หลังจากเยาวชนและประชาชนชาวกรุงเทพมหานครที่มีความตระหนักถึงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความจำเป็นเร่งด่วนที่ประชาคมโลกต้องร่วมกันควบคุมสภาวะโลกร้อน ร่วมออกเดินขบวนไปพร้อมๆกับผู้คนที่มีความตระหนักแบบเดียวกันทั่วโลกในกิจกรรม Global Climate Strike ที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้บันทึกปากคำของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และทำไมพวกเขาถึงต้องออกมาแสดงพลังในครั้งนี้
นายวิศิษฐ์ โพธิ์ประสิทธิ์ อายุ 20 ปี นักศึกษาระดับชั้นปี 1 มหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย
ผมรู้เรื่องนี้จาก social media ครับ มันทำให้ผมรู้สึกเจ็บมากที่ราชการเราไม่เห็นเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างบนโลกใบนี้ตอนนี้ นั่นทำให้ผมค้นคว้ามากขึ้นว่าข้าราชการกำลังทำอะไรอยู่ และพบว่าแทนที่เขาจะพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเราให้สะอาดขึ้น หันมาใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น เขากลับพยายามเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินอีกถึง 3 แห่ง ทั้งๆที่ถ่านหินเป็นพลังงานที่ทำให้สิ่งแวดล้อมของประเทศเราและโลกสกปรกไปอีก ซ้ำยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้น น้ำแข็งละลาย ทำให้มีคนตาย เพราะว่าน้ำท่วม
ที่ผมมาสนใจเรื่องนี้เพราะประเทศไทยเรายังไม่ได้ทำอะไรจริงจังต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยจึงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ผมไม่อยากให้มีคนต้องได้รับผลกระทบแบบนี้ต่อไปในอนาคต และถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างอนาคตเราจะลำบากแน่นอน
สิ่งที่น่าละอายมากที่สุดคือราชการไทยไม่ได้ให้ความใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเลย ถ้าอย่างน้อยเขาใช้เวลาไปที่ไร่นา ไปที่ภาคเหนือ เขาจะเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่อยู่ที่นั่น แล้วถ้าเขาฟังหน่อยว่าทั่วโลก เขากำลังตระหนักเรื่องอะไรอยู่ เขาจะยิ่งเข้าใจเลยว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะว่าทั้งนักวิทยาศาสตร์ได้คำนวนไว้แล้ว และเขาก็บอกว่าส่วนมากโอกาสสูงมากที่ปี 2030 กรุงเทพฯจะจมทะเลจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
วิชุดา กมลพันธุ์ คุณแม่และคุณครูโฮมสคูลของน้องไททัน
เราเห็นว่ากิจกรรมการเดินขบวนนี้เป็นแนวทางให้ทางรัฐบาลเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสให้เราสามารถรณรงค์เพื่อให้มีการออกนโยบายที่มุ่งเน้นรักษาสิ่งแวดล้อม หรือว่าเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ทั้งประเทศ เพราะลำพังประชาชนหรือคนตัวเล็กๆคงไม่อาจทำให้รัฐบาลหรือผู้ที่มีอำนาจในประเทศนี้เล็งเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
วันนี้พาลูกอายุ 6 ขวบมาเดิน จริงๆแล้วน้องเป็นคนอยากมาเดิน เราทำ Home-school น้องไม่ได้ไปโรงเรียนน้องจึงจะเรียนรู้จากชีวิตจริง น้องไททันเดินป่าตั้งแต่ 4 ขวบ ก็เลยเห็นว่าธรรมชาติสำคัญกับตัวเขาแค่ไหน สำคัญกับโลกนี้แค่ไหน น้องเคยไปเห็นอุจจาระช้างที่มีขยะจริงๆในป่า และเขาก็ทราบแล้วว่ามันไม่ใช่อาหาร ทำไมมันออกมากับอุจจาระ มันมีผลอย่างไร ตอนหลังๆเขาได้รับข่าวสัตว์ทะเลต่างๆ ที่เสียชีวิตไปเพราะขยะ เขาก็เริ่มรู้สึกว่าเราใช้ทรัพยากรเยอะเกินไป และทรัพยากรที่เราใช้มันก็ไม่สามารถย่อนสลายได้ ถึงตอนนี้เขาไม่สามารถไปบอกใครให้ใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลง ทิ้งขยะให้เป็นที่ หรือว่าเลิกผลิตถุงพลาสติก แต่ว่าการมาในวันนี้เราเป็นแค่เสียงเล็กๆเสียงหนึ่งที่เมื่อรวมกันหลายๆเสียง เราก็สามารถส่งเสียงดังถึงรัฐบาลได้
