ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังกลายเป็นแนวหน้าสมรภูมิโลกร้อน นักวิชาการนานาชาติกล่าวย้ำให้ทุกประเทศขยับเป้าหมายลดโลกร้อนตามภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement) ก่อนกรุงเทพฯจะจมทะเล
นาย Ovais Sarmad รองเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) กล่าวในที่ประชุม Asia Pacific Climate Week เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ที่ผ่านมาว่าแม้ว่าประชาคมโลกกำลังเร่งดำเนินนโยบายตามกรอบเป้าหมายการควบคุมก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มแข็ง แต่จากการคาดการณ์ของ UNFCCC พบว่า แม้ทุกประเทศจะสามารถดำเนินการตามกรอบเป้าหมายลดโลกร้อนในปัจจุบันของตนได้ แต่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะยังพุ่งไปถึง 3 องศาเซลเซียส สูงเกินกว่าที่ระบบนิเวศของโลกจะรับไหว

ดังนั้นนาย Ovais จึงย้ำว่าประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันลดโลกร้อนให้เร็วที่สุด เพราะจากการประมาณการณ์ของ UNFCCC เมื่อปลายปีที่แล้วพบว่า เรามีเวลาในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาเสถียรภาพของภูมิอากาศโลกเพียงราว 12 ปีเท่านั้น ก่อนที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะทะยานเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
“เพราะฉะนั้น เราจะต้องดำเนินการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจโลกที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นระบบเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทัน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้” นาย Ovais กล่าวเน้น
จากการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) พบว่าหากอุณหภูมิของโลกพุ่งสูงเกินจุดแตกหัก (tipping point) ที่ 3 องศาเซลเซียส โลกจะเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบกู่ไม่กลับ (runaway climate change) ที่อุณหภูมิของโลกจะยิ่งทะยานขึ้นโดยธรรมชาติ โดยแทบไม่มีทางที่มนุษย์จะกลับไปแก้ไขได้อีก
“เราไม่มีเวลาจะลังเลอีกแล้ว เพราะเราเหลือเวลาน้อยมาก ในการปกป้องอนาคตของลูกหลานจากภัยสภาวะโลกร้อน” นาย Ovais กล่าว

นาย Dirk Forrister ประธานองค์กร International Emissions Trading Association (IETA) ยังบอกว่าภัยพิบัติโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวในอนาคตอีกต่อไป เพราะจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพบว่า 5 ปีที่ผ่านมานี้เป็นช่วงเวลาที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยประสบในประวัติศาสตร์มนุษย์ นอกจากนี้เรายังพบว่าตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว โลกก็เผชิญกับพิบัติภัยทางธรรมชาติที่รุนแรงและมีความถี่มากขึ้น
นาย Dirk ยังเน้นอีกว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคถือเป็นแนวหน้าของสมรภูมิโลกร้อน เพราะที่นี่จะเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหนักหนาที่สุดแห่งหนึ่ง
“นอกจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะเป็นจุดเสี่ยงภัยพิบัติโลกร้อนที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแล้ว ที่นี่ยังถือเป็นแนวหน้าในสมรภูมิการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน” นาย Dirk กล่าว
“อัตราการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะเชื้อเพลิงถ่านหินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความเร่งด่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งของรัฐบาลในภูมิภาคนี้ในการดำเนินการลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด”
การจัดประชุม Asia-Pacific Climate Week ที่สำนักงานส่วนภูมิภาคขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ กรุงเทพฯ จะดำเนินไปจนถึงวันพรุ่งนี้ (6 กันยายน 2562) โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมโหมโรงให้กับการประชุม COP 25 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศชิลีในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง