แม้ไต้หวันจะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ของโลก แต่หนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อภาคการผลิตอย่าง “พลังงานไฟฟ้า” กลับมีความเปราะบาง เพราะที่ผ่านมาทรัพยากรที่ถูกนำมาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในไต้หวันกว่า 98% ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนหลักมาจากการนำเข้าน้ำมัน ตามมาด้วยถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานนิวเคลียร์
หนึ่งในทางออกสำคัญที่รัฐบาลไต้หวันมุ่งมั่น คือการผลักดันนโยบายพลังงานสีเขียว (Green Policy) ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาพัฒนา โดยจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 20% จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 5% พร้อมทั้งนโยบายที่จะทำให้ไต้หวันปลอดจากพลังงานนิวเคลียร์ ภายในปี 2025
ไม่เพียงเพื่อการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน แต่รัฐบาลยังตั้งเป้าเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีกฎหมาย Greenhouse Gas Reduction and Management Act หรือ GHG Act ที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงภายในปี 2025, 2030 และ 2050 ให้ได้ 10%, 20% และ 50% ตามลำดับ นับจากฐานปี 2005
ที่ผ่านมารัฐบาลไต้หวันผลักดันแผนส่งเสริมการใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ระยะ 2 ปี ซึ่งได้บรรลุเป้าหมายด้วยตัวเลขพลังงานไฟฟ้าที่สร้างได้แล้วมากถึง 1.52 กิกะวัตต์ (GW) และมุ่งหน้าต่อสู่การผลักดันพลังงานลม โดยวางแผนส่งเสริมระยะ 4 ปี ที่มีเป้าหมายเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมให้ได้ 5.5 GW ภายในปี 2025 ซึ่งชายฝั่งภาคตะวันตกของประเทศมีศักยภาพสูงสำหรับภารกิจนี้
จากมาตรการภายในประเทศหลากหลายส่วน ต่างผลักดันให้ผู้ประกอบการเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ล่าสุดคือกฎหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน 2019 หรือ The Renewable Energy Development Act (REDA) ได้กำหนดให้ผู้บริโภคที่ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 800 กิโลวัตต์ (kWp) ขึ้นไป จะต้องติดตั้งหรือซื้อไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 10%

เฉพาะข้อกำหนดดังกล่าว มีการประเมินว่าจะสร้างความต้องการพลังงานหมุนเวียนที่สูงราว 16 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (TWh) หรือเทียบเท่ากับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์รวม 12 GW อย่างไรก็ตามหากเทียบกับความต้องการพลังงานไฟฟ้าในภาพรวมกว่า 40 GW ต่อวัน ประกอบกับเสถียรภาพของพลังงานหมุนเวียน บริษัทการไฟฟ้าไต้หวัน หรือ Taipower Company (TPC) ได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System (ESS) ขนาด 590 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้น
หนึ่งในผู้เล็งเห็นโอกาส คือบริษัท MOBILETRON ที่มีผลงานการผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูงใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าชื่อดังอย่าง Nissan Leaf โดยปัจจุบันบริษัทมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนขนาด 48V ทดแทนแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด และนำไปใช้ในกับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งรถเมล์ เรือ หรือรถบรรทุก โดยบริษัทมีการพัฒนาและวิจัยรถเมล์ไฟฟ้าเป็นเจ้าเดียวในไต้หวันที่ผ่านเกณฑ์การประเมินรับการสนับสนุนจากรัฐบาลทุกข้อ ซึ่งปัจจุบันให้บริการมากกว่า 100 คันทั่วประเทศ
ในส่วนของแบตเตอรี่เพื่อใช้งานเป็น ESS ในอาคาร ที่นี่มีการออกแบบตู้ควบคุมแบตเตอรี่ไว้ตั้งแต่ขนาดเท่าตู้เสื้อผ้า ความจุ 23.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) เพื่อใช้ในครัวเรือน ไปจนถึงขนาดตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีความจุมากถึง 2.23 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) สำหรับการใช้ในอาคารขนาดใหญ่ไปจนถึงสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทนี้มองส่วนแบ่งการตลาด ESS ไว้ประมาณ 10%
อีกหนึ่งบริษัทที่ลุยตลาด ESS คือ Formosa Battery บริษัทที่แตกแขนงจาก Formosa Plastics Group หรือ FPG หนึ่งในกลุ่มธุรกิจเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน ที่ก้าวเข้ามาคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่นับแต่ปี 2012 จนภายหลังได้ออกมาเป็นเทคโนโลยี Formosa LFPO Smart Power แบตเตอรี่ที่มีความเสถียรและช่วยยืดอายุของอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งถูกนำมาใช้ในระบบ ESS ของบ้านเรือนด้วยเช่นกัน
ไม่เพียงในส่วนของแบตเตอรี่เท่านั้น แต่ FPG ยังมุ่งหาทางออกด้านพลังงาน ด้วยระบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีบริษัทลูกอย่าง NAN YA PHOTONICS ที่ให้บริการออกแบบระบบไฟ LED ตั้งแต่การออกแบบผังไฟ การติดตั้ง ไปจนถึงบริการหลังการขาย ซึ่งผลงานการเปลี่ยนระบบไฟ LED ที่ผ่านมาพบว่าช่วยลดการใช้พลังงานได้มากถึง 75%

สำหรับเทคโนโลยีด้านโซลาร์เซลล์ หลายบริษัทของไต้หวันก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น SinoGreenergy บริษัทชั้นนำด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของไต้หวัน ที่สามารถเข้าประมูลโครงการของรัฐบาลไปแล้วกว่า 300 MW ภายใน 2 ปี ได้มีการริเริ่มนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการพยากรณ์การใช้พลังงานและตรวจหาความผิดพลาด พร้อมทั้งความสามารถในการเรียนรู้เพื่อปรับระบบ ซึ่งพบว่าสามารถช่วยเพิ่มการผลิตไฟฟ้าได้ราว 1.8% ~ 4.9%
ขณะที่ United Renewable Energy หรือ URE บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกิดจากการรวมตัวของ 4 บริษัทด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2018 ซึ่งมีโครงการและยอดขายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วโลกรวมกว่า 569 MW และอีก 900MW ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเป็นบริษัทที่ได้รับรางวัล Taiwan Excellent PV Award ติดต่อกัน 6 ปีซ้อน จากการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์
ในเดือนมีนาคม 2019 บริษัทแห่งนี้ได้มีการเปิดตัวแผงโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่ PEACH 400 W series ที่สามารถให้พลังงานขั้นต่ำ 400 วัตต์ต่อแผง กลายเป็นผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูงอันดับหนึ่งของบริษัท เหมาะกับการใช้ในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนอุปกรณ์ในระบบและเพิ่มผลผลิต ในขณะเดียวกันยังลดอัตราการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ด้วย
เช่นเดียวกับ Taiwan Solar Energy Corporation หรือ TSEC บริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และรับเหมาวิศวกรรมและระบบไฟฟ้า (EPC) ที่มีการออกแบบนวัตกรรมแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้งานอย่างหลากหลาย ทั้งแบบที่ใช้บนหลังคา ในชื่อ Aegis R-type แบบที่ใช้บนผืนน้ำในชื่อ Aegis W-type และแบบที่ใช้กับน้ำทะเลในชื่อ Aegis M-type
เนื่องจากไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง TSEC จึงคิดค้นและออกแบบระบบการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อต้านทานลม โดยสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ Industrial Technology Research Institute (ITRI) ได้นำกลไกการติดตั้งนี้เป็นมาตรฐานการออกแบบให้โครงการของภาครัฐทั้งหมด
ด้าน Power Master Group อีกหนึ่งบริษัท EPC ขนาดใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์รวมแล้วกว่า 336 MW โดยเป็นแบบโซลาร์รูฟท็อป 280MW แบบติดตั้งบนพื้นดิน 5 MW แต่ส่วนที่น่าสนใจคืออีก 51 MW ที่เหลือ มีการติดตั้งในรูปแบบโซลาร์ฟาร์มเกษตร หรือ Agrivoltaic Farms ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 140 แห่ง
โซลาร์ฟาร์มเกษตรนี้ คือแนวทางการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผนวกเข้ากับพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร ซึ่งสามารถออกแบบการติดตั้งเพื่อกำหนดอัตราการลอดผ่านของแสงที่แตกต่างกัน ตามความต้องการของพืชที่จะทำการเพาะปลูกแต่ละชนิด โดยอาจปรับให้แสงลอดผ่านได้เพียง 0-10% เพื่อใช้ในการเพาะเห็ดต่างๆ ไปจนถึงในระดับมากกว่า 50% เพื่อใช้ในการปลูกพืชเกษตรชนิดต่างๆ
สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จากแปลงเหล่านี้ บริษัทยังทำการส่งขายสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ SOLGREEN มีจุดขายเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษและดีต่อสุขภาพ ที่เกิดขึ้นภายในแปลงเกษตรประหยัดพลังงานและคาร์บอนต่ำ
ภาพของกิจกรรมความก้าวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งที่จะปรากฏในงาน Energy Taiwan 2019 ที่สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน (TAITRA) และ SEMI เตรียมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2019 เพื่อจัดแสดงนิทรรศการซึ่งผนวกพลังงาน 4 สาขาหลักที่น่าสนใจ ได้แก่ แสงอาทิตย์ ลม ไฮโดรเจน และระบบกักเก็บพลังงาน โดยคาดหวังว่าโฉมหน้าของพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ จะสร้างโอกาสทางธุรกิจมากมาย ผ่านนิทรรศการและเวทีเสวนาที่เชื่อว่าจะดึงดูดคนในแวดวงเข้าร่วมกว่า 10,000 รายทั้งในและต่างประเทศ