คนรุ่นเราเราคงอยู่กันอีกไม่กี่ปี แต่เราใช้ทรัพยากรกันมาเยอะมากจนเบียดบังคนที่จะอยู่ต่อไปคือรุ่นลูกหลานที่เขาไม่ได้รับรู้อะไรด้วย เขาไม่ได้มาใช้ทรัพยากรที่ผ่านมากับเรา เขาไม่ได้ทำโลกร้อน แต่เขาต้องมาอยู่กับโลกที่เต็มไปด้วยขยะ สภาพสิ่งแวดล้อมโลกที่เสื่อมโทรมลงทุกวัน เพราะฉะนั้นเขาถึงต้องมาเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในวันนี้ที่เป็นสาเหตุในการกระทำได้กลับมารับผิดชอบ เพื่อปกป้องอนาคตของพวกเขาจากผลบาปที่คนรุ่นเขาไม่ได้ก่อ
“อยากช่วยธรรมชาติครับ ผมเคยเดินป่าและเจอสัตว์หลายตัว คือผมสงสารสัตว์ที่บางทีพวกเราก็ตัดต้นไม้ทิ้งไป บางทีเป็นบ้านของเขา ผมอยากให้ผู้ใหญ่ดูแลโลกเราให้ดี และเมื่อโตขึ้นไปผมก็อยากให้เกิดสิ่งที่เราทำดีที่สุดแล้ว” น้องไททันอายุ 6 ขวบ กล่าวเสริมคุณแม่
กิตติภูมิ กมลพันธ์ อายุ 22 ปี เยาวชน Amnesty international Thailand
ผมมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว ผมสนใจประเด็นนี้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และประสบกับปัญหาหมอกควันในช่วงที่ผ่านมากับตนเอง นับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบกับตัวผมเองและคนอื่นๆอย่างหนักที่สุด เพราะตอนเรียนหนังสือแล้วเกิดปัญหาหมอกควันที่ภาคเหนือเราเรียนหนังสือไปด้วยและต้องสูดอยู่ภายใต้บรรยากาศหมอกควันไปด้วย ทำให้ไม่สามารถไปไหนได้เลย ถ้าจะซื้อเครื่องฟอกอากาศก็ราคาสูงมากสำหรับชีวิตนักศึกษา มีวิธีเดียวคือใช้หน้ากาก วันหนึ่งที่ตกใจมากๆคือท้องฟ้าเป็นสีเทาและเราก็ตกใจเพราะชีวิตทั้งชีวิตไม่เคยเจอแบบนี้เลย ทุกคนในพื้นที่ก็ต้องทนไปไหนไม่ได้
นอกจากผมจะเคยได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาหมอกควันแล้ว ผมยังสังเกตถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผมเห็นว่าพวกเราทุกคนเป็นมนุษย์ร้านสะดวกซื้อ เราใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยไม่คิด นักศึกษาได้มาปุ๊บ! ก็ทิ้งลงถัง พอเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ผมก็เริ่มพกถุงผ้า เริ่มใช้พลาสติกให้คุ้มค่าโดยเริ่มจากตัวเราและเพื่อนก่อน สิ่งนี้ทำให้เราไปเชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น ข่าวเต่าทะเลที่ตาย หรือสัตว์อื่นๆตายด้วยขยะพลาสติก มันเชื่อมกับตัวเราชัดเจน
ผมอยากให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องการคัดแยกขยะและสภาวะโลกร้อนให้มากขึ้น เพราะมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวพวกเราเลย เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมันเกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เราต้องมีสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงน้ำสะอาด อากาศที่ปลอดภัย
ภาวะโลกร้อนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตผู้คนโดยเฉพาะอาชีพเกษตรกร เช่น ชาวนา ชาวไร่ เมื่อเขาไม่สามารถดำเนินการเกษตรได้ตามปกติ จากแค่ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เขาก็จะถูกกระทบสิทธิอื่นๆในชีวิตอีกตามมา เช่น สิทธิทางเศรษฐกิจและ สิทธิทางสังคมด้านอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เยาวชนทั่วโลกพร้อมใจเดินขบวน เรียกร้องผู้นำโลกเร่งรับมือโลกร้อน