กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยรัฐบาลพร้อมเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคอีสานเต็มที่สูงสุดบ้านละ 263,000 บาท จากทั้งเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และเงินบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้านมูลนิธิชุมชนไทจัดระดมทุนคู่ขนาน เพื่อจัดสร้างเรือให้ชาวบ้านรับมือน้ำท่วมระยะยาว
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงเมื่อวันที่ 18 กันยายน ถึงแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยจากพายุโพดุลและพายุคาจิกิในภาคอีสานว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายจังหวัดภาคอีสาน ซึ่งทำให้ประชาชนกว่า 400,000 คน ได้รับผลกระทบ รัฐบาลพร้อมเร่งเยียวยาผู้ประสบภัยที่เข้าเกณฑ์ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 อย่างเต็มที่

โดย นายชยพล ชี้แจงว่า สำหรับเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติของกระทรวงการคลัง ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมจะได้รับเงินชดเชยเยียวยาตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- ค่าซ่อมแซมกรณีบ้านถูกน้ำท่วมสียหายทั้งหลังไม่เกิน 33,000 บาท
- ค่าซ่อมแซมกรณียุ้งข้าว โรงเรือนเก็บพืชผล และคอกสัตว์เสียหาย ครอบครัวละไม่เกิน 5,000 บาท
- ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ หรือเงินทุนเลี้ยงครอบครัว ครอบครัวละไม่เกิน 11,000 บาท
- ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 25,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้เพิ่มเป็นไม่เกิน 50,000 บาท
- ค่าชดเชยกรณีพืชผลเสียหายสิ้นเชิง ไม่เกินรายละ 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท โดยผู้ขอรับเงินชดเชยต้องเป็นเกษตรกรที่ได้ลงทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้ นายชยพล ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประสบภัยยังจะได้รับเงินช่วยเหลืออีกส่วนหนึ่งจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับบริจาคจากประชาชนเพิ่มเติมอีก ได้แก่
- ค่าซ่อมแซมกรณีบ้านถูกน้ำท่วมสียหายทั้งหลังไม่เกิน 230,000 บาท หากเสียหายบางส่วนได้ไม่เกิน 15,000 – 70,000 บาท
- ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละ 50,000 บาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก เปิดเผยว่า ณ วันที่ 18 กันยายน ยอดบริจาคจากประชาชนผ่าน กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 067-0-06895-0 ได้ยอดบริจาครวมแล้วกว่า 263 ล้านบาท

นายชยพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์ล่าสุด พบว่าสถานการณ์น้ำท่วมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ในขณะนี้ยังมีพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 4 จังหวัด ได้แก่
- จ.อุบลราชธานี (ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ยังมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมในศูนย์พักพิง 19,833 คน)
- จ.ยโสธร (ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ)
- จ.ศรีสะเกษ (ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ยังมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมในศูนย์พักพิง 410 คน)
- จ.ร้อยเอ็ด (ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ ยังมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมในศูนย์พักพิง 130 คน)
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขณะนี้กำลังเร่งบรรเทาสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยประเด็นเร่งด่วนหลังจากนี้คือการเฝ้าติดตามสถานการณ์อากาศและน้ำเพื่อแจ้งความเปลี่ยนแปลงและเตือนภัยประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมไปถึงการเร่งระดมเครื่องมือและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยน้ำท่วมไปยังจ.อุบลฯที่ยังประสบภัยน้ำท่วมรุนแรง หากผู้ประสบภัยในพื้นที่ใดยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมสามารถแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ให้เข้าช่วยเหลือได้ทันที” นายชยพลกล่าว

ในขณะเดียวกัน นายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ซึ่งได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจ.อุบลราชธานีมาตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน กล่าวว่า ตนมองว่าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยด้วยเงินไม่ว่าจะช่องทางใดถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะแต่ละครอบครัวต้องการใช้เงินจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วม ทั้งการซ่อมแซมที่พักอาศัย และชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป
อย่างไรก็ดี นายไมตรี มองว่าการให้ความช่วยเหลือโดยการบริจาคเงินเป็นครั้งๆไป ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างยั่งยืน หากแต่การช่วยเหลือจำเป็นจะต้องมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติให้กับชุมชนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความรู้และทักษะในการช่วยเหลือตนเองหากเกิดภัยพิบัติขึ้นอีกในอนาคต
นายไมตรี เปิดเผยว่า สำหรับการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ จ.อุบลราชธานี ในครั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนได้ระดมทุนบริจาคเพื่อต่อเรือไฟเบอร์กลาสให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน อ.วารินชำราบ ได้ใช้เป็นพาหนะในช่วงน้ำท่วม ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 983-081996-5 โดยยอดบริจาคล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กันยายน สามารถระดมทุนได้แล้ว 210,000 บาท
“เงินจำนวนดังกล่าวจะนำมาต่อเรือไฟเบอร์กลาสจำนวน 10 ลำ ซึ่งเรือเหล่านี้มีความคงทนสามารถใช้เงินได้เป็น 10 ปี ชาวบ้านจึงสามารถใช้เรือดังกล่าวเป็นพาหนะหากเกิดเหตุน้ำท่วมในอนาคตได้” นายไมตรีกล่าว
“นอกจากนี้ แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ในตอนนี้จะเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว แต่ว่าชาวบ้านยังคงไม่วางใจเท่าใดนักว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในเดือนกันยายน เพราทะยังไม่สิ้นสุดฤดูฝนและอาจจะมีฝนตกเพิ่มเติมในพื้นที่อีก ดังนั้นชาวบ้านจึงยังต้องการเรือเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงน้ำท่วม”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บ่อบำบัดน้ำเสียเมืองอุบลฯจมน้ำ หวั่นน้ำเสียปนน้ำท่วมกระทบคนและสิ่งแวดล้อม
นักวิชาการจวกรัฐบริหารน้ำผิดพลาด ทำเมืองอุบลฯน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 17 ปี
พ่อเมืองอุบลฯสั่งเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำมูลลงโขง ย้ำ 2 สัปดาห์น้ำลด
พิษพายุส่งน้ำโขงล้นตลิ่งท่วมลาวไทย ผู้ประสบภัยเขื่อนแตกอัตตะปือหนีขึ้นที่สูง
พายุดีเปรสชันลูกใหม่จ่อซ้ำรอยโพดุล อีสานยังอ่วมฝน เสี่ยงท่วมซ้ำ