กทม.ติดตั้งหอฟอกอากาศเครื่องแรกที่หน้าเซ็นทรัลเวิร์ล นักวิชาการชี้ช่วยลด PM2.5 ได้ไม่มาก

กรุงเทพมหานครเปิดทดลองหอฟอกอากาศเครื่องแรกที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล หวังแก้ปัญหาฝุ่นควันมลพิษ PM2.5 ด้านนักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้หอฟอกอากาศไม่คุ้ม ช่วยลด PM2.5 ได้ไม่มาก สวนทางกับราคา พร้อมเผยบีทีเอสทำผิดเงื่อนไข EIA ไม่ติดตั้งพัดลมระบายอากาศใต้สถานี ทำให้พื้นที่ใต้สถานีบีทีเอสมีปัญหาฝุ่น PM2.5 หนักที่สุด

ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ชาตรี วัฒนเขจร เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมว่า กรุงเทพมหานครได้ติดตั้งหอฟอกอากาศเครื่องแรกในกรุงเทพฯเรียบร้อยแล้วที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล เขตปทุมวัน เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 โดยจะทดลองใช้เป็นเวลา 1 เดือนเพื่อทดสอบสมรรถภาพในการฟอกอากาศ ก่อนตัดสินใจขยายการติดตั้งหอฟอกอากาศเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆในอนาคต

หอฟอกอากาศ
กรุงเทพมหานครติดตั้งหอฟอกอากาศเครื่องแรกเพื่อทดลองสมรรถภาพการฟอกอากาศบริเวณด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล //ขอบคุณภาพจาก: สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หอฟอกอากาศเป็นนวัตกรรมใหม่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยหอฟอกอากาศเครื่องดังกล่าวมีบริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ให้การสนับสนุนในการติดตั้ง โดยหลังจากนี้จะมีการตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ทั้งก่อนและหลังการติดตั้ง หากได้ผลดีทางกทม.อาจจะเสนอขอความร่วมมือภาคเอกชน โดยเฉพาะสถานที่จัดงานขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า และผู้บริหารอาคารสูงต่างๆ นำหอฟอกอากาศไปติดตั้งต่อไป

หอฟอกอากาศดังกล่าวมีขนาดสูง 4 เมตร กว้าง 1.5 เมตร ตัวเครื่องทำจากสแตนเลส หนักประมาณ 200 กิโลกรัม ทำงานโดยใช้หลักการดึงอากาศจากรอบตัวเครื่องเข้าสู่ระบบกรองฝุ่น 2 ขั้นตอน โดยใช้แผ่นกรองชนิด HEPA Filter ใช้กำลังไฟฟ้า 3.5 กิโลวัตต์ ก่อนจะปล่อยอากาศบริสุทธิ์ทางด้านบน โดยหอฟอกอากาศรุ่นนี้มีอัตราการฟอกอากาศไม่น้อยกว่า 17,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ตารางเมตร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง กล่าวว่า หอฟอกอากาศยังอยู่ในระยะทดสอบประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของอุปกรณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นและมลพิษในกรุงเทพฯเท่านั้น และยังไม่มีการจัดซื้อใดๆ พร้อมย้ำว่าประชาชนและทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ปัญหาฝุ่นมลพิษด้วย โดยการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้ก่อมลพิษ ลดใช้พาหนะส่วนตัวแล้วหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชน ไม่เผาขยะในที่โล่ง รวมถึงปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว

อัศวิน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นประธานในพิธีเปิดการทดสอบเดินเครื่องหอฟอกอากาศ //ขอบคุณภาพจาก: สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

“ถ้าเราช่วยกันลดฝุ่นและมลพิษจากตัวเราได้ กทม.ก็ไม่จำเป็นต้องจัดซื้ออุปกรณ์เหล่านี้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุครับ” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย สนธิ คชวัฒน์ ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า ในสภาวะอากาศไม่ปกติ มีความกดอากาศสูงกดทับชั้นบรรยากาศในกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นควันมลพิษจนถึงขีดอันตราย การติดตั้งหอฟอกอากาศเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสม เพราะจะได้ผลในการลดฝุ่น PM2.5 น้อยมาก ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณในการจัดซื้อ ติดตั้ง และบำรุงรักษาเครื่อง

“ในต่างประเทศบางแห่งจะติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่สี่แยกเพื่อบรรเทาผลกระทบเท่านั้นโดยดูดฝุ่นจากถนนบริเวณสี่แยกที่มีการจราจรติดขัดโดยตรง โดยการกรองฝุ่น PM2.5 จากการจราจรตั้งแต่ขณะที่ฝุ่นยังไม่ลอยตัวสูงขึ้น เช่น เครื่องวายุ (WAYU) ที่รัฐบาลอินเดียสั่งให้ติดตั้งบริเวณสี่แยกในกรุงนิวเดลี 70 แห่ง ซึ่งสามารถบรรเทาลดฝุ่น PM2.5 ได้เพียงประมาณร้อยละ 20 – 30 เท่านั้น” สนธิ กล่าว

“สิ่งที่ต้องทำคือจะต้องเร่งจัดการที่แหล่งกำเนิดเช่น ควันดำจากรถเครื่องยนต์ดีเซล ฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงในการเผา ห้ามการเผาในที่โล่ง เป็นต้น มากกว่าการจะติดตั้งหอฟอกอากาศในที่โล่งกลางแจ้ง”

นอกจากนี้ สนธิ ยังเปิดเผยว่า พื้นที่บริเวณริมถนนใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ทั้งสายสุขุมวิทและสายสีลม ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สะสมหนาแน่นที่สุด ไม่ว่าจะช่วงสภาวะอากาศปกติ หรือช่วงมีความกดอากาศสูงกดทับชั้นบรรยากาศ เป็นผลจากโครงสร้างสถานีบีทีเอสที่สร้างคร่อมถนน ปิดกั้นการฟุ้งกระจายในแนวดิ่งของฝุ่น PM2.5 ที่ปลดปล่อยจากยานพาหนะด้านล่าง ประกอบกับพื้นที่มีอาคารสูงขนาบทั้งสองข้าง ทำให้การฟุ้งกระจายในแนวราบของฝุ่น PM2.5 ถูกปิดกั้นเช่นกัน

พื้นที่ใต้สถานีสยามเป็นพื้นที่อับอากาศและมีการจราจรหนาแน่นตลอดวัน ทำให้มีการสะสมตัวของฝุ่น PM2.5 สูง

สนธิ อ้างอิงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทและสายสีลมที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2541 ได้มีการกำหนดให้ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ 6 ตัวใต้สถานีรถไฟฟ้าทุกแห่งเพื่อระบายฝุ่นละอองจากถนนใต้สถานีสู่อากาศข้างบน เพื่อให้คุณภาพอากาศใต้สถานีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันพบว่ายังไม่มีการติดตั้งพัดลมระบายอากาศใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีใดเลย ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขการอนุญาต ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงต้องทำการติดตั้งพัดลมระบายอากาศหรือหอฟอกอากาศใต้สถานีรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทและสายสีลมทุกแห่ง และต้องเดินเครื่องพัดลมระบายอากาศหรือฟอกอากาศตลอดเวลาทั้งในสภาวะอากาศปกติและไม่ปกติ เพราะเป็นเงื่อนไขการอนุญาตของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ทำไว้กับรัฐบาล สนธิระบุ

 

ช่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการชี้ฝุ่นพิษหลงฤดูในกรุงเทพฯ ฟ้องความล้มเหลวของภาครัฐในการรับมือปัญหามลพิษ PM2.5

กรุงเทพจมควัน PM2.5 แทนใต้ สมาคมแพทย์เตือนรัฐเร่งรับมือฝุ่นควันก่อน “เผาจริง” ปลายปี