ภาพล่าสุดเผย แนวปะการังน้ำตื้นเกาะหลีเป๊ะ ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุตา จ.สตูล เสียหายยับเยิน ผู้เชี่ยวชาญชี้ชะตากรรมเกาะหลีเป๊ะกำลังซ้ำรอยเกาะพีพี ย้ำภาครัฐ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาการท่องเที่ยวไร้การควบคุม ก่อนเกาะหลีเป๊ะจะสิ้นสเน่ห์ไปตลอดกาล
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ภาพล่าสุดของแนวปะการังน้ำตื้นเกาะหลีเป๊ะในโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ที่มีสภาพแตกหักเสียหายหนัก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การท่องเที่ยวอย่างไร้การควบคุมบนเกาะหลีเป๊ะคือสาเหตุหลักของการเสื่อมโทรมอย่างน่าใจหายของแนวปะการังที่เคยสมบูรณ์ของเกาะหลีเป๊ะ

“ผมพยายามกลั้นใจจะไม่ร้องกรี๊ดโวยวาย แต่จะพยายามอธิบายตามหลักวิชาการ ปะการังเสียหายจริงไหม ดูจากภาพคงไม่ใช่แค่เสียหาย แต่คงเป็นถึงขั้นถล่มทลาย ตายเกือบหมดสิ้น ตายเพราะอะไร ดูจากสภาพแล้ว ปะการังไม่ได้ฟอกขาว ยังอยู่ในน้ำตื้น ไม่มีรายงานพายุรุนแรงในพื้นที่ปะการังตายแบบแตกหัก เชื่อว่าเกิดจากผลกระทบจากมนุษย์ผลกระทบอะไร อาจเป็นการนำเรือเข้าออกระหว่างน้ำตื้น/น้ำลง การเดินในพื้นที่แนวปะการังเพื่อสาเหตุต่างๆ ทำให้ปะการังอยู่ในสภาพแตกหักหรือพลิกคว่ำ” ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ระบุในโพสต์
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า แม้ภาครัฐจะมีประสบการณ์ในการฟื้นฟูแนวปะการังเสื่อมโทรมจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสมทั้งที่ อ่าวมาหยา และเกาะยูง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี หรือเกาะตาชัย ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หากแต่การจัดการปัญหาความเสียหายและฟื้นฟูแนวปะการังที่เกาะหลีเป๊ะ มีความยากและซับซ้อนกว่ามาก เพราะอุทยานแห่งชาติมีอำนาจจัดการดูแลพื้นที่เฉพาะทะเลรอบเกาะเท่านั้น แต่พื้นที่เหนือน้ำบนเกาะหลีเป๊ะเกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ของเอกชน ซึ่งต่างจากพื้นที่ที่กล่าวมาที่กรมอุทยานฯมีอำนาจในการจัดการดูแลเบ็ดเสร็จ
ดังนั้น ผศ.ดร.ธรณ์ ย้ำว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชนในพื้นที่ ต้องร่วมใจกันในการแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากรบนเกาะ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาผลกระทบของการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวอย่างไร้การควบคุมที่สร้างความเสียหายชัดเจนต่อแนวปะการังและสภาพแวดล้อมของเกาะหลีเป๊ะ และฟื้นฟูความสมบูรณ์ทางธรรมชาติของเกาะคืนมา

ผศ.ดร.ธรณ์ ได้ให้ข้อเสนอ 6 ข้อในการฟื้นฟูแนวปะการังเกาะหลีเป๊ะและแก้ไขปัญหาการจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ ได้แก่
- ทุกฝ่ายยอมรับว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจริง
- ทำการสำรวจพื้นที่เสียหายให้ชัดเจน ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้น เปรียบเทียบฐานข้อมูลเดิม ฯลฯ
- ตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย เพื่อหาวิธีจัดการกับสาเหตุต่างๆ ซึ่งอาจต้องมีหลายวิธี
- ระหว่างนี้ ทำแผนแม่บทในภาพรวมของอุทยานตะรุเตา ฯลฯ เพื่อเป็นแนวทางในภาพรวม
- วางแผนการดำเนินการร่วมกัน โดยใช้ทั้งมาตรการและความร่วมมือจากหลายฝ่าย
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการ ยกระดับการดูแลรักษาพื้นที่ ฯลฯ
“ภารกิจกอบกู้หลีเป๊ะไม่ง่ายแน่นอน แต่ถ้าเราไม่เริ่มก้าวแรก ทุกอย่างจะพินาศต่อไปเรื่อยๆ สุดท้าย เกาะสวยที่สุดในทะเลใต้ จะจางหายไปจากความทรงจำ” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ธรณ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทรงธรรม สุขสว่าง กล่าวว่า การประสานงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดการการท่องเที่ยว ควบคุมผลกระทบจากการพัฒนาบนเกาะ และจัดสรรการดูแลและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ถือเป็นหัวใจหลักที่จะกอบกู้ความงดงามของทรัพยากรธรรมชาติเกาะหลีเป๊ะกลับคืนมา
“ถ้าเราจะแก้ปัญหาผลกระทบจากการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ เราจำเป็นจะต้องการกำหนด carrying capacity (ขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว) เช่นเดียวกับที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หรือ อ่าวมาหยา เพื่อที่จะคุมจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนบนเกาะไม่ให้มากจนเกินไป จนสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศ” ทรงธรรม กล่าว
“การควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว และการจัดการพัฒนา และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนบนเกาะจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเราไม่สามารถปรับความเข้าใจทุกภาคส่วนและรวมพลังให้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการได้”

ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ยังเปิดเผยอีกว่า นอกจากผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสมแล้ว ปัญหาจากการขยายกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยวอย่างไร้การควบคุมบนเกาะ โดยเฉพาะการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้แนวปะการังน้ำตื้นรอบเกาะเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เพราะการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ ก่อให้เกิดน้ำเสียปริมาณมหาศาลเกินกว่าที่ระบบบำบัดน้ำเสียบนกาะจะรองรับไหว ทำให้น้ำเสียจำนวนมากซึมลงสู่ใต้ดิน ปนเปื้อนลงสู่ทะเล ซึ่งจะทำให้ปะการังรอบเกาะหลีเป๊ะป่วยและตายในที่สุด