ศาลรับพิจารณา ‘คน 8 จว.ลุ่มน้ำโขง’ ยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว กฟผ. ซื้อไฟฟ้า ‘ไซยะบุรี’

ศาลปกครองสูงสุดรับพิจารณา เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราว (คำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว) ให้ กฟผ.ระงับหรือชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีจนกว่าจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบ ปฏิบัติตามกฎหมาย ฯลฯ

เขื่อนไซยะบุรี

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ณ ศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี และนายชาญณรงค์ วงศ์ลา ผู้ฟ้องคดี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยขอให้ดำเนินการระงับหรือชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามทำสัญญาซื้อไฟฟ้ากับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ คดีนี้เกิดขึ้นภายหลังวิกฤติน้ำในแม่น้ำโขงแห้งกะทันหันในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะพื้นที่พรมแดนไทย-ลาวท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี ทำให้ประชาชนที่อาศัยในชุมชนริมแม่น้ำโขง จังหวัดเลย หนองคาย และจังหวัดอื่นๆ ได้รับผลกระทบ

ผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดออกมาดังนี้

ข้อแรก ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ขอให้เรียกผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง มาไต่สวนภายในหนึ่งถึงสองวันนี้ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน

ข้อสอง ศาลปกครองสูงสุดรับพิจารณา คำขอคุ้มครองชั่วคราว (คำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว) ตามที่ผู้ฟ้องขอให้ กฟผ.ระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี จนกว่าจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบ ปฏิบัติตามกฎหมาย ฯลฯ

นางสาวเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความ ระบุว่าเมื่อเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จ ได้มีการชี้แจงว่าในแต่ละวันเขื่อนจะปล่อยน้ำไหลผ่านเท่ากับน้ำไหลเข้าโดยไม่มีการกักเก็บน้ำ การไหลของน้ำในแม่น้ำโขงจึงน่าจะเป็นปรกติ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม คือพบว่าระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลงอย่างกระทันทัน ส่งผลกระทบต่อปลา สัตว์น้ำ ระบบนิเวศ รวมทั้งระบบประปาของจังหวัดที่ต้องอาศัยการสูบน้ำโดยตรงจากแม่น้ำโขง เมื่อมีการทดลองผลิตไฟฟ้าก็เกิดเหตุการณ์ปลาและสัตว์น้ำแห้งตายตามแก่ง แพสูบน้ำประปาค้างริมตลิ่ง เรือค้างตามหาด

ในคำร้องระบุว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างเฉียบพลันเป็นผลจากการกักเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี อันเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่1 (กฟผ.) เริ่มรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรีมาตั้งแต่เดือนเมษายน ทั้งๆ ที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยมีปริมาณมาก จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อส่งเสริมสาธารณูปโภคของประเทศอันเป็นประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งรับซื้อไฟฟ้าล่วงหน้าทั้งๆ ที่สัญญากำหนดให้รับซื้อในเดือนตุลาคม ยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขง จึงย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ หากเขื่อนไซยะบุรีดำเนินการเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมจะก่อให้เกิดความผันผวนและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อผู้ฟ้องคดี และต่อประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

ทั้งนี้ นายชาญณรงค์ วงศ์ลา ประชาชนจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรีที่ศาลปกครองมีมาตั้งแต่ปี 2555 โดยครั้งนั้นผู้ฟ้องคดีรวมกันประมาณ 37 ราย พร้อมกับอีก 1,000 รายชื่อที่สนับสนุน ในนามเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ร่วมกับศูนย์ข้อมูลชุมชนยื่นฟ้องคดีต่อหน่วยงานรัฐ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องคดีดังกล่าวในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเผยแพร่ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็น การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี