นักวิชาการด้านการจัดการน้ำ ม.เกษตรฯ ชี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขาดการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม – เตือนภัยประชาชน ในฤดูฝน สนใจเฉพาะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซ้ำยังปล่อยเกียร์ว่างการบริหารจัดการน้ำช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเมื่อวันที่ 15 กันยายน ถึงสถานการณ์น้ำท่วมครั้งประวัติการณ์ในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอื่นๆในภาคอีสานว่า ภัยพิบัติดังกล่าวจะไม่สร้างความเสียหายรุนแรงอย่างที่เห็น ณ ขณะนี้ หาก สทนช. มีการเตรียมความร้อมรับมืออุทกภัยล่วงหน้า

“จะเห็นได้ว่าเหตุน้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี ขณะนี้เป็นปัญหามาจากการจัดการเชิงพื้นที่ที่สามารถป้องกัน และรับมือเตรียมพร้อมได้ เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม จากการที่พื้นที่นี้เป็นจุดรับน้ำของทั้งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี และมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ เมื่อมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากจากพายุ ประกอบกับแม่น้ำโขงมีระดับน้ำสูง จึงไม่แปลกที่เมืองอุบลจะเกิดน้ำท่วมรุนแรง” ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว
“แม้ว่าภาคอีสานจะประสบปัญหาภัยแล้งในตอนต้นฤดูฝน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วม หากแต่ก่อนหน้านี้ที่ประชุมสทนช. ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ยังพูดถึงกันแค่ปัญหาภัยแล้งอยู่เลย ทั้งๆที่เราอยู่ในฤดูฝนที่ควรจะต้องมีการเตรียมพร้อมในการเฝ้าระวัง เตือนภัย และรับมือกับอุทกภัยไว้ด้วย”
ผศ.ดร.สิตางศุ์ เผยว่า หน่วยงานด้านการจัดการน้ำโดยเฉพาะ สทนช. ซึ่งแท้จริงแล้วมีความพร้อมและความสามารถในการรับมือและแก้ไขวิกฤตน้ำสูง จากประสบการณ์ในการรับมือปัญหาการจัดการน้ำในช่วงปีที่ผ่านมา แต่กลับกลายเป็นว่าในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานครั้งนี้ สทนช. กลับไม่มีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงานเท่าที่ควร
โดย ผศ.ดร.สิตางศุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และหน้าที่ในการคุมบังเหียนการจัดการน้ำของประเทศเปลี่ยนมือไปจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ก็พบว่าความกระตือรือร้นในการทำงานของ สทนช. ลดลงไปเหลือแค่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการลงทุนงบประมาณในโครงการชลประทานขนาดใหญ่เท่านั้น หากแต่ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น โดยจะเห็นได้จากการรับมืออุทกภัยที่จ.อุบลราชธานีในครั้งนี้ที่แทบจะไม่มีการเฝ้าระวังระดับน้ำ แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบจากภัยน้ำท่วมเลย

นอกจากนี้ ผศ.ดร.สิตางศุ์ ยังเตือนว่าแม้ว่าภาคอีสานตอนล่างจะประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรง แต่น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ในจ.ขอนแก่น ยังคงมีปริมาณน้อยมาก อาจจะกล่าวได้ว่าขณะนี้เรากำลังประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมไปพร้อมๆกัน ดังนั้นหน่วนงานรัฐที่มีหน้าที่จัดการบริหารจะต้องเตรียมพร้อมและบริหารน้ำอย่างระมัดระวังเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดต่อประชาชน
ด้าน ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า อุทกภัยครั้งใหญ่ในจ.อุบลราชธานีครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากแผนการจัดการน้ำที่ไม่เหมาะสม เน้นการลงทุนในโครงการชลประทานขนาดใหญ่ แต่ไม่คำนึงถึงผลกระทบในเชิงระบบนิเวศและธรรมชาติของลุ่มน้ำ สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของนักจัดการน้ำที่มีปัญหา
“ต้นเหตุหลักของภัยน้ำท่วมในครั้งนี้เกิดจาก เขื่อนทดน้ำ 5 ตัว บนแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ได้แก่ เขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนปากมูล ที่นอกจากจะไม่ช่วยเรื่องการป้องกันน้ำท่วมแล้ว กว่าเขื่อนเหล่านี้จะเปิดประตูทุกบานเพื่อระบายน้ำ สถานการณ์น้ำท่วมก็รุนแรงแล้ว” ดร.ไชยณรงค์ กล่าว
“นอกจากนี้ เรายังทำให้ธรรมชาติของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไปโดยการสร้างคันกั้นน้ำท่วมตลอดลำน้ำมูลและลำน้ำชี โดยเชื่อว่าจะช่วยผลักให้น้ำระบายได้ไวขึ้น แต่แท้จริงแล้วมันทำให้น้ำไม่สามารถเอ่อไหลท่วมป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นแก้มลิงช่วยหน่วงน้ำ ดังนั้นเราจึงเห็นว่าจ.อุบลราชธานีซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายน้ำ และเป็นช่วงคอขวดของลำน้ำมูลก่อนไหลลงแม่น้ำโขงเกิดอุทกภัยรุนแรงในปีนี้”

ดร.ไชยณรงค์ ยังแสดงความเห็นสอดคล้องกับ ผศ.ดร.สิตางศุ์ ว่า ภาครัฐสอบตกในการรับมือภัยพิบัติ การแจ้งเตือนภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังจะเห็นได้ว่าทางการไม่มีแผนรับมือน้ำท่วมล่วงหน้า ไม่มีการแจ้งเตือนประชาชน และขาดการประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเป็นระบบ ทำให้เราเห็นภาพว่า ภาคเอกชนกลับทำหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัยได้ดีกว่าภาครัฐมาก
สำหรับทางออกของปัญหานี้ ดร.ไชยณรงค์ เสนอว่า ในระยะสั้นภาครัฐควรเร่งจัดทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ ส่วนระยะต่อมา ควรมีการแก้ไขผังเมืองไม่ให้ขยายตัวอย่างไร้ระเบียบ จนขวางทางน้ำ อันเป็นเหตุให้ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงขึ้น และในระยะยาว ภาครัฐต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการบริหารจัดการน้ำเสียใหม่ โดยให้คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องมีการปลดระวางเขื่อนในลุ่มน้ำชี – มูล ฟื้นฟูสภาพระบบนิเวศแม่น้ำให้กลับมามีชีวิต เพื่อให้ธรรมชาติช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัย น้ำท่วม – น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อเมืองอุบลฯสั่งเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำมูลลงโขง ย้ำ 2 สัปดาห์น้ำลด
พิษพายุส่งน้ำโขงล้นตลิ่งท่วมลาวไทย ผู้ประสบภัยเขื่อนแตกอัตตะปือหนีขึ้นที่สูง
พายุดีเปรสชันลูกใหม่จ่อซ้ำรอยโพดุล อีสานยังอ่วมฝน เสี่ยงท่วมซ้ำ
Be ready for the next deluge: Ten challenges for flood risk management in Isaan