นโยบายอุตสาหกรรม ‘ไต้หวัน’ กับการผลักดัน ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’

ประเทศทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ไต้หวัน เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของชาติเอเชียที่มีการปรับตัวการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับกระแสอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไต้หวันได้ตั้งเป้าหมายยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2025 และผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมด

นอกจากนี้จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50% จากปี 2005 ภายในปี 2050 ด้วยการประกาศใช้นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม 5+2 (5+2 Industrial Innovation Plan) ซึ่งได้แก่ 1. อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลอัจฉริยะ (Smart Machinery) 2. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Internet of Things (IoT) คือการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบที่สามารถเชื่อมโยงหรือเข้าถึงข้อมูลได้ ด้วยการสั่งการควบคุมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ระบบอุปกรณ์ประเภท Smart Light, Smart City เป็นต้น (Asia Silicon Valley)

3. พลังงานหมุนเวียน (Green Energy) 4. เทคโนโลยีชีวภาพและด้านการแพทย์ (Biotech & Pharmaceutical) 5. อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ (National Defense) 6. ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 7. รูปแบบธุรกิจเกษตรแบบใหม่ New Agriculture รวมไปถึงนโยบายสีเขียว (Green Policy) ซึ่งมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาพัฒนาเพื่อสนับสนุนให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ผลอย่างยั่งยืน

รัฐบาลไต้หวันได้ให้ความรู้และสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มีการออกแบบกระบวนการผลิตใหม่เพื่อให้วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ไม่ได้จบลงแค่มือผู้บริโภค แต่ครอบคลุมไปถึงการรีไซเคิล หรือกำจัดให้ถูกวิธี รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่นำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและไม่กระทบกับระบบนิเวศ

ตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ O’right บริษัทเครื่องสำอางไต้หวัน ที่นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาบริหารจัดการจนได้รับรางวัล และการรับรองทั้งในระดับประเทศและระดับโลกมากมาย อาทิ PAS 2060 Carbon Neutrality Product Certification ที่รับรองความเป็นกลางในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่อาคาร, การขนส่ง, การผลิต และการจัดกิจกรรมการรับรองผลิตภัณฑ์

สำนักงานใหญ่ของ O’right ที่ตั้งอยู่ที่เมืองเถาหยวน ได้รับรองมาตรฐานอาคารสีเขียว EEWH Green Building Gold Certificate ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในหมู่อาคารสีเขียวขนาดเดียวกัน จากการออกแบบและวางระบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ภายในอาคารมีการติดตั้งและกักเก็บพลังงหมุนเวียน อย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมาใช้ในอาคารทั้งภาคส่วนการผลิตและในออฟฟิศ มีการนำระบบหมุนเวียนอากาศจากภายนอกเข้ามาใช้เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคาร

สำหรับ ผลิตภัณฑ์แชมพูออร์แกนิค Tree in the Bottle ของ O’right ได้รับการออกแบบด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิต ตลอดจนการย่อยสลายของขวดบรรจุภัณฑ์

ขวดแชมพูออร์แกนิค Tree in the Bottle ผลิตขึ้นจากพลาสติกชีวภาพ ชนิด PLA ที่ทำมาจากมันสำปะหลังและพืชชนิดต่างๆ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ 100% ภายใน 1 ปี ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่แชมพูและขวดบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ แต่ยังตอบแทนธรรมชาติกลับด้วยแนวคิดการฝังเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองไว้ที่ก้นขวด เมื่อใช้แชมพูหมดให้นำเมล็ดพันธุ์ที่ก้นขวดไปปลูกในดิน พร้อมกับทำการฝังกลบขวดแชมพูเพื่อให้ย่อยสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติ

เมล็ดพันธุ์พืชที่บรรจุใต้ขวดนั้น คือ Taiwanese Acacia ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับกระถิน มีคุณลักษณะปลูกง่ายโตเร็ว และเป็นพันธุ์พืชชนิดหนึ่งที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี

นอกจากวางขายในประเทศไต้หวันแล้ว O’right ยังส่งออกแชมพู Tree in the bottle ไปยังประเทศในทวีปยุโรป และอเมริกาอีกหลายแห่ง ซึ่งได้เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พืชเป็นเมล็ดแอปเปิ้ลแทน เพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศของพื้นที่นั้นๆ

สืบเนื่องจากผลตอบรับที่ดีจากการจัดงาน 2018 Circular Economy Taiwan ในปีที่แล้วควบคู่ไปกับงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมด้านพลัง Green Energy ในปีนี้ Taiwan External Trade Development Council (TAITRA) ได้วางแผนจัดงานขึ้นอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2562 ที่ Taipei World Trade Center

นอกจากเน้นภาคพลังงานหมุนเวียนแล้ว ปีนี้ยังมียานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิลขยะ แฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มบริษัทที่ใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และนวัตกรรมในงานกันอย่างคับคั่ง

อีกทั้งมีการจัดเสวนาในหลายหัวข้อ โดยเชิญตัวแทนจากหลายประเทศที่มีการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันอีกด้วย