแล้งเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ระดับน้ำที่ลดอย่างรวดเร็วยังส่งผลให้สัตว์น้ำจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝูงสัตว์น้ำวัยอ่อนที่เพิ่งออกจากไข่ ว่ายหนีลงน้ำลึกไม่ทัน แห้งตายติดหาดเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ชัยวัฒน์และชาวประมงพื้นบ้านริมโขงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าในปีหน้าชาวบ้านจะไม่มีปลาจากแม่น้ำโขงให้จับอีกต่อไป
“เราเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำโขงลดลงจนแห้งผิดฤดูกาลเช่นนี้มาจากการจัดการน้ำของเขื่อนเหนือน้ำอย่างแน่นอน เพราะเราสังเกตว่าระดับน้ำโขงมีความผันผวนอย่างมาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 – 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดฮวบถึง 2 เมตรภายในคืนเดียว” ชัยวัฒน์กล่าว
“ผลจากการที่สัตว์น้ำจำนวนมากตาย ทำให้เรากังวลว่านี่อาจเป็นจุดจบของความสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง เพราะจำนวนปลาที่น้อยลงอย่างมากในปีหน้าจะบีบให้ชาวบ้านฝั่งลาวใช้วิธีจับปลาแบบทำลายล้างมากขึ้น เพื่อพยายามหาปลาให้ได้มากที่สุด”

ด้วยเหตุนี้ ชัยวัฒน์แสดงความกังวลอย่างยิ่งถึงแผนการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งจะเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งที่ 5 ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขงสายประธานในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ว่า อาจจะยิ่งทำให้ระดับน้ำโขงผันผวนหนักขึ้น และทำให้ผลกระทบจากเขื่อนต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นเขาจึงเรียกร้อง สทนช. ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของไทยในเวทีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ให้รักษาผลประโยชน์ของประเทศและคัดค้านการสร้างเขื่อนดังกล่าว
อนึ่ง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ประกาศเริ่มต้นกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ของเขื่อนหลวงพระบางแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา และมีกำหนดเสร็จสิ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดย MRC ให้ข้อมูลว่าเขื่อนหลวงพระบางจะเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river dam) ขนาด 1,460 เมกกะวัตต์ บริหารงานโดยบริษัท Luang Prabang Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเวียดนาม ก่อตั้งโดย บริษัท PetroVietnam Power Corporation คาดว่าเขื่อนจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบในปีพ.ศ.2570 โดยยังไม่แน่ชัดว่าไฟจากเขื่อนหลวงพระบางจะขายให้กับประเทศไทยหรือเวียดนาม
ด้านเลขาธิการ สทนช. สมเกียรติ ประจำวงษ์ กล่าวว่า สทนช.ได้รับรายงานถึงสถานการณ์น้ำโขงแล้งผิดปกติเรียบร้อยแล้ว คาดว่าสถานการณ์น้ำโขงลดต่ำผิดฤดูกาลที่เกิดขึ้น เกิดจากปริมาณฝนที่ตกต่ำกว่าที่คาดการณ์ตลอดทั้งลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้มีน้ำมาเติมลำน้ำโขงและลำน้ำสาขาน้อยกว่าที่ควรจะเป็นทั้งในประเทศลาวและประเทศจีน จึงเป็นเหตุให้การปล่อยน้ำจากเขื่อนเหนือน้ำในประเทศทั้งสองมีปริมาณน้อยตาม

จากความแห้งแล้งผิดปกติที่เกิดขึ้น สมเกียรติ เตือนว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงปีนี้จะคงสภาพต่ำกว่าเกณฑ์ไปทั้งปี ทั้งนี้ สทนช. ได้แจ้งการไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงทั้งหมดแล้ว ให้แจ้งเตือนประชาชนเรื่องระดับน้ำในแม่น้ำโขงต่อไป โดยทาง สทนช. ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยในเวทีการเจรจาการจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขง ได้แจ้งต่อรัฐบาลประเทศจีนและลาวถึงสถานการณ์น้ำแล้งที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขง เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว
สำหรับประเด็นการสร้างเขื่อนหลวงพระบางในประเทศลาว สมเกียรติ กล่าวว่า รัฐบาลลาวได้ส่งข้อมูลรายละเอียดของโครงการเขื่อนรัฐบาลผ่าน MRC มาให้ประเทศสมาชิกรวมถึงไทยนำไปศึกษาเรียบร้อยแล้ว โดยในขั้นตอนต่อไปนั้น ฝ่ายไทย โดย สทนช.จะเร่งดำเนินการจัดเวทีชี้แจงให้ข้อมูลโครงการแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ริมลำน้ำโขง 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เพื่อรวบรวมความเห็นและข้อกังวลจากทางฝั่งไทยไปนำเสนอยังเวทีการปรึกษาหารือล่วงหน้าระหว่างชาติสมาชิก MRC ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักสิ่งแวดล้อมวิพากษ์ กระบวนการ PNPCA ตรายาง ทำน้ำโขงวิบัติ หลังลาวประกาศเดินหน้าเขื่อนหลวงพระบาง
กรมประมงปล่อยปลาล้านตัวแก้วิกฤตปลาแม่โขงสูญพันธุ์ นักวิชาการเตือนระวังเสียมากกว่าได